วงสัมนาคนหนุ่มสาวกับการเมืองใหม่ ไอติม พริษฐ์ ระบุ ปฏิรูปการเมืองหนักกว่าเก่า ได้ ส.ว.มีอำนาจสูงสุดในโลก
งานสัมมนา 70 ปี รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ในหัวข้อคนหนุ่มสาวกับการสร้างการเมืองแบบใหม่ในสังคมไทย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตลอด 10-15 ปีที่เราเรียกร้องการปฏิรูปการเมือง เพราะเรากังวลเรื่องการซื้อเสียง ดูดส.ส. กำหนดกติกาไม่เป็นกลาง แทรกแซงองค์กรอิสระ แทรกแซงสื่อ ใช้อำนาจรัฐสร้างความได้เปรียบทางการเมือง เหล่านี้คือเหตุผลที่ตนลาออกจากปชป. ที่เลือกสนับสนุนพรรคที่ตั้งเป้าปฏิรูปการเมืองแต่ไม่ทำอะไรเลย แล้วทำในสิ่งที่เขาบอกว่าจะต่อสู้ น่าเสียดายที่การปฏิรูปการเมืองไม่เปลี่ยนแปลงอะไรไปจากเดิม คนที่จะร่วมคณะรัฐมนตรี ก็ที่เคยอยู่ใน (ครม.) ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยต่อสู้และต่อต้าน อีกทั้งการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อที่สร้างความได้เปรียบให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งหนักกว่า 15 ปีที่ผ่านมา ตนไม่มีปัญหากับการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แต่อำนาจที่ส.ว.มีกับที่มาซึ่งอ้างอิงกับประชาชนต้องสัมพันธ์กัน ในบางประเทศยอมให้มีการแต่งตั้ง ส.ว. หรือบางประเทศสืบทอดจากพ่อสู่ลูกแต่ประเทศเหล่านั้น ส.ว.มีอำนาจน้อย อย่างมากก็แค่ยับยั้งกฎหมายที่ไม่เห็นด้วย 1 ปี ขณะที่สหรัฐอเมริกา ส.ว.มีอำนาจถอดถอนประธานาธิบดี ส.ว.จึงต้องเชื่อมโยงกับประชาชน ตนยอมรับว่าประชาธิปไตยไม่ใช่ต้องเลือกตั้งเท่านั้น แต่ ส.ว.ไทยมีอำนาจสูงที่สุดในโลก เพราะมีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ แต่แต่งตั้งโดยกรรมการที่ผันตัวมาเป็นผู้เล่น และมาจากกรรมการที่ไม่มีความหลากหลาย
โซเชียลมีเดียเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับประชาชน ในการหาเสียงตนเดินไปเคาะประตูจะเจอแต่ผู้สูงอายุ ไม่เจอคนวัยทำงาน และได้ถามตลอดว่ามีพรรคการเมืองในใจหรือยัง บางบ้านบอกว่าเลือกลุงตู่ บางบ้านเลือกเพื่อไทย น้อยมากเลือกที่บอกว่าจะเลือกอนาคตใหม่ (อนค.) ทุกบ้านในเขตบางกะปิที่ผมไปเคาะประตูไม่เจอคนที่บอกจะเลือกอนค. แต่คะแนน อนค. มากกว่าผม นี่สะท้อนว่าถ้าเราใช้วิธีการเดิมๆ ก็จะไม่เจอกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม หลังเลือกตั้งโซเชียลถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือโจมตีขยายความขัดแย้ง ผมไม่เคยเสียใจกับคำวิจารณ์ด้านลบ ดีใจด้วยซ้ำ เพราะเป็นผลตอบรับที่มีคุณค่า แต่สิ่งที่อันตรายที่สุดคือข่าวเท็จ ซึ่งเผยแพร่อย่างรวดเร็ว แม้จะลบทิ้งไปแล้วแต่ความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลทุกประเทศจำเป็นต้องหาทางต่อสู้กับข่าวเท็จ อื่น แต่การเซ็นเซอร์เป็นความคิดที่ผิด เพราะสิ่งที่อันตรายกว่าคือการมีชุดข้อมูลชุดเดียว ใครควบคุมการเขียนข้อมูลได้ก็เขียนประวัติศาสตร์และข้อเท็จจริงได้ การต่อสู้กับข่าวเท็จจึงไม่ควรเซ็นเซอร์แต่ควรให้ความรู้ เพื่อให้คนรุ่นใหม่รู้เท่าทัน วิเคราะห์ข้อมูลได้ด้วยตนเอง ข่าวเขียนอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับการมีวิจารณญาณตัดสินใจ และสิ่งที่ต้องกังวลคือถ้าไม่เข้ามาช่วยจูน สังคมจะถูกแบ่งแยกระหว่างไดโนเสาร์กับเด็กเมื่อวานซืน นายพริษฐ์กล่าว