svasdssvasds

คนไทยยิ้ม กกพ. รับนโยบายช่วยลดภาระประชาชน ตรึงค่าไฟงวดสุดท้าย ก.ย. - ธ.ค.ไว้เท่าเดิม 4.18 บาทต่อหน่วย

คนไทยยิ้ม กกพ. รับนโยบายช่วยลดภาระประชาชน ตรึงค่าไฟงวดสุดท้าย ก.ย. - ธ.ค.ไว้เท่าเดิม 4.18 บาทต่อหน่วย

คนไทยยิ้ม กกพ. รับนโยบายช่วยลดภาระประชาชนตรึงค่าไฟงวดสุดท้าย ก.ย. - ธ.ค.ไว้เท่าเดิม 4.18 บาทต่อหน่วยแง้มทิศทางปี 2568 สัญญาณบวกราคาเชื้อเพลิงลดลง

การปรับขึ้นค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปี 2567 หรือค่าไฟรอบบิลที่จะจ่ายเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน เป็นต้นไปจนถึงสิ้นปีวันที่ 31 ธันวาคม 2567 คนไทยเริ่มยิ้มออกได้แล้ว เพราะจะมีการเก็บอัตราค่าไฟฟ้า
เท่าเดิม หรือเก็บเท่ากับงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย

โดยที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ครั้งที่ 31/2567 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที งวดเดือนกันยายน - ธันวาคม 2567 อยู่ที่ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่เท่าเดิม 4.18 บาทต่อหน่วย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

ก่อนหน้านี้ สำนักงาน กกพ. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจาก 3 ทางเลือก ในการคิดคำนวณค่าเอฟที
ช่วงเดือนกันยายน - ธันวาคม 2567 เพื่อให้กระทบภาระประชาชนให้น้อยที่สุด ขณะเดียวกันยังคำนึงถึงการชำระหนี้คืนให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อให้มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น สามารถดำเนินการตามแผนชำระคืนหนี้เงินกู้ที่วางไว้เพื่อรักษาระดับความน่าเชื่อถือ และลดภาระดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นด้วย

สำหรับ 3 ทางเลือกที่เปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ ได้แก่ ทางเลือกแรก กรณีจะต้องปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเป็น 6.01 บาทต่อหน่วย หรือปรับขึ้นร้อยละ 44 ซึ่งแนวทางนี้จะมีการเก็บเงินเพื่อชดเชยต้นทุนคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงคืนให้กับ กฟผ. ทั้งหมดจำนวน 98,000 ล้านบาท และชำระคืนส่วนต่างค่าก๊าซธรรมชาติ (AFGas) ให้กับ กฟผ. และ ปตท. เป็นจำนวนเงินประมาณ 15,000 ล้านบาท แบ่งเป็นของ ปตท. ประมาณ 12,000 ล้านบาท และ กฟผ. ประมาณ 3,000 ล้านบาท

 

ทางเลือกที่สอง กรณีจะต้องปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเป็น 4.92 บาทต่อหน่วย หรือปรับขึ้นร้อยละ 18 โดยจะมีการทยอยชำระหนี้คงค้าง AF ให้กับ กฟผ. 3 งวดๆ ละประมาณ 32,832 ล้านบาท และชำระคืนหนี้ค่า AFGas   ให้กับ ปตท. และ กฟผ. อีกเป็นเงินประมาณ 15,000 ล้านบาท 

ทางเลือกสุดท้าย กรณีการปรับค่าไฟฟ้าเป็น 4.65 บาทต่อหน่วย หรือปรับขึ้นร้อยละ 11 โดยทยอยชำระหนี้คงค้างให้กับ กฟผ. 6 งวดๆ ละประมาณ 16,416 ล้านบาท และชำระคืนหนี้ค่า AFGas ให้กับ ปตท. และ กฟผ. เป็นเงินจำนวนประมาณ 15,000 ล้านบาท

ทั้ง 3 ทางเลือกดังกล่าวจะเห็นว่า มีหนี้สองก้อนจากภาระหนี้ที่จะต้องชำระคืน กฟผ. ประมาณ 98,000 ล้านบาท และหนี้ค่าก๊าซธรรมชาติที่จะชำระคืนให้กับ กฟผ. และ ปตท. ประมาณ 15,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินประมาณ 1.13 แสนล้านบาท ได้ถูกนำมาคิดคำนวณอยู่ในอัตราค่าไฟฟ้าด้วย

เรื่องนี้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มองว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่จะปรับขึ้นในช่วงนี้เป็นภาระกับประชาชนมากเกินไป จึงได้ประชุมหารือกับนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน, นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธาน กกพ., นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. และนายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.เพื่อหาทางออกลดภาระค่าครองชีพค่าไฟฟ้าให้กับของประชาชน ซึ่งได้ข้อสรุปค่าเอฟทีงวดดือนกันยายน - ธันวาคม 2567 อยู่ที่ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย หรือตรึงเอาไว้เท่าเดิม 

จากการเลือกแนวทางดังกล่าวนี้ คาดว่า กฟผ. จะได้รับการชำระหนี้คงค้างจาก 95,000 ล้านบาท 
ในงวดเดือนกันยายน - ธันวาคม 2567 จำนวน 5 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นเงินจำนวน 3,267 ล้านบาท ส่วนการชำระหนี้คงค้างค่า AFGas เป็นเงินจำนวน 15,000 ล้านบาท ในงวดเดือนกันยายน - ธันวาคม 2567 ให้ชะลอออกไปก่อน 

ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า การจ่ายคืนหนี้ให้ กฟผ. จำนวน 5 สตางค์ คิดเป็นเงิน 3,267 ล้านบาท ในงวดเดือนกันยายน - ธันวาคม 2567 จะทำให้ยอดหนี้คงค้าง กฟผ. เหลืออยู่ประมาณ 95,000 ล้านบาท 
จากเดิม 98,000 ล้านบาท ส่วนหนี้คงค้างค่า AFGas ยังเท่าเดิมอยู่ที่ 15,000 ล้านบาท

“ทาง กฟผ. และ ปตท. ได้ทำหนังสือถึง สำนักงาน กกพ. เพื่อสนับสนุนแนวทางการปรับค่าเอฟที 
ซึ่งถือว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือรับภาระค่าครองชีพแทนประชาชน ในช่วงนี้ กฟผ. และ ปตท. ร่วมรับภาระหนี้ไปก่อน หลังจากนี้จะมีการหารือวิธีการชำระหนี้ให้ กฟผ. และ ปตท. ในอนาคตต่อไป” โฆษก กกพ. กล่าว 

จากแนวทางการตรึงค่าไฟฟ้าเอาไว้เท่าเดิม 4.18 บาทต่อหน่วย สอดรับกับความรู้สึกของประชาชน หลังจากผลการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจาก 3 ทางเลือก ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงาน กกพ. มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็น รวม 146 ราย พบว่า มีผู้ที่แสดงความเห็นให้ลดค่าไฟฟ้า และไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้น
ค่าไฟฟ้าในงวดเดือนกันยายน - ธันวาคม 2567 มีสัดส่วนสูงถึง 26.03% รองลงมามีผู้ที่เห็นด้วยกับแนวทาง

ที่ 3 ให้ปรับขึ้นค่าไฟอยู่ที่ 4.65 บาทต่อหน่วย มีสัดส่วน 19.18% มีผู้ที่เห็นด้วยกับแนวทางที่ 2 ให้ปรับขึ้น
ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.92 บาทต่อหน่วย มีสัดส่วนเพียง 4.79% และมีผู้ที่เห็นด้วยกับแนวทางที่ 1 ปรับขึ้นค่าไฟอยู่ที่ 6.01 บาทต่อหน่วย มีสัดส่วน 13.01% อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้แสดงความคิดเห็นอื่นๆ อีกด้วยมีสัดส่วนอยู่ที่ 26.71%

ส่วนแนวโน้มค่าไฟฟ้าในปี 2568 จะเป็นอย่างไรนั้น ดร.พูลพัฒน์ กล่าวว่า ทิศทางราคาเชื้อเพลิงในช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2568 มีสัญญาณลดลง หลังจากช่วงปลายปี ซึ่งเป็นฤดูหนาวที่ประเทศ
แถบยุโรปมีความต้องการใช้เชื้อเพลิงจำนวนมาก ทำให้ LNG มีราคาอยู่ที่ประมาณ 13 USD/MMBtu แต่คาดว่าช่วงต้นปี 2568 ราคา LNG มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่ำกว่า 13 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู

เมื่อบวกกับสัญญาณที่ดีจากปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะมีผลผลิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้มีปริมาณเชื้อเพลิงราคาถูกเข้ามาป้อนให้กับโรงไฟฟ้ามากขึ้นจากปัจจัยบวกดังกล่าว ทำให้มีโอกาสจะเห็นค่าไฟฟ้างวดเดือนมกราคม - เมษายน 2568 อยู่ในอัตราเดิม 4.18 บาทต่อหน่วย อย่างไรก็ตาม ยังมีภาระที่จะต้องชำระหนี้คืนให้กับ กฟผ. จำนวน 95,000 ล้านบาท และค่า AFGas จำนวน 15,000 ล้านบาท ซึ่งการกำหนดระยะเวลาในการชำระหนี้คืนย่อมจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระเงินกู้ของ กฟผ. รวมถึงการถูกจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินด้วย

ทางออกเกี่ยวกับการชำระหนี้ของ กฟผ. กระทรวงพลังงานมีนโยบายให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาหาทางออกให้เป็นรูปธรรม ประกอบไปด้วย ผู้แทนจากกระทรวงพลังงาน, กฟผ., ปตท. และ กกพ. เพื่อพิจารณาหาทางออกที่ดีที่สุด โดยยึดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้พลังงาน ผู้ประกอบกิจการพลังงาน และประโยชน์โดยรวมของประเทศ
                         

related