หมุดหมายของบทบาทผู้หญิงในทางเศรษฐกิจ กับ โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรทางธุรกิจเพื่อการเติบโต ในเส้นทางผู้ประกอบการและการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ
โอกาสทางการศึกษาทำให้ผู้หญิงก้าวออกมาจากการเป็นเช้าเท้าหลัง ขึ้นมายืนเสมอหน้ากันกับผู้ชายในทุกสาขาอาชีพ โดยเป็นที่ยอมรับในหลายๆ วงการ ทั้งบทบาทการเป็นผู้นำประเทศและนักธุรกิจหญิงแนวหน้า ในช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ได้มีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Exeter สหราชอาณาจักร ระบุคำที่น่าสนใจออกมา คือ “หน้าผาแก้ว” หรือ glass cliff ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ผู้หญิงเข้ามารับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในช่วงเวลาวิกฤติ หรือ ขณะที่องค์กรตกอยู่ในช่วงเวลาถดถอย หลังชนฝา แต่ด้วยคุณสมบัติ “ความเป็นผู้หญิง” ที่มีความเห็นอกเห็นใจ และความเต็มใจที่จะประสานความร่วมมือกันกับทุกฝ่าย มากกว่าเพียงการเอาชนะ จึงมีส่วนช่วยนำพาประเทศและเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้
ปัจจุบันความรู้ ความสามารถ ไม่มีกรอบจำกัดว่าคุณจะมีเพศอะไร อายุเท่าไหร่แต่ทุกคนสามารถคว้าความสำเร็จได้เช่นกัน ถ้าได้รับความเท่าเทียมในการเข้าถึงแหล่งลงทุนเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการได้อย่างมั่นใจ
ทั้งนี้ยังพบว่าหนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่ยังขวางทางการยกระดับพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงคือ การเข้าถึงทรัพยากร ทั้งในเรื่องของเงินทุน งาน และตำแหน่งหน้าที่ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ เป็นต้น
ข้อมูลจาก countrymeters.info ที่รายงานตัวเลขจำนวนประชากรแบบเรียลไทม์ ระบุว่าประเทศไทยปัจจุบันมีจำนวนประชากรอยู่ที่ประมาณกว่า 70 ล้านคน โดยมีประชากรเพศหญิงอยู่ที่ประมาณ 34 ล้านคน คิดเป็นจำนวน 49% ของทั้งหมด ซึ่งการพัฒนาเพื่อดึงศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ที่นอกจากมีผลดีทางเศรษฐกิจ ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำและการสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและประเทศ
วันที่ 18-19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ที่จะถึงนี้ เป็นวันที่ประเทศไทยรับหน้าเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC 2022 ได้กำหนดการส่งเสริมประเด็นเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศเป็นวาระที่จะมีการพูดคุยภายในงาน รวมถึงบทบาทและพลังทางเศรษฐกิจของผู้หญิงในยุคหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจในมุมมองใหม่ สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงทุกคน ทุกสถานะ กล้าที่ก้าวออกมาทำ
ตามความฝัน
สำหรับในไทยเอง ก็ไม่น้อยหน้า มีผู้ประกอบการหญิงที่กล้าริ่มต้นลงมือทำธุรกิจของตัวเอง รวมถึงผู้คิดค้นงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกด้วยเช่นกัน วันนี้จึงอยากพาไปรู้จักกับหญิงไทยคนเก่งที่พกความแข็งแกร่ง ยืนหยัด
และได้รับเสียงชื่นชมเป็นที่น่าภาคภูมิใจของคนไทย
คุณนวลนภา เจริญรวย นักธุรกิจหญิงที่ประสบความสำเร็จ เจ้าของต้นแบบสวนทุเรียนพรีเมียมที่ตำบลวังหว้า อำเภอแกลง จังหวัดระยอง โดดเด่นด้วยการนำนวัตกรรมถุงห่อผลไม้นอนวูฟเวน หรือ Magik Growth เพื่อห่อทุเรียนสำหรับการส่งออก เป็นการดำเนินธุรกิจที่ใช้แนวคิด Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG Economy ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลได้ประกาศไว้
นวัตกรรมดังกล่าวตอบโจทย์ “ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน” ด้วยการนำกลับมาใช้ซ้ำได้ถึง 3 ฤดูกาลผลิต ทั้งยังเป็นการประหยัดลดต้นทุนให้กับเกษตกร เดินตามแนวทาง “ระบบเศรษฐกิจสีเขียว” ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมลดการใช้สารเคมีเพื่อกำจัดศัตรูพืช
ซึ่งเป็นการได้ผลทางบวกสองต่อ คือหนึ่งการลดมลพิษทางธรรมชาติ ลดสร้างภาระให้แก่โลกของเรา และสองได้ประโยชน์ในเชิงผลผลิตที่ช่วยให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ด้วยน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น 10% จากเปลือกที่บางลงถึง 30% เป็นการอัปเกรดสินค้าเข้าสู่ตลาดพรีเมียม สร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับธุรกิจและภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยนวัตกรรมดังกล่าวได้มีเอกชนนำมาผลิตเพื่อเป็นทางเลือกทางเทคโนโลยีการผลิตเรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้รับสิทธิอย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ ยังมีนักวิจัยหญิงชาวไทยอีก 2 คน ที่ได้รับทุนเพื่อสนับสนุนงานวิจัย ในโครงการรางวัลสตรีนักวิจัยเอเปค-ออสเตรเลีย ประจำปี 2565 (APEC-Australia Women in Research Fellowship 2022) ได้แก่ ดร.ดวงกมล เบ้าวัน เจ้าของโครงการวิจัย “แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อทดสอบปฏิกิริยาตอบสนองทางพลังงานของอนุภาคนาโนแม่เหล็ก”
และ ดร.ขวัญจิรา แก้วแฝก เจ้าของโครงการวิจัย “ความเสี่ยงและปัญหาอุปสรรคในการจัดการควบคุมห่วงโซ่ความเย็นของวัคซีนโควิด-19”
ความท้าทายในอนาคตสำหรับแต่ละประเทศเพื่อดึงศักยภาพผู้หญิงให้มีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่ช่วยกระตุ้นการพัฒนาภายในประเทศให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเท่าเทียมโดยเสมอภาคกัน
ที่มา