สภากาชาดไทย ตั้งเป้าหมายผลักดันให้โรคเอดส์หมดสิ้นจากประเทศไทยภายในปี 2030 ย้ำสังคมไทยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่าไม่ใช่โรคติดต่อเรื้อรัง
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ได้ให้สัมภาษณ์เนื่องในวันเอดส์โลก “รวมพลังชุมชน ยุติเอดส์” หรือ Communities Make The Difference รณรงค์ให้ความรู้ โดยตั้งเป้าหมายผลักดันให้โรคเอดส์หมดสิ้นจากประเทศไทยภายในปี 2030
นายแพทย์ประพันธ์กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อรายใหม่ของทุกประเทศทั่วโลกกำลังลดลงมาเรื่อยๆ ตามลำดับ ซึ่งไทยเองก็เป็นเช่นเดียวกัน เมื่อสัก 15-20 ปีที่แล้ว พบผู้ติดเชื้อปีละ 100,000-150,000 คน ซึ่งถ้าเทียบตอนนี้ตลอดระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา พบผู้ตัดเชื้อตกปีละ 6,000-7,000 คน
ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น พม่า เวียดนาม หรือประเทศอื่นๆ ผู้ที่ติดเชื้อรายใหม่จะมีประมาณ 2 เท่าของคนที่เสียชีวิตจากเอดส์หรือถ้าเทียบง่ายๆ คือ เสียชีวิตครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อรายใหม่ แต่ไทยจะแปลกกว่าตรงที่ผู้ที่เสียชีวิตจากเอดส์จะมีเป็น 2.5 เท่าของคนที่ติดเชื้อรายใหม่ เท่ากับไทยมีคนที่เสียชีวิตจากเอดส์ปีละประมาณ 15,000 คน ซึ่งคาดการณ์ว่าอาจเพราะไม่ได้ไปตรวจแต่เนิ่นๆ พอตรวจเจอก็อาจจะป่วยไปมากแล้ว หรืออาจไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีจึงทำให้ป่วยและเสียชีวิตไป
ซึ่งถ้าเทียบกับเมื่อ 15-20 ปีก่อน ประเทศไทยถือว่าดีขึ้น แต่จริงๆ คาดหวังว่าจะดีขึ้นมากกว่านี้ เช่น จากที่จะมีการติดเอดส์ใหม่ปีละ 6,000-7,000 คน ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา มันควรจะลดลงทุกปี มีการตั้งเป้าไว้ว่าปี 2030 อีก 11 ปีข้างหน้า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ต้องน้อยกว่า 1,000 ราย เรารู้ว่าต้องทำได้ มันมีวิธีการทำเพียงแต่ว่าตอนนี้เรายังทำได้ไม่ดีพอ
คนที่ติดเชื้อ HIV ไม่ใช่ผู้ป่วยใช่ไหม
ผู้ติดเชื้อเขาต้องการให้สังคมมองเขาแค่เป็นผู้ติดเชื้อ เป็นพาหะ ไม่ได้เป็นผู้ป่วย ซึ่งตรงนี้ต้องยอมรับว่ามันคือความจริง แต่ถึงแม้จะป่วยเมื่อกินยารักษาอาการป่วยก็จะหายไป ก็กลายเป็นผู้ติดเชื้อธรรมดาทั่วๆ ไป ผู้ติดเชื้อ HIV กับ ผู้ป่วยเอดส์ เป็น 2 ชื่อที่กลับไปกลับมา ผู้ที่ติดเชื้อถ้าไม่ได้รักษาก็กลายเป็นผู้ป่วย ผู้ป่วยรักษาแล้วก็กลายเป็นผู้ติดเชื้อ
ความเข้าใจผิดของสังคมเกี่ยวกับเอดส์
คนจะเข้าใจว่าเอดส์เป็นแล้วตาย ไม่มีทางรักษา ยังคงเข้าใจเช่นนั้นอยู่ โดยคิดว่าผู้ป่วยมีรูปร่างน่ากลัว ต้องมีวัดบางแห่งต้องคอยสร้างเตาเผามาเผาผู้ที่ติดเชื้อ ณ ตอนนี้มันไม่ใช่เช่นนั้นแล้ว คนที่ติดเชื้อ ถ้าเขารู้ตัวแต่เนิ่นๆ กินยาสม่ำเสมอ นอกจากจะไม่ป่วยแล้วยังจะมีอายุยืนยาวเทียบเท่ากับผู้อื่นทั่วไป เสียชีวิตในยามแก่เฉกเช่นคนไม่ติดเชื้อ สำหรับคนที่ติดเชื้อแล้วกินยาต้านก็สามารถมีครอบครัว มีสามี ภรรยา มีลูกได้ โดยที่ครอบครัว ภรรยา และลูกไม่ติดเชื้อจากเขาเลย
โรคเอดส์ จึงเป็น โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่นเดียวกับ เบาหวาน ความดันสูง คือเขาต้องกินยาไปเรื่อยๆ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่สามารถติดต่อหรือแพร่ให้คนอื่นได้เลย นี่คือสิ่งที่สังคมไทยยังไม่เข้าใจตรงนี้ ส่วนใหญ่ยังคงมองว่าเอดส์เป็นโรคที่น่ากลัว มันแพร่กระจายได้ง่าย เป็นแล้วต้องสุขภาพทรุดโทรม ยังคงตีตราและกีดกันผู้ติดเชื้อไม่ให้เข้าทำงานในหน่วยงาน และองค์กรต่างๆ
ในมุมมองผู้ติดเชื้อเขาอยากให้คนมองเขาเช่นไร
ผู้ติดเชื้อต้องการให้สังคมมองเขาว่าเป็นคน ๆ หนึ่งในสังคมที่มีศักยภาพ แม้ว่าจะติดเชื้อ แต่ก็สามารถทำงานทำการได้เหมือนกับคนอื่นทั่วๆ ไป เมื่อทานยาแล้วไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใครเลย เขาอยากจะใช้ศักยภาพทำงานได้ตามที่ถนัด โดยที่ไม่ถูกกีดกันจากสังคม เขาต้องการเพียงเท่านั้นจริงๆ ไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือหรือความสงสารจากใคร
ในฐานะหมออยากให้สังคมมองผู้ติดเชื้ออย่างไร
คนที่ติดเชื้อไม่ใช่คนไม่ดีหรือคนชั่วในสายตาใคร อย่าตีตราเขาว่าติดเชื้อเพราะมั่ว ทุกคนไม่ว่าจะเพศใด ติดเชื้ออาจด้วยสาเหตุอื่นได้ อย่ามองเขาว่าเขาคือคนไม่ดี ซึ่งมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น รวมถึงผู้ที่ติดเชื้อไม่ได้เป็นคนที่ป่วยแล้วรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัวอัปลักษณ์เสมอไป เอดส์แพร่กระจายได้น้อยกว่าไข้หวัดเสียอีก น้อยกว่าตับอักเสบบี ตับอักเสบซีด้วยซ้ำไป เขาไม่ได้เป็นภาระต่อนายจ้าง ไม่เป็นภาระต่อสังคมด้วย เพราะรัฐให้รักษาฟรี กินยาฟรี ประกันสังคมก็ให้กินฟรี ทุกอย่างไม่ต้องเบิกเงินเพิ่มจากนายจ้างเลย ไม่มีเหตุผลที่จะไปรังเกียจหรือกีดกันผู้ติดเชื้อ
ผู้ติดเชื้อคือคนธรรมดาทั่วไปที่เหมือนกับคนที่เป็นเบาหวาน ไขมัน ความดันสูง ที่ต้องกินยารักษาสุขภาพตนเองไปเรื่อยๆ
กำลังใจคือสิ่งสำคัญมากขนาดไหน
กำลังใจสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่มีคนอื่นในสังคมมาคอยจ้องมองเขากีดกันเขา หรือห้ามไม่ให้ทำงาน เขาจะมีกำลังใจเป็นอย่างมาก เขารู้ว่าเขากินยาแล้วจะแข็งแรง อายุยืนยาวเหมือนคนอื่น กินยาแล้วแต่งงานได้มีลูกได้
เอดส์ติดต่อได้ 2 ทาง คือ ทางเพศสัมพันธ์ กับ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันจากการเสพยาเสพติด ผู้ติดเชื้อที่ทานยาดูแลตนเองตลอดสามารถอยู่ร่วมกันในบ้านในสังคมร่วมกันได้ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ผู้ที่ติดเชื้อมีเพศสัมพันธ์แม้ไม่ใส่ถุงยางก็ไม่ทำให้ใครติดเชื้อ เหมือนคนปกติทั่วไปไม่จำเป็นต้องปรับตัวเป็นพิเศษอะไร
สังคมหวาดกลัวไปเองใช่ไหม
สังคมยังคงฝังและยึดติดกับความเชื่อและภาพลักษณ์เก่าๆ ของเอดส์เมื่อ 20 ปีที่แล้วไม่ยอมเปลี่ยนแปลง จึงยังคงเชื่อผิดๆ อยู่ การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานบางแห่งที่ต้องการให้คนมาบริจาคโดยพยายามเอารูปของผู้ติดเชื้อที่มีหน้าตาน่ากลัวออกมา เหล่านี้ทำให้คนในสังคมยิ่งตีตราคนที่ติดเชื้อมากยิ่งขึ้น
หากอยากตรวจต้องไปที่ใด
ประชาชนสามารถไปตรวจได้ที่โรงพยาบาลรัฐแห่งใดก็ได้ โดยสามารถตรวจเอดส์ได้ฟรี ปีละ 2 ครั้ง ครั้งที่ 3 ต้องออกเงินเอง รัฐบาลมีนโยบายให้ข้าราชการไทยทุกคนสมัครใจขอตรวจเอชไอวีตอนไปตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับประชาชนทั่วไป
ซึ่งการตรวจก็ไม่จำเป็นต้องตรวจถึงปีละ 2 ครั้งก็ได้ อย่างน้อยให้ลองไปตรวจสักครั้งในชีวิต โดยตรวจพร้อมกับคู่นอนของเรา ถ้าตรวจไม่เจอทั้งคู่ก็ไม่ต้องตรวจอีกก็ได้ แต่สำหรับกลุ่มคนบางกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงก็ให้ตรวจปีละ 2 ครั้ง หากไม่ได้ปรับและยังคงเสี่ยงอยู่ตลอดก็ให้ตรวจสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้เชื้อเป็นพิษเป็นภัยกับตัวเขาเอง ยาจะไปสะสมที่ทางเข้าของเชื้อ เนื้อเยื่อต่างๆ พอเชื้อเข้ามาก็จะถูกยาฆ่าตายไป ซึ่งยานี้มีชื่อว่า ยาเพร็พ เป็นยาป้องกันการติดเชื้อก่อนการสัมผัสเชื้อ เหมือนเป็นการกินยาคุมกำเนิดโดยทั่วๆ ไป
ยาเพร็พ(PrEP) และ ยาเป็ป(PEP) ใช้ต่างกันอย่างไร
ยาเพร็พ(PrEP ย่อมาจาก Pre-Exposure Prophylaxis) เป็นยาป้องกันการติดเชื้อก่อนการสัมผัสเชื้อ โดยตั้งแต่ 1 มกราคม ปี 2563 เป็นต้นไป สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. จะให้คนไทยทุกคนสามารถที่จะมาใช้สิทธิ์ขอเพร็พกินได้ฟรี ครอบคลุมกว่า 20 จังหวัด กว่า 50 โรงพยาบาลทั่วประเทศไทย ส่วนใครที่ไม่ได้อยู่ใกล้โรงพยาบาลหรือจังหวัดนั้นสามารถหาซื้อยากินได้ เดือนละไม่เกิน 300 บาท
ณ ตอนนี้ สถานที่ที่แจกเพร็พฟรีจะมีตามคลินิกที่ดำเนินการโดยองค์กรชุมชนหรือศูนย์สุขภาพชุมชน ซึ่งจะต้องตรวจก่อนว่ามีความเสี่ยงและยังไม่ได้ติดเชื้อจริงๆ จึงรับยาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ยาเพร็พที่แจกตามคลินิกชุมชนนี้เรียก เพร็พพระองค์โสมฯ ที่พระองค์ท่านประทานให้โดยนำเงินจากกองทุนลดการติดเอดส์จากแม่สู่ลูกฯ ไปซื้อเพร็พให้กับชุมชนซึ่งมีรายได้น้อย
นอกจากนี้ยังมี ศูนย์สาธารณสุข 28 ใกล้กับสถานีรถฟ้าสถานีกรุงธน, SWING กรุงเทพ ซอย พัฒน์พงศ์, สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย RSAT รามคำแหง, SWING พัทยา, Mplus เชียงใหม่, Caremat เชียงใหม่, Mplus เชียงราย, RSAT หาดใหญ่, RSAT อุบล, Tangerine Clinic สำหรับกลุ่มคนข้ามเพศ สำหรับที่นี่บริการฟรีร่วมกับการบริการตรวจวัดระดับฮอร์โมนอีกด้วย
ยาเป็ป(PEP ย่อมาจาก Post-Exposure Prophylaxis) เปรียบเสมือนยาคุมกำเนิดฉุกเฉินหลังจากไปสัมผัสเชื้อมาแล้ว เช่น หลังมีเพศสัมพันธ์แล้วรีบมาหาหมอภายใน 72 ชั่วโมง ก็ให้ยาทันทีเลย ซึ่งยาจะไปทำให้เชื้อน็อก ซึ่งยานี้สำหรับหมอและพยาบาลที่ถูกเข็มตำ หรือในกรณีเหยื่อถูกข่มขืนมา จะมีการให้ยาเป็ปโดยทันทีไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนประชาชนทั่วไปยานี้ยังคงต้องเสียค่าใช้จ่ายเองอยู่ เดือนหนึ่งไม่เกิน 1,000 บาท และกินเพียงเดือนเดียวเท่านั้น
ฝากทิ้งท้ายถึงประชาชนทั่วไป
เอดส์อยู่ใกล้ตัว หากเราไม่ระมัดระวัง ไม่ได้ป้องกัน ก็มีสิทธิ์ที่จะติดได้ ณ เวลานี้ เอดส์ต่างจากเมื่อ 20-30 ปีที่แล้วเยอะ เป็นโรคที่มีความหวัง ดีกว่าเป็นมะเร็ง กลายเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กินยาไปเรื่อยๆ ไม่ติดต่อใคร ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร เพราะฉะนั้นไม่ควรไปรังเกียจหรือกีดกันผู้ติดเชื้อ คุณแม่ติดเชื้อแล้วกินยาต้านอยู่ โอกาสที่ลูกจะติดเชื้อแทบเป็น 0 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนี่คือเรื่องน่ายินดีที่เราพยายามสื่อให้คนในสังคมได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น