svasdssvasds

จรัญ ไม่เห็นด้วยปมศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองของประชาชน

จรัญ ไม่เห็นด้วยปมศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองของประชาชน

จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เห็นด้วยปมศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองของประชาชน ลั่น หน้าที่ที่อยากเห็นคือยกเลิกคำสั่งคณะรัฐประหารทั้งหมด

SHORT CUT

  • ศาลรัฐธรรมนูญได้พัฒนาสถานะจากองค์กรอิสระไปเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายตุลาการ ซึ่งมีความสำคัญต่อการถ่วงดุลอำนาจอธิปไตย
  • ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญเสนอว่า ศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันควรวินิจฉัยให้ประกาศของคณะปฏิวัติที่หมดอำนาจไปแล้วสิ้นสภาพความเป็นกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
  • ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญเสนอแนวทางการดำเนินงานของศาลรัฐธรรมนูญ 3 ข้อ ได้แก่ 1) ไม่เปิดช่องให้การแทรกแซงจากอำนาจต่างๆ 2) ยกระดับมาตรฐานให้เทียบเท่าสากลแต่ปรับให้เข้ากับบริบทไทย และ 3) ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง

จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เห็นด้วยปมศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองของประชาชน ลั่น หน้าที่ที่อยากเห็นคือยกเลิกคำสั่งคณะรัฐประหารทั้งหมด

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 268 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จัดงานสัมมนาอภิปรายร่วมกัน หัวข้อ “ศาลรัฐธรรมนูญกับการก้าวสู่ทศวรษที่ 4 บทบาทและความคาดหวัง”

ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐรรมนูญ , ศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์, ศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีนายบากบั่น บุญเลิศ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมกรรมการ บริษัท ฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย จำกัด เป็นผู้ดำเนินรายการ 

ประเด็นแรกให้วิทยากรแต่ละคนให้คะแนนการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาสตราจารย์พิเศษจรัญ กล่าวว่า ตนอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญมา 12 ปีเต็ม ทำงานเต็มที่ และพยายามศึกษาความเป็นมา เริ่มตั้งแต่คดีซุกหุ้น ศาลรัฐธรรมนูญถูกมองว่าไม่ใช่ศาลแต่เป็นองค์กรอิสระ และถูกตั้งฉายาว่าเป็นศาลการเมือง จึงต้องทำให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีสถานะเป็นศาลเป็นฝ่ายตุลาการของประเทศไม่ใช่เป็นเพียงการตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญ มีสถานะเป็นเพียงองค์กรอิสระ จะไม่มีความมั่นคงเข้มแข็งพอที่จะถ่วงดุลทางการใช้อำนาจอธิปไตย คือฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ซึ่ง ป.ป.ช. ก็ตรวจสอบเฉพาะด้าน ทุจริตและประพฤติมิชอบ กกต. ก็รับหน้าที่ดูแลด้านการจัดการเลือกตั้ง ดังนั้นถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีสถานะเป็นฝ่ายตุลาการ เหมือนศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ จะไม่สามารถคานอำนาจหน้าที่ฝ่ายบริหารและฝ่าย นิติบัญญัติได้ และเห็นว่านับตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ถือว่าศาลรัฐธรรมนูญทำภารกิจนี้สำเร็จ โดยถ้าจะให้คะแนน ก็จะให้ 80 เปอร์เซ็นต์

ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ กล่าวว่า ประกาศของคณะปฏิวัติมีสถานะเป็นกฎหมายยั่งยืนยาวนาน แม้พ้นภารกิจไปแล้ว ดังนั้นประกาศของคณะปฏิวัติไม่น่าจะเป็นกฎหมายได้อีกต่อไป ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาที่แก้ไม่จบ เพราะเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ จึงอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญชุดปัญจจุบัน แก้ให้ได้ เพียงแค่วินิจฉัยว่าคณะปฏิวัติที่พ้นจากอำนาจไปแล้วบรรดาคำสั่งประกาศที่เคยเป็นกฎหมาย พ้นสภาพความเป็นกฎหมายต่อไป ถ้าตุลาการใช้อำนาจที่มีสามารถกำหนดเงื่อนไขเงื่อนเวลาสภาพบังคับคำวินิจฉัยได้ ส่วนประกาศใดของคณะรัฐประหารที่ต้องการให้เป็นกฎหมายต่อก็ให้ออกเป็นพ.ร.บ.ผ่านสภาฯ แต่ก็ไม่ทำ นี่คือสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญยุคใหม่และสิ่งที่ประชาชนคนไทยอยากเห็นอยากได้ ไม่เช่นนั้นจะเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้อย่างไรถ้าเอาประกาศคณะปฏิวัติมาเป็นกฎหมาย และขอร้องฝ่ายการเมือง ฝ่ายนิติบัญญัติอย่า เขียนกฎหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลใด ต้องสั่งให้ยุบพรรคการเมือง มันไม่มีประโยชน์อะไร เพราะการยุบพรรคการเมืองทำให้ประชาชน ที่สามัคคีกันกลายเป็นเผชิญหน้า

ส่วนการดำเนินงานของศาลธรรมนูญขอ 3 ข้อ คือ 1.ไม่เปิดช่องให้อำนาจรัฐ อำนาจทุน อำนาจเถื่อน เข้ามาแทรกแซงชี้นำครอบงำ การทำงานของเหล่าตุลาการ 

2.ต้องสำรวจมาตราฐานของศาลรัฐธรรมนูญของนานาประเทศ ว่าเราชอบธรรมหรือไม่ ต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล แต่ต้องปรับให้พร้อมกับอารยธรรมชีวิตและระบบกฎหมายของไทย เช่น ประเทศอื่นมีกาสิโนมีเงินเข้าประเทศ 2-3หมื่นล้านบาท แต่อารยธรรมของไทยไม่ใช่ 

3.เราต้องทำภารกิจที่สำคัญอีกอย่างคือใช้นโยบายเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่กอบโกยกันตามกำลัง มือใครยาวสาวได้สาวเอา

related