SHORT CUT
ผลสำรวจเผยคนยุโรปชอบ “เบียร์ เยอรมนี” มากกว่า “วิสกี้ สกอตแลนด์” แต่ทั้ง 2 อันพระเป็นคนผลิต วัดกันไปกับ Soft Power ระหว่าง 2 ชาติ
ศึกฟาดแข้งคืนนี้ เป็นการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2024 ระหว่างทีมชาติเยอรมนีและทีมชาติสกอตแลนด์ เรียกได้ว่าเป็นแมตช์แรกของฟุตบอลยูโรที่หลายๆ คนต่างจับตาว่าจะฟาดแข้งกันมันมากน้อยแค่ไหน
อย่าว่าแต่ศึกภายในสนามฟุตบอลเลย ศึกภายนอกสนามระหว่างเยอรมนีและสกอตแลนด์ เรียกได้ว่าเปิดศึกกันมาอย่างยาวนาน ไม่ใช่เรื่องสงครามนะครับ แต่คือเรื่องศึกการแข่งขันเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ต่างฝ่ายต่างยอมกันไม่ได้
ฝ่ายหนึ่งเยอรมนีที่ขึ้นชื่อว่าเมืองแห่งเบียร์ อีกฝ่ายหนึ่งสกอตแลนด์เจ้าพ่อผู้ผลิตวิสกี้ จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อ 2 ประเทศต้องแข่งกันในสนามที่ต้องช่วงชิงตลาดสายปาร์ตี้ไปครอบครอง
อันที่จริงแล้วมนุษย์เรารู้จักเบียร์มาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยเริ่มต้นการเพาะปลูก เพราะเรารู้จักนำเมล็ดพันธุ์ที่ได้เหลือจากการเพาะปลูก บริโภคมาถนอมด้วยการหมักหรือการดองทำให้เกิดเครื่องดื่มมีฟองที่ทำให้เราสนุกสนาน
มีหลักฐานการทำเบียร์จากจารึกอยู่บนอักษรคูนิฟอร์ม การหมัก (เครื่องดื่มที่สันนิษฐานว่าเป็นต้นกำเนิดของเบียร์) เบียร์ในช่วงนั้น ใช้วิธีทำให้ข้าวสาลีแห้งเป็นผงแล้วนำไปอบเป็นขนมปัง จากนั้นก็บดขนมปัง เติมน้ำ และหมักตามธรรมชาติ
แต่เบียร์ยุคใหม่เริ่มผลิตขึ้นที่ประเทศเยอรมนีในศตวรรษที่ 15 เพราะชาวเยอรมนีเป็นผู้คิดค้นทำเบียร์ขึ้น โดยเบียร์ของเยอรมันทำจากมอลต์ เรียกว่า Peor หรือ Bior ที่เพี้ยนมาเป็นคำว่า Beer ชาวเยอรมันเชื่อว่าเบียร์มีความบริสุทธิ์สะอาดกว่าน้ำเปล่า ซึ่งก็น่าจะจริงเพราะแหล่งน้ำในยุคนั้นไม่สะอาดทำให้เกิดโรคระบาดทั่วยุโรปได้ง่ายประกอบกับภายหลังมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมแหล่งนี้ยิ่งสกปรกเพิ่มขึ้นอีก
เลยมีการดื่มเบียร์กันแทนน้ำเลยก็ว่าได้ เพราะด้วยกระบวนการผลิตสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ บวกกับปริมาณแอลกอฮอล์ในเบียร์นั้นต่ำมากเพียง 3.5-6.0 ดีกรี เรียกได้ว่าเด็กดื่มได้ผู้ใหญ่ดื่มดี อีกทั้งอายุการเก็บรักษาค่อนข้างสั้น เลยดื่มกันได้บ่อยเท่าที่ต้องการ
วัตถุดิบหลักที่นำมาใช้ผลิตเบียร์คือข้าวบาร์เลย์ เรียกวิธีการผลิตนี้ว่า Brewing โดยจะนำข้าวบาร์เลย์มาเพาะและอบแห้งทำเป็นมอลต์เกรนที่เรียกว่า Barley Malt Grain แล้วนำมาผสมกับน้ำ ปรุงแต่งรสชาติและกลิ่นด้วยดอกฮ็อปส์ที่ทำให้เกิดรสขม นำมาหมักรวมกับยีสต์จะได้ของเหลวที่มีแอลกอฮอล์ นำมากรองก็จะได้เบียร์ นอกจากข้าวบาร์เลย์ ชาวเยอรมันยังใช้ข้าวสาลี (Wheat) มาทำเป็นมอลต์ด้วย จะได้เบียร์ที่เรียกว่า Weizembier หรือ Wheat Beer
และเยอรมนีเองจริงจังกับการผลิตเบียร์มากถึงขนาดออกกฎหมายว่าด้วย “ความบริสุทธิ์ของเบียร์” ในปี 1516 ถือว่าเป็นกฎหมายครั้งแรกในโลกที่มีการกำหนดลักษณะของเบียร์ โดยระบุว่า “อย่าใช้สิ่งอื่นใดนอกจากส่วนผสม 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวบาร์เลย์ ฮ็อปส์ และน้ำ” ที่กลายมาเป็นมาตรฐานในการรักษาและปรับปรุงคุณภาพของเบียร์
ประกอบกับเยอรมนีเองก่อนที่จะรวมชาตินั้นมีหลายแคว้นมากมายบวกกับศาสนคริสต์มีอำนาจอย่างมากทั่วดินแดนเยอรมนีซึ่งขณะนั้นเรียกว่าจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ทำให้เบียร์ถูกผลิตอย่างหลากหลายและมีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น เพราะทั้งโบสถ์รวมถึงแต่ละเมืองต่างผลิตเบียร์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง
ทำให้เบียร์เยอรมนีกลายเป็นเอกลักษณ์ ทำให้คนนึกถึงเพราะหากไปเยือนเยอรมนีต้องเจอเบียร์หลากหลายรสชาตินั่นเอง
ความชื่นชอบในการดื่มเบียร์ของชาวเยอรมันไปไกลถึงขนาดที่ว่ามีเทศกาลเบียร์หลากหลายเทศกาลที่จัดขึ้นในแต่ละปี แต่ที่โด่งดังที่สุดคือเทศกาล “Oktoberfest” เป็นเทศกาลเก่าแก่กว่า 200 ปี โดยจะจัดขึ้นครั้งละ 16 ถึง 18 วันเป็นประจำทุกปี เรียกได้ว่าเป็นเทศกาลเรียกแขกเป็นเทศกาลที่ทำให้นักดื่มจากทั่วโลกต่างคิดว่าสักครั้งในชีวิตต้องมาดื่มด่ำเบียร์ที่เยอรมนี แค่นี้ก็ฟินาเล่แล้ว
ข้ามมาที่สกอตแลนด์ดินแดนแห่งวิสกี้ ตามความเชื่อที่ว่า Whiskey มาจากภาษาเกลิก uisge ซึ่งเป็นคำย่อของ uathge beatha ซึ่งแปลว่า "น้ำแห่งชีวิต" หรือที่เรียกว่า aqua vitae ในภาษาละติน วิสกี้เดิมทีใช้เป็นยาสำหรับการใช้ยาชาทั้งภายในและเป็นยาปฏิชีวนะภายนอก ก่อนที่จะมีเป็นเครื่องดื่ม
เทคนิคการกลั่นนำมาจากไอร์แลนด์และสกอตแลนด์ในช่วง ค.ศ. 1100 ถึง 1300 โดยพระสงฆ์ เนื่องจากการทำไวน์ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ในสกอตแลนด์เพราะภูมิอากาศไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูกองุ่น ทำให้ในไอร์แลนด์และสกอตแลนด์เบียร์บาร์เลย์ถูกกลั่นเป็นสุราซึ่งกลายเป็นวิสกี้ แต่ในระยะแรกการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลั่นนี้ จำกัด อยู่ที่เภสัชกรและโบสถ์เท่านั้นต่างจากเบียร์ที่ผลิตโดยทั่วๆ ไป
จนกระทั่งถึงปลายศตวรรษที่ 15 หนังสือเล่มแรกที่รู้จักกันในชื่อเรื่อง Distillation คือเมื่อปี ค.ศ. 1500 เมื่อ "Liber de arte distillandi" ของ Hieronymus Brunschwygk ชี้แจงถึงสรรพคุณของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าเป็นยา
วิธีการทำ คือการกลั่นจากธัญพืชซึ่งหมักเอาไว้ แล้วเก็บรักษาไว้ในถังไม้ (ปกติจะเป็นถังไม้โอ๊ก) เพื่อให้เกิดรสชาติและกลิ่นที่หอมนั่นเอง
วิสกี้เองยังเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมสกอตแลนด์ ที่มักดื่มกินกันในโอกาสพิเศษต่างๆ และมักใช้ต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเยียนเจ้าบ้านด้วย
สกอตแลนด์เป็นที่ตั้งของโรงกลั่นวิสกี้ที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่น Glenfiddich, Macallan, Johnnie Walker และ The Balvenie แบรนด์เหล่านี้ส่งออกวิสกี้ไปทั่วโลกถึงขนาดที่มีการกระตุ้นการท่องเที่ยววิสกี้ในสกอตแลนด์ โดยนักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมโรงกลั่น ชิมวิสกี้ และเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การกลั่นวิสกี้ได้อีกด้วย
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ สกอตแลนด์จึงได้รับการยกย่องว่าเป็น "ประเทศแห่งวิสกี้" วิสกี้สก๊อตเป็นเครื่องดื่มที่มีเอกลักษณ์และเป็นที่นิยมทั่วโลก
โดยทั่วไปแล้วยุโรปเป็นทวีปที่มีการบริโภคเบียร์ต่อหัวสูงมาก จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกในปี 2020 ประเทศที่มีการบริโภคเบียร์ต่อหัวสูงสุดในยุโรป ได้แก่ สาธารณรัฐเช็ก ออสเตรีย โปแลนด์ สโลวีเนีย และเยอรมนี ประเทศเหล่านี้มีการบริโภคเบียร์มากกว่า 70 ลิตรต่อคนต่อปี
ขณะที่วิสกี้เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในหลายประเทศยุโรป โดยเฉพาะในสกอตแลนด์ ไอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และสแกนดิเนเวีย จากข้อมูลของ Euromonitor International ในปี 2021 สกอตแลนด์เป็นประเทศที่มีการบริโภควิสกี้ต่อหัวสูงสุดในโลก รองลงมาคือไอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และสาธารณรัฐเช็ก
อย่างไรก็ตาม ปริมาณการบริโภควิสกี้โดยเฉลี่ยต่อหัวนั้นน้อยกว่าเบียร์มาก โดยทั่วไปแล้ว คนยุโรปดื่มเบียร์มากกว่าวิสกี้หลายเท่าตัวนั่นเท่ากับว่าในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยุโรป เบียร์สามารถเอาชนะวิสกี้ได้นั่นเอง
ขณะเดียวกันเองข้อมูลจาก Euromonitor International พบว่าในปี 2021 สกอตแลนด์มีการบริโภควิสกี้ต่อหัวสูงที่สุดในโลก โดยเฉลี่ยคนสกอตดื่มวิสกี้ประมาณ 13.7 ลิตรต่อปี ในขณะที่ปริมาณการบริโภคเบียร์ต่อหัวอยู่ที่ประมาณ 71.5 ลิตรต่อปี
นั่นเท่ากับว่าแม้กระทั่งในประเทศที่เคลมว่าเป็นต้นตำรับแห่งวิสกี้ก็ยังถูกเจ้าเบียร์จากเยอรมนีตีท้ายครัว สามารถบุกไปครองการเป็นขวัญใจมวลชนสายแอลกอฮอล์ในสกอตแลนด์ได้อีกด้วย
เราอาจสันนิษฐานได้ว่าที่เบียร์การเป็นเจ้าตลาดแอลกอฮอล์อาจเป็นเพราะเป็นเครื่องดื่มที่หาดื่มง่ายตามผับและบาร์ และเบียร์เองมักดื่มในโอกาสที่ไม่เป็นทางการ เช่น การพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง การดูฟุตบอล หรือหลังเลิกงาน ขณะที่วิสกี้นั้นมักดื่มในโอกาสพิเศษทำให้ตลาดเบียร์เติบโตมากกว่า
เอาเข้าจริงแล้วในสนามการแข่งขันเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เบียร์จากเยอรมนีสามารถเอาชนะวิสกี้จากสกอตแลนด์ไปได้แล้ว แต่ก็ต้องตามมาดูว่าในสนามฟุตบอลยูโร 2024 ผลจะออกมาเป็นอย่างไรเพราะในศึกฟุตบอล ยูโร 2024 เยอรมนี VS สกอตแลนด์ เมืองแห่งวิสกี้อาจจะต้องทวงศักดิ์ศรีด้วยการเอาชนะเมืองเยอรมนีเมืองแห่งเบียร์
อ้างอิง
Krua.co / Longtunman / Hopbeerhouse / Hiloved / Drunksinlove / BBC / Nms.ac.uk / Visitscotland / WHO / Euromonitor
ข่าวที่เกี่ยวข้อง