SHORT CUT
ฟุตบอลจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ จะกลับมาจัดอีกครั้ง ในวันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม 2567 ณ สนามศุภชลาศัย หลังจากที่ไม่ได้จัดมาทั้งสิ้น 4 ปี , งานนี้ ถือว่าเป็นงานที่เก่าแก่เกินครึ่งศตวรรษ , เรามาลองทบทวน และค้นหาอดีตกันว่า งานฟุตบอล จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ มีจุดเริ่มต้นมาจากไหน ?
งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2477 โดยเป็นไอเดียของนิสิตและนักศึกษากลุ่มหนึ่งซึ่งเคยศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเดียวกันคือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ประกอบด้วยนายทองต่อ ยมนาค (พลตำรวจโทต่อศักดิ์ ยมนาค) และนายบุศย์ สิมะเสถียร จากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง นายทอม จอห์สัน (นายปถม ชาญสรรค์) นายประสงค์ ชัยพรรค และนายประยุทธ สวัสดิสิงห์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ปรึกษาหารือกันด้วยความปรารถนาจะให้นิสิตและนักศึกษา 2 มหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดของประเทศในขณะนั้น มีความรักใคร่สามัคคี เพื่อจะได้ร่วมกันสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติต่อไปในอนาคต
โดย งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ มีตัวอย่างให้ จากการแข่งขันเรือประเพณีของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์แห่งสหราชอาณาจักร แต่คณะผู้ริเริ่มเคยเป็นนักกีฬาฟุตบอลของโรงเรียนมาก่อน จึงได้ตกลงที่จะจัดการแข่งขันฟุตบอลประเพณีขึ้น จากในช่วงเวลานั้น
ผู้ริเริ่มฝ่ายมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้เสนอเรื่องต่อผู้ประศาสน์การในขณะนั้นคือ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผ่านศาสตราจารย์ ดร.เดือน บุนนาค เลขาธิการ
ส่วน ผู้ริเริ่มฝ่ายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เสนอเรื่องต่ออธิการบดี ฝ่ายสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล (ศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ หม่อมราชวงศ์สลับลดาวัลย์เป็นผู้ดูแล
โดย มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้ทำหนังสือเชิญจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าร่วมการแข่งขันและรับเป็น เจ้าภาพครั้งแรก โดยจัดการแข่งขันขึ้นที่สนามหลวง (ทุ่งพระเมรุ) ในวันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2477 โดย ณ เวลานั้น เก็บค่าผ่านประตูเข้าชม 1 บาท
งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 2 ถึงครั้งที่ 4 ได้ย้ายจากสนามหลวงมาจัด ณ สนามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เพราะมีรั้วรอบขอบชิด สามารถเก็บเงินจากผู้ชมได้สะดวกและเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น เมื่อถึงครั้งที่ 5 ปีพ.ศ. 2481 ก็ได้ย้ายมาจัดที่สนามศุภชลาศัยเรื่อยมา เฉพาะครั้งที่ 41, 42, และ 44 เท่านั้นที่จัดขึ้น ณ สนามจารุเสถียร เนื่องจากสนามศุภชลาศัยปิดปรับปรุง
งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ได้จัดขึ้นทุกปียกเว้นช่วงที่บ้านเมืองมีเหตุการณ์ไม่เอื้ออำนวย อาทิ
ปีพ.ศ. 2485 – เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในพระนคร
ปีพ.ศ. 2487-2491 – เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา
ปีพ.ศ. 2494 – เกิดกบฎแมนฮัตตัน
ปีพ.ศ. 2515-2518 – เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516
ปี พ.ศ. 2520 – เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519
ปี พ.ศ 2563- 2566 - เกิดวิกฤตโควิด-19
แม้จะงดเว้นไปบางปี แต่การจัดงาน ฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ก็มีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาตามลำดับ ร่วมถึงเรื่องขบวนพาเหรด โดยสมัยก่อนจะมีความยาวมากประกอบด้วยดรัมเมเยอร์ วงดุริยางค์ ขบวนนิสิตนักศึกษา รวมทั้งขบวนล้อการเมือง ต่อมาได้มีการลดขบวนลงเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์เอาไว้ โดยเฉพาะการล้อการเมืองซึ่งได้กลายมาเป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งในงานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ และได้รับการติดตามจากบุคคลทั่งไปอย่างมากในยามที่เสรีภาพในการเสนอข่าวสารการเมืองยังถูกปิดกั้น
โดยการล้อการเมืองด้วยหุ่นนั้น , เริ่มล้อการเมืองด้วยหุ่น เมื่อปี 2539 โดย "หุ่นล้อการเมือง" ของทั้ง 2 สถาบันถูกจับตามากขึ้น ในทุกๆช่วง โดยเฉพาะช่วงที่บ้านเมืองอยู่ในสภาวะล่อแหลม และมีความขัดแย้งด้านความคิดกันหนักมาก หลายต่อหลายครั้งหุ่นล้อการเมืองถูกนำไปขยายความและกล่าวถึงผู้มีอำนาจในยุคนั้นๆด้วย
และในฟุตบอลจุฬา-ธรรมศาสตร์ ซึ่งในปีนี้ ปี 2567 ซึ่งใช้ชื่อว่า เทศกาลงานกีฬาฟุตบอลสานสัมพันธ์ จุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ CU - TU Unity Football Match 2024 ก็ยังมีพาเหรดสะท้อนสังคม หรือ ที่คนทั่วไปเรียกว่า ขบวนล้อการเมือง เหมือนเดิม และนี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของงาน เพราะนี่คือสิ่งที่สะท้อนว่า คนรุ่นใหม่ คิดอย่างไรต่อภาพการเมือง ณ ปัจจุบัน และการันตีเลยว่า คนที่ถูกล้อ...ย่อมแสบหัวใจไม่มากก็น้อย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
งานฟุตบอลอสานสัมพันธ์จุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ 2024 แนวคิด Unity to Sustainability
เทศกาลวาเลนไทน์ ชวนดูตัวเลขคนโสดในอาเซียน เปล่าเปลี่ยว เหงากันเท่าไร
ใบน้ำเงิน กติกาใหม่โลกฟุตบอล - ไล่นักเตะ "พักก่อน" ชั่วคราว 10 นาที เวิร์กไหม ?