svasdssvasds

MEA ร่วมกับ ขสมก. ร่วมมือพัฒนาพลังงานทดแทน อนุรักษ์พลังงาน

MEA ร่วมกับ ขสมก. ร่วมมือพัฒนาพลังงานทดแทน อนุรักษ์พลังงาน

MEA จับมือ ขสมก. ลงนามความร่วมมือพัฒนาพลังงานทดแทน ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืน

 

นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA และนายสันติ นำสินวิเชษฐชัย รองผู้ว่าการ MEA พร้อมด้วย นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และนางพริ้มเพรา วงศ์สุทธิรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการเดินรถ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การพัฒนาโครงการด้านพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน โดยร่วมกันพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การวิจัยและพัฒนาต้นแบบ EV Charging Station สำหรับรถเมล์ไฟฟ้าสาธารณะ ตลอดจนร่วมกันศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าและปรับลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า ณ อาคารวัฒนวิภาส การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่ คลองเตย เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา

 

ผู้ว่าการ MEA เปิดเผยว่า MEA ในฐานะรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ในการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยมุ่งมั่นพัฒนาระบบไฟฟ้าที่มั่นคงและมีประสิทธิภาพ วิจัยนำนวัตกรรมด้านพลังงานมาใช้ไปพร้อม ๆ กับการใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตามวิสัยทัศน์พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน โดยที่ผ่านมา MEA มีการสร้างความร่วมมือกับหลากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาการใช้พลังงานทดแทนให้เกิดประโยชน์กับองค์กร หน่วยงาน และประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง โดยในครั้งนี้ MEA ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การพัฒนาโครงการด้านพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน กับ ขสมก. โดย MEA ได้สนับสนุนนวัตกรรมและให้ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เพื่อผลักดัน ขสมก. ให้เป็นต้นแบบองค์กรด้านพลังงานที่ยั่งยืน ได้แก่

 

1. การให้ความร่วมมือในการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ด้วยการนำเทคโนโลยีระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) มาใช้เพื่อการประหยัดพลังงาน

2. การให้ความร่วมมือในการศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้า และปรับลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าในด้านต่าง ๆ ดังนี้

 

 

- การประหยัดพลังงานสำหรับระบบแสงสว่าง โดยเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED และใช้อุปกรณ์อัจฉริยะที่เกี่ยวข้องกับ IoT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโคมไฟส่องสว่าง (Smart Street Light) เช่น การปรับลดการส่องสว่างของโคมไฟถนนเมื่อไม่จำเป็น และเมื่อเกิดเหตุขัดข้องสามารถทราบได้ทันทีผ่านสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

- การประหยัดพลังงานสำหรับเครื่องปรับอากาศเดิม โดยเปลี่ยนมาใช้เครื่องปรับอากาศประสิทธิภาพสูง

- การใช้ Energy Management Software เพื่อบริหารจัดการระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop)

- การให้ความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การกักเก็บพลังงาน และการจ่ายพลังงาน

- การส่งเสริมและให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการใช้พลังงานกับบุคลากรภายในองค์กร

- การให้ความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนา การใช้หลอดไฟที่มีคุณสมบัติการปล่อย คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อกำจัดเชื้อไวรัสต่าง ๆ ได้แก่ โคโรนาไวรัส และไวรัสอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพบนรถประจำทางของ ขสมก.

- การให้ความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาต้นแบบ EV Charging Station ที่ใช้พลังงานที่ผลิตได้จาก Solar Rooftop ในเขตการเดินรถของ ขสมก. และประยุกต์เทคโนโลยี IoT Smart Parking เพื่อบริหารจัดการระบบคิวของการใช้ EV Charging Station ให้มีประสิทธิภาพ

 

ทั้งนี้ ขสมก. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจประเภทสาธารณูปโภค ในสังกัดกระทรวงคมนาคม มีหน้าที่ในการจัดบริการ รถโดยสารประจำทางวิ่งรับ-ส่งผู้โดยสาร ในเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง 5 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม โดยล่าสุด ขสมก. ได้ริเริ่มโครงการ EV BUS ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยมีการใช้รถ EV ที่ประกอบภายในประเทศ และมีสัดส่วนมูลค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตได้ภายในประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตได้ในประเทศทั้งหมด และเป็นรถชานต่ำ (Low Floor) ที่เป็น Universal Design และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายเพื่อลดมลภาวะและส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย ความร่วมมือระหว่าง MEA และ ขสมก. ในครั้งนี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ เพื่อยกระดับระบบสาธารณูปโภคของประเทศให้ทันสมัย รองรับกับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

 

Website : http://www.mea.or.th/content/detail/87/5511

 

MEA ร่วมกับ ขสมก. ร่วมมือพัฒนาพลังงานทดแทน อนุรักษ์พลังงาน

 

MEA ร่วมกับ ขสมก. ร่วมมือพัฒนาพลังงานทดแทน อนุรักษ์พลังงาน

related