โฆษกสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ เตือน ซื้อทองคำราคาถูกเกินจริง เสี่ยงสูงเจอของปลอม แนะเลือกจากห้าง ร้าน ที่น่าเชื่อถือ หลีกเลี่ยงช่องทางออนไลน์
พล.ต.ต.วาที อัศวุตมางกุร โฆษก สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ (โฆษก สพฐ.ตร.) กล่าวถึง คดีเกี่ยวกับการฉ้อโกงที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะร้านค้าออนไลน์ที่มักโฆษณาชวนเชื่อว่าเป็น “ทองคำแท้” แต่ราคาถูกกว่าท้องตลาดนับพันบาท เป็นสิ่งล่อใจให้คนหลงเชื่อ ยอมจ่ายเงินไปหวังจะได้ของแท้ ราคาถูก แต่สิ่งที่ได้มากลับเป็น “ทองคำปลอม” ที่ไม่สามารถดูออกด้วยตาเปล่า
วิธีป้องกันการถูกหลอกซื้อทองปลอม
พล.ต.ต.วาที แนะนำว่า การเลือกซื้อทองคำแท่งหรือทองรูปพรรณ ควรซื้อจากร้านขายทองที่น่าเชื่อถือ ระมัดระวังการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะง่ายต่อการถูกหลอกลวง และไม่ควรใส่ทองคำมูลค่าสูงแล้วเดินในสถานที่เปลี่ยว เพราะเป็นสิ่งล่อตาล่อใจให้มิจฉาชีพก่อเหตุได้ง่าย
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ด้าน พ.ต.อ.หญิง วิภาวดี เกษมวรภูมิ นักวิทยาศาสตร์ ระดับสัญญาบัตร 4 (นวท.(สบ4)) จาก กลุ่มงานตรวจทางเคมี ฟิสิกส์ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง ( กคม.พฐก.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา การร้องขอจากพนักงานสอบสวนให้ตรวจพิสูจน์โลหะทองคำของกลาง ที่ร้านค้านำมาแจ้งความดำเนินคดี จะต้องนำมาตรวจสอบอย่างละเอียด เพราะส่วนใหญ่ที่พบจะมีลักษณะเป็น ทองหุ้ม ทองผสม ทองชุบ พ่นสีทอง และแบบผสมผสาน ซึ่งมาตรฐานทองคำเมืองไทยจะอยู่ที่ 96.5% หมายความว่า มีทองคำบริสุทธิ์อยู่จริงๆ 96.5% ส่วนที่เหลืออีก 3.5% คือ ส่วนประกอบอื่นๆ เช่น แร่เงินกับแร่ทองแดงหรือโลหะต่าง ๆ
การตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ของโลหะทองคำ จะมี 4 วิธี คือ
กรณีที่วัตถุพยานเป็นโลหะทองคำ การวิเคราะห์จะใช้วิธีทางกายภาพ โดยการเปิดพื้นผิวด้วยกระดาษทราย เนื้อโลหะชั้นในจะมองเห็นเป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อนำไปทดสอบทางเคมีด้วยกรด เช่น กรดไนตริก รวมถึงการทำปฏิกิริยาทางเคมี เพื่อให้ทราบเป็นโลหะชนิดใด
ส่วนการนำไปทดสอบด้วยวิธีเผาไฟ ทองคำแท้จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งแตกต่างจากโลหะผสม ที่เมื่อนำไปเผาไฟจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทันที
หากนำไปวิเคราะห์หาชนิดของธาตุ โดยใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ เช่น เครื่อง x-ray fluorescence spectrometer (XRF) หลังจากนำวัตถุพยานเข้าเครื่อง XRF เพื่อวิเคราะห์หาชนิดของธาตุ จะพบว่าโลหะทองคำแท้เปอร์เซ็นต์ทองของทั้งบริเวณก่อนและหลังเปิดพื้นผิวจะต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น