เปิด 4 ประเด็น คมนาคม ค้าน กทม. ต่อสัญญาสัมปทาน 30 ปี ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น เห็นชอบด้วยถึง 3 ครั้ง
ยังไม่อาจคาดเดาได้ว่า “ศึกรถไฟฟ้าสายสีเขียว” ระหว่าง กรุงเทพมหานคร กับ กระทรวงการคมนาคม จะลงเอยอย่างไร ?
สุดท้ายแล้ว อัตราราคาค่าตั๋วจะแพงระห่ำ หรือต่ำกว่า 65 บาท หลังจากที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เซ็นประกาศค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว อัตราใหม่ สูงสุด 104 บาท มีผลบังคับใช้ 16 กุมภาพันธ์นี้
ทำให้หลายฝ่ายอดสงสัยไม่ได้ว่า ที่มาของอัตราค่าโดยสารดังกล่าว สืบเนื่องมาจากปมการขยายสัมปทาน 30 ปี จากปี 2572 – 2602 หรือไม่ ?
ที่ติดขัดถูกกระทรวงการคมนาคมสะกัด การต่อสัมปทานจึงต้องหยุดชะงัด ส่งผลให้ค่าโดยสารอัตราสูงสุดที่ระบุในสัญญา จาก 65 บาท พุ่งพรวดเป็น 104 บาท !
สปริงสรุปให้เข้าใจง่ายๆ 4 ประเด็นที่กระทรวงการคมนาคม ทักท้วง กทม. ในการต่อสัญญาสัมปทาน 30 ปี มีอะไรบ้าง ?
แม้การดำเนินการในการต่อสัญญาสัมปทานฯ ของคณะกรรมการ จะเป็นตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยให้ถือว่าเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 แล้ว
แต่การดำเนินการดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังการเจรจา โดยไม่มีการเสนอความเห็นว่า การต่อสัญญาสัมปทานควรประกวดราคา หรือควรเจรจาต่อรองกับเอกชนรายเดิม ฯลฯ
กระทรวงการคมนาคมจึงเสนอว่า ในขั้นตอนเจรจาควรดำเนินการให้ครบถ้วนตามหลักการ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ก่อน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐ และความเป็นธรรมกับประชาชน เป็นสำคัญ
กระทรวงการคมนาคมเห็นว่า อัตราค่าโดยสาร 65 บาท ยังสูงเกินไป เมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (กระทรวงคมนาคม เป็นเจ้าของโครงการ) ซึ่งถ้าเดินทางไป-กลับ ประชาชนต้องเสียค่าโดยสาร 130 บาท คิดเป็น 35 % ของค่าแรงขั้นต่ำ
โดยได้เทียบเคียงว่า รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มีผู้โดยสารประมาณ 3 แสนคนต่อวัน อัตราค่าโดยสารไม่เกิน 42 บาท ยังสามารถดำเนินกิจการได้
แล้วทำไมรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่เปิดให้บริการมาแล้วกว่า 21 ปี ผ่านจุดคุ้มทุนมาแล้ว มีผู้โดยสาร 8 แสน - 1 ล้านคนต่อวัน (ก่อนวิกฤติการโควิด-19) จะเก็บค่าโดยสารต่ำกว่า 65 บาท ไม่ได้
ตามสัญญาสัมปทานเดิมนั้น หลังจากครบกำหนดในปี 2572 ทรัพย์สินรวมระยะโครงข่ายเส้นทางทั้งหมด 68.25 กม. จะตกเป็นของรัฐ และหากให้เอกชนเข้ามาลงทุนเพิ่มเติม คำนวณแล้วก็เป็นสัดส่วนน้อยกว่าการลงทุนโครงการใหม่
ดังนั้น การขยายสัมปทาน กับไม่ขยายสัมปทาน ทางคณะกรรมการต้องมีพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า แนวทางใดที่รัฐจะได้ผลประโยชน์สูงสุดมากกว่ากัน
จากการที่ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริง กรณี กทม.ได้ทำสัญญาจ้างเอกชนเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ไปจนถึงปี 2585 กระทรวงคมนาคมเห็นว่า ควรรอผลการไต่สวนก่อน เพราะหากมีการต่อสัมปทาน โดยที่กระบวนการไต่สวนยังไม่สิ้นสุด อาจเกิดผลกระทบย้อนหลังได้
แต่เมื่อตรวจสอบเอกสารย้อนหลังก็พบว่า กระทรวงคมนาคม ได้มีหนังสือเห็นชอบกับการขยายสัมปทานรถไฟฟ้า ก่อนหน้านี้มาแล้ว ถึง 3 ครั้ง
ครั้งที่ 1 วันที่ 24 ตุลาคม 2562
ครั้งที่ 2 วันที่ 30 มีนาคม 2563 ยืนยันว่าเห็นชอบ
ครั้งที่ 3 วันที่ 9 มิถุนายน 2563 ยืนยันว่าเห็นชอบ
กระทั่งต่อมา วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 กระทรวงการคมนาคม ก็ได้ออกหนังสือทักท้วงการขยายสัมปทานรถไฟฟ้า จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของศึกรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ร้อนระอุ และไม่รู้ว่าบทสรุปจะเป็นเช่นใด