‘วราวุธ’ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เล็งเสนอแผนจัดทำแผนที่น้ำบาดาลอย่างละเอียดทุกภาคทั่วประเทศ หวังพบบ่อน้ำบาดาลมากขึ้น แก้ปัญหาภัยแล้งได้ในระยะยาว พร้อมฝากเอกชนควรมีจิตสำนึก อย่าปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำ
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวในงานประชุมวิชาการน้ำบาดาลนานาชาติ ครั้งที่ 1 หัวข้อ น้ำบาดาล : กุญแจสู่ความมั่นคงและยั่งยืน (1st Thailand Groundwater Symposium : Key to Water Security and Sustainability) ว่า วันนี้ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีการจัดงานประชุมเรื่องน้ำบาดาลครั้งใหญ่ และได้รับการตอบรับจากวิทยากรจากทั่วโลก ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลของการสัมมนาในวันนี้ จะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ระหว่างกัน เพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อคนไทยมากที่สุด เพราะหลายพื้นที่ยังประสบปัญหาภัยแล้ง และต้องการความช่วยเหลือเรื่องน้ำอุปโภค – บริโภค ซึ่งปัจจัยภัยแล้งที่เกิดขึ้น ก็เป็นผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ความสำคัญ และถือเป็นพันธกิจหลักที่ต้องเร่งดำเนินการ
สำหรับสถานการณ์น้ำบาดาลในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ในเรื่องของปริมาณยังถือว่าทรงตัว แต่หากต้องการให้มีแหล่งน้ำบาดาลใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ก็อยู่ที่กระบวนการสำรวจใต้ดินของประเทศไทย ว่าพัฒนาและทันสมัยมากขึ้นเพียงใด ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาแผนที่น้ำบาดาลยังถือว่าไม่ละเอียดมากนัก ต้องมีการของบประมาณจากรัฐบาล เพื่อจัดทำแผนที่ฯ ให้มีความละเอียดมากขึ้นในทุกภาคของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการของบประมาณอยู่ และต้องฝากไปยังผู้ประกอบการภาคเอกชนในบางพื้นที่ ว่าไม่ควรแอบปล่อยน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ลงในบ่อน้ำธรรมชาติ และหนักที่สุดคือการปล่อยน้ำเสียลงไประดับใต้ดิน ทำให้แหล่งน้ำใต้ดินปนเปื้อน ซึ่งไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง และเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จึงอยากฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมควบคุมมลพิษ หรือกรมโรงงานอุตสาหกรรม ทำการแจ้งโรงงานเหล่านั้นให้หยุดดำเนินการโดยด่วน ก่อนที่แหล่งน้ำภายในประเทศจะปนเปื้อนน้ำเสียไปมากกว่านี้
.
อย่างไรก็ตามในหลายประเทศเริ่มมีการใช้น้ำบาดาล เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำมากขึ้น เช่น เดนมาร์ก ก็ใช้น้ำบาดาลอุปโภค - บริโภคเกือบ 100% และสหรัฐอเมริกาก็ใช้น้ำบาดาลเพื่ออุปโภค – บริโภคเกินครึ่งประเทศ ส่วนประเทศไทย เทคโนโลยีการขุดเจาะน้ำบาดาลในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้พัฒนาและเติบโตอย่างก้าวกระโดด และได้ดำเนินการเจาะบ่อบาดาลกว่า 10,000 บ่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องขอบคุณนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และเจ้าหน้าที่ทุกคน ที่ได้พลิกโฉมน้ำบาดาลของประเทศไทย ทำให้ช่วยเหลือประชาชนได้ในระดับพื้นที่วงกว้างมากขึ้น แต่น้ำบาดาลก็มีวันหมด จึงอยากให้ประชาชนใช้กันอย่างระมัดระวังด้วยเช่นกัน