เปิดกฎฟีฟ่า ทีมชาติไทย จะถูกแบนหรือไม่ ? จากกรณีที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ออกโรงจี้ให้ "บิ๊กอ๊อด" พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ลาออกจากตำแหน่งนั้น เรื่องนี้ ผิดกฎฟีฟ่า หรือไม่ อย่างไร ?
กลายเป็นประเด็นที่ร้อนแรงลุกเป็นไฟและไหม้ลุกลามโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว สำหรับเรื่องราวการลาออกจากตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลไทย ของ "บิ๊กอ๊อด" พลตำรวจเอก ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง
SPRiNG ชวนมาผ่าประเด็นกันแบบชัดๆ จากกรณีที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ "ลุงป้อม" ในฐานะประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ออกโรงจี้ให้ "บิ๊กอ๊อด" พลตำรวจเอก ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ลาออกจากตำแหน่งนั้น เรื่องนี้ ผิดกฎฟีฟ่า หรือไม่ อย่างไร ?
จากการที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ประกาศลาออกอย่างเป็นทางการ จากตำแหน่ง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ โดยจะชี้แจงเหตุผลการลาออกจาก เอเอฟเอฟ, เอเอฟซี และฟีฟ่า ต่อไป โดยจากถ้อยคำแถลงนั้น "บิ๊กอ๊อด" ทิ้งท้ายไว้ว่า
ตนในฐานะนายกสมาคมฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแแล และจดทะเบียนกับการกีฬาแห่งประเทศไทย พร้อมที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของ พลเอกประวิตรฯ โดยจะได้ปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไป และจะแจ้งผลและเหตุผลแห่งการลาออกต่อ สหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน (AFF) สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (AFC) และสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานของประเทศสมาชิก ทราบ ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของสมาคมฯ ตามลำดับต่อไปตามหน้าที่ของประเทศสมาชิก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อยู่ไม่ไหว! 'สมยศ' ประกาศลาออก นายกสมาคมฟุตบอลฯ ตามคำสั่ง บิ๊กป้อม
เรื่องนี้ สมาคมฟุตบอลไทย รวมถึงทีมชาติไทย มีโอกาสถูกแบนจากฟีฟ่าหรือไม่ ? เพราะ "บิ๊กป้อม" พูดในฐานะ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ดังนั้น SPRiNG มาลองชำแหละกฎของฟีฟ่า ในเรื่องที่เกี่ยวข้องอย่างชัดๆ ดังนี้
"ธรรมนูญฟีฟ่า" ข้อที่ 19 ว่าด้วยเรื่องความเป็นอิสระของสมาคมฟุตบอลและคณะกรรมการผู้บริหารกันก่อน มีดังต่อไปนี้ (ข้อ 14,17 และ 19 สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยมีโอกาสผิดได้)
เริ่มจากข้อ 14 ในหัวข้อหน้าที่ของประเทศสมาชิก ข้อ 14.1 ระบุว่า การบริหารกิจการของสมาคมหรือสหพันธ์ต้องเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงจากบุคคลที่สาม ต่อมาในข้อ 14.3 ระบุว่า การกระทำผิดข้อบังคับในข้อ 14.1 อาจนำไปสู่การถูกลงโทษ แม้ว่าการแทรกแซงจากบุคคลที่สาม จะไม่ได้เกิดขึ้นจากความผิดของประเทศสมาชิกโดยตรง
ในข้อ 17 หัวข้อการถูกถอดถอนความเป็นสมาชิก ซึ่งฟีฟ่าเขียนไว้ในข้อ 17.1 แยกเป็นข้อย่อยอีก 3 หน่วยดังต่อไปนี้ 1.) สมาชิกไม่สามารถชี้แจงหรือแสดงสถานะทางการเงินได้ครบตามระเบียบของฟีฟ่า 2.) ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของฟีฟ่าอย่างร้ายแรง 3.) สูญเสียสถานะความเป็นองค์กรอิสระ
และในกฏข้อที่ 19 ซึ่งเป็นกรณีใกล้เคียงที่สุดกับสถานการณ์ปัจจุบัน ระบุไว้ดังนี้
19.1 สมาชิกจะต้องบริหารกิจการของตนอย่างเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงจากบุคคลที่สาม
19.2 คณะผู้บริหาร จะต้องได้รับเลือกตั้งหรือแต่งตั้งอย่างเป็นอิสระตามระเบียบข้อบังคับฯ ด้วยวิธีการที่เป็นประชาธิปไตย
19.3 ผู้บริหารสมาคมที่ไม่ได้มีที่มาตามข้อ 19.2 จะไม่ได้รับการยอมรับ หรือ รับรองจากฟีฟ่า
19.4 มติต่าง ๆ ของผู้บริหารสมาคม ที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง ตาม ข้อ 19.2 จะไม่ได้รับการยอมรับหรือรับรองจากฟีฟ่า
ส่วน เคสของฟุตบอลทีมชาติไทย จะถูก ฟีฟ่า FIFA ลงโทษแบนตามระเบียบที่ไม่อนุญาตให้มีบุคคลที่สาม แทรกแซงการบริหารงานสมาคมกีฬาฟุตบอลหรือไม่? ต้องติดตามกันต่อไป