ใบน้ำเงิน กติกาใหม่โลกฟุตบอล ? ไล่นักเตะไปพักก่อน ชั่วคราว จะเวิร์กไหม ด้าน "ฟีฟ่า" ปฏิเสธทันควันยังไม่ใช้ในเกมของฟีฟ่าแน่นอน!
โลกของเรา มีวิวัฒนาการในทุกๆด้าน ไม่เว้นแม้แต่ วงการฟุตบอลที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อความสนุก เร้าใจ และ หากมองให้เห็นภาพชัดๆ สมัยก่อนยังไม่มีกติกา การยิ่งจุดโทษตัดสิน เมื่อจบลงด้วยผลเสมอ , สมัยก่อนบางทัวร์นาเมนต์ใช้การจับสลากด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้ก็มีการคิดค้น เรื่องการยิงจุดโทษ ชี้ชะตาเกม มาแล้ว , และหากลงรายละเอียดให้ชัดขึ้นอีก สมัยนี้ มีการใช้ VAR ช่วยตัดสิน ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อน
ขณะที่ ในยุคหนึ่ง เคยมีกฎ โกลเด้น โกล , ซิลเวอร์ โกล เอามาใช้ แต่สุดท้ายมัน บีบหัวใจนักฟุตบอลเกินไป จนไม่กล้า ทำอะไรกันในช่วงต่อเวลา และเมื่อผู้มีอำนาจเห็นว่ามันไม่เวิร์ก ก็เลย "ยกเลิก" และกลับมาใช้การต่อเวลา 30 นาที แบบปกติแบบเดิมๆ
ส่วนประเด็น เรื่องการแจก ใบน้ำเงิน นั้น ( บทลงโทษมากกว่าใบเหลือง แต่ น้อยกว่า ใบแดง) ได้รับการเปิดเผยครั้งแรกโดย Daily Telegraph สำนักข่าวอังกฤษ ที่รายงานข่าวว่า ทางด้านบอร์ดสมาคมฟุตบอลนานาชาติ (International Football Association Board หรือ IFAB) ซึ่งเป็นผู้ออกกฎเกณฑ์การตัดสินในเกมฟุตบอล กำลังพิจารณาถึงการทดลองใช้ใบน้ำเงินในเกมการแข่งขันฟุตบอล
สำหรับ ใบน้ำเงิน นี้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องกฎ ‘Sin Bins’ ที่จะให้ผู้เล่นที่ทำผิดกติกาในบางกรณี
ผู้เล่นที่ถูกใบน้ำเงินจะต้องออกนอกสนามเป็นเวลา 10 นาทีด้วยกัน จากนั้นจึงมีโอกาสกลับมาแข่งขันอีกครั้งได้
สิ่งที่น่าสนใจคือ
สำหรับใบน้ำเงินนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเรื่องของการลงโทษผู้เล่น ซึ่งกฎนี้จริงๆ แล้วเรียกว่า ใบทำโทษ (Penalty Card)
โดยก่อนหน้านี้ ในเกมฟุตบอลผู้ตัดสินสามารถไล่ผู้เล่นออกจากสนามได้ แต่ไม่มีความชัดเจน ซึ่งก็เกิดกรณีปัญหาในฟุตบอลโลกปี 1966 ในเกมระหว่างอังกฤษกับอาร์เจนตินา โดยหลังเกมจบลงมีการเปิดเผยว่า ผู้ตัดสิน รูดอล์ฟ เครตไลน์ ได้เตือนพี่น้องบ็อบบี้ และ แจ็คกี้ ชาร์ลตัน ของอังกฤษ และได้ไล่ อันโตนิโอ รัตติน ของอาร์เจนตินาออกจากสนามด้วย
ปัญหาคือผู้ตัดสินไม่ชัดเจนในระหว่างเกม เซอร์ อัลฟ์ แรมซีย์ ผู้จัดการทีมชาติอังกฤษในเวลานั้น (ซึ่งสุดท้ายพาอังกฤษเป็นแชมป์โลกครั้งแรกและครั้งเดียวจนถึงทุกวันนี้) จึงได้ติดต่อกับตัวแทนของ FIFA เพื่อขอคำชี้แจงในช่วงหลังจบเกม นั่นทำให้ เคน แอสตัน ผู้ตัดสินชาวอังกฤษ คิดหาวิธีที่จะทำให้การตัดสินชัดเจนขึ้น เพราะการจะให้ผู้ตัดสินบอกอย่างเดียวบางทีอาจจะมีปัญหาเรื่องกำแพงของภาษาได้
เคน แอสตัน ชอบแนวความคิดของไฟสัญญาณจราจร ซึ่งก็ถือเป็นภาษาสากล ใครๆทั่วโลกก็เข้าใจตรงกัน
แบบนี้ใครก็เข้าใจแน่นอน จึงได้มีการทำเรื่องเสนอ สุดท้าย IFAB มีมติให้เริ่มใช้ใบเหลืองและใบแดงในฟุตบอลโลกปี 1970 ที่เม็กซิโกเป็นเจ้าภาพ หรือในอีก 4 ปีต่อมานั่นเอง เพื่อลงโทษและตักเตือนผู้เล่น กลายเป็นจุดเปลี่ยนแปลงของเกมฟุตบอล ส่งผลต่อทั้งความประพฤติของผู้เล่น ไปจนถึงการวางแท็กติกการเล่นด้วย
สุดท้าย ก็ไม่รู้ว่า หากเอาใบน้ำเงิน มาใช้จริงๆ จะเวิร์กไหม แต่อยากเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อน ฟุตบอลก็ไม่มีใบเหลืองเช่นกัน กฎใบเหลือง เพิ่งถูกคิดค้นในฟุตบอลโลก 1970 นี่เอง เมื่อก่อน มีแค่ฟาวล์ กับ ไล่ออก แค่นั้น
คือไล่ออกต้องเป็นโทษหนักจริงๆ ดังนั้นเมื่อก่อน กองหลังจึงไล่หวดกองหน้ากันเละ เพราะก็เสียแค่ฟาวล์ กรรมการไม่กล้าไล่ออกเท่าไหร่ กล่าวคือมันไม่มีโทษตรงกลาง นั่นทำให้ฟีฟ่าเอากฎใบเหลืองมาใช้ และมันก็ได้ผลดี การทำฟาวล์รุนแรงน้อยลง สำหรับกฎใบน้ำเงินนี้ ฟีฟ่าก็มองว่า ถ้า ต้องโดนแบน 10 นาที นักเตะอาจจะระวังมากขึ้นในการเล่นแรง หรือ ทำตัวไม่เคารพผู้ตัดสิน เกมในสนามอาจจะสนุกขึ้นกว่าเดิมก็ได้
อย่างไรก็ตาม สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ออกโรงปฏิเสธรายงานข่าวดังกล่าว โดยออกแถลงการณ์ระบุว่า "ฟีฟ่า ขอชี้แจงว่ารายงานที่บอกว่า 'ใบน้ำเงิน' จะถูกนำมาใช้ในเกมฟุตบอลระดับสูงนั้นมันไม่เป็นความจริงและยังไม่ถึงเวลาที่จะทำแบบนั้น หากจะมีการทดสอบใดๆ ก็ตาม มันจะถูกจำกัดให้ทดสอบแค่กับเกมในระดับล่างๆ เท่านั้น"
“ฟีฟ่าขอชี้แจงว่ารายงานของสิ่งที่เรียกว่า 'ใบน้ำเงิน' นั้นยังไม่ถูกใช้งานในฟุตบอลระดับชั้นนำและจะไม่เกิดขึ้นก่อนเวลาอันสมควร หากมีการทดลองใช้จริงควรเริ่มต้นในฟุตบอลีกล่างก่อน นี่เป็นจุดยืนที่ FIFA ย้ำเตือนเสมอ หากมีการพูดคุยเกี่ยวกับวาระนี้ในการประชุม IFAB ในวันที่ 1 มีนาคมนี้”
ขณะที่รายการของยูฟ่า อเล็กซานเดอร์ เซเฟริน ประธานยูฟ่าเคยกล่าวว่าไม่เห็นด้วย และจะไม่มีการทดลองใช้ในเร็วๆนี้