กระทรวงมหาดไทยจัดพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศลและพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ เนื่องในวันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
วันนี้ (30 พ.ค. 66) เวลา 06.09 น. ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศลและพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ เนื่องในวันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้รับเมตตาจาก สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร นำพระสงฆ์ สามเณร 20 รูป รับบิณฑบาต
โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทยด้านบริหาร นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และคณะผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และภาคีเครือข่าย ร่วมพิธี
จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นำคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ร่วมวางพวงมาลาถวายราชสักการะ และจุดธูป เทียน เครื่องทองน้อย เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และยืนสงบยิ่งด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อปีพุทธศักราช 2468 ตลอดระยะเวลา 9 ปี ที่เสด็จสถิตในสิริราชสมบัติ พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญนานัปการที่ก่อประโยชน์แก่มวลอาณาประชาราษฎร์ ด้วยหลักทศพิธราชธรรม เพื่อความผาสุกของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ได้แก่
"ด้านการปกครอง" พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตยทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะอภิรัฐมนตรีเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน เพื่อเป็นที่ปรึกษาราชการและทดลองฝึกหัดวิธีการของรัฐสภา ทรงพัฒนาการเมืองระดับท้องถิ่น โดยจัดการปกครองแบบเทศบาล หรือเรียกว่า "ประชาภิบาล" เพื่อเป็นการฝึกฝนให้ราษฎรเรียนรู้วิถีทางประชาธิปไตย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475" เป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
"ด้านการศาสนา" ทรงปลูกฝังเยาวชนให้มีคุณธรรมดีงาม โดยยึดหลักคำสอนของศาสนาพุทธ โปรดให้ราชบัณฑิตยสภาแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็ก ซึ่งนับว่าพระองค์ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงให้แต่งหนังสือสำหรับเด็ก ส่วนการศึกษาในพระพุทธศาสนานั้น โปรดให้สร้างหนังสือพระไตรปิฎกภาษาบาลี เรียกว่า "ฉบับสยามรัฐ" เพื่อเชิดชูพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
"ด้านศิลปวัฒนธรรม" พระองค์ทรงสถาปนาราชบัณฑิตยสภา เพื่อจัดการหอพระสมุดสำหรับพระนครและสอบสวนพิจารณาวิชาอักษรศาสตร์ เพื่อจัดการพิพิธภัณฑสถานตรวจรักษาโบราณสถานและโบราณวัตถุ และเพื่อจัดการบำรุงรักษาวิชาช่าง นอกจากนี้ ทรงส่งเสริมสร้างสรรค์วรรณกรรมรุ่นใหม่ ด้วยการประกวดเรียบเรียงบทประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง
"ด้านการศึกษา" ทรงส่งเสริมการศึกษาของชาติ โดยการประกาศพระราชบัญญัติประถมศึกษา พุทธศักราช 2464 ทรงโปรดให้สร้างหอพระสมุดสำหรับพระนครเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าศึกษาได้อย่างเสรี ทรงโปรดให้ตราพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2475 พระราชทานเงินส่วนพระองค์เป็นรางวัลแก่ผู้แต่งหนังสือยอดเยี่ยม และให้ทุนนักเรียนไปศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์จากต่างประเทศ รวมทั้งทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรก ที่เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2473 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ" ทรงดำเนินกิจการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ เช่น การให้สัตยาบันสนธิสัญญาต่าง ๆ นอกจากนี้ยังทรงทำสัญญาใหม่ ๆ กับประเทศเยอรมนีหลังสถาปนาความสัมพันธ์ขั้นปกติ เมื่อพุทธศักราช 2471 และทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสเกี่ยวกับดินแดนในลุ่มแม่น้ำโขง เรียกว่า สนธิสัญญาอินโดจีน พุทธศักราช 2469" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากพระราชกรณียกิจดังกล่าวข้างต้น องค์การยูเนสโก จึงได้ประกาศยกย่องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ประจำปีพุทธศักราช 2557 – 2558 ในวาระครบรอบ 120 ปี พระบรมราชสมภพ และในวาระครบ 100 ปี การเสด็จนิวัตพระนครเพื่อปฏิบัติพระราชกรณียกิจแก่ปวงชนชาวไทย ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน
“ด้วยดวงจิตที่บริสุทธิ์ของข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ สมาคมแม่บ้านมหาดไทย และภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทย ที่ล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และจักน้อมนำแนวทางการทำงานที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในการปฏิบัติหน้าที่และดำรงตน เพื่อสร้างประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติสืบไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย