SHORT CUT
นภาพล เผย ยอดหนี้ BTSC พุ่งกว่า 5 หมื่นล้าน ชัชชาติ ยันต้องสู้ต่อ สภาอนุมัติจ่ายบางส่วนแล้วแต่ปมฟ้องร้องยังไม่จบ รอผลศึกษา พ.ร.บ.ร่วมทุนหาแนวทางแก้ไข
วันที่ 9 เมษายน 2568 ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 2) ประจำปี 2568 ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา นายนภาพล จีระกุล ส.ก. เขตบางกอกน้อย รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (บางส่วน)
สภากรุงเทพมหานครได้มีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในคราวประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก ครั้งที่ 2 ประจำปี พุทธศักราช 2566 เมื่อวันพุธที่ 11 มกราคม 2566 และสมัยประชุมวิสามัญ สมัยแรก ครั้งที่ 2 ประจำปี พุทธศักราช 2567 เมื่อวันพุธที่ 19 มิถุนายน 2567 โดยมีคณะกรรมการวิสามัญ จำนวน 26 คน
คณะกรรมการวิสามัญได้จัดประชุมรวมทั้งสิ้น 7 ครั้ง โดยมีการศึกษาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับการชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและค่าซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทั้งส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2
โดยได้มีการประชุมร่วมกับสำนักการจราจรและขนส่ง และเชิญบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เข้าร่วมให้ข้อมูล ซึ่งสำนักการจราจรและขนส่ง ได้รายงานต่อคณะกรรมการว่า มีการชำระค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแล้ว เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 14,476,884,201.60 บาท บาท โดยได้ชำระให้สำนักงานบังคับคดี สำนักงานศาลปกครองแล้ว เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567
ส่วนที่ยังไม่ได้ชำระ ได้แก่ ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ส่วนที่ยังค้างชำระ ประกอบด้วย ค่าจ้างเดินรถช่วงฟ้องครั้งที่สอง (มิ.ย. 64 - ต.ค. 65) 12,245 ล้านบาท ค่าจ้างเดินรถหลังฟ้องครั้งที่สอง (พ.ย. 65 - ธ.ค. 67) 17,121 ล้านบาท ค่าจ้างเดินรถ (ม.ค. - ธ.ค. 68) 8,761 ล้านบาท
อีกประเด็นสำคัญคือ การฟ้องร้องระหว่างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC กับ กทม. และกรุงเทพธนาคม โดย BTSC ฟ้องศาลปกครองกลาง 2 คดี คือ ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงของส่วนต่อขยายที่หนึ่ง (พ.ค. 62 - พ.ค. 64) และส่วนต่อขยายที่สอง (เม.ย. 60 - พ.ค. 64)
ข้อสรุปเกี่ยวกับการชำระเงินค่าจ้างเดินรถในส่วนที่ฟ้องครั้งที่สองและส่วนที่ยังถึงกำหนดและยังไม่ได้ชำระในการพิจารณาของกรรมการฯ แบ่งเป็น ประเด็นดังนี้ข้อพิจารณาเกี่ยวกับการชำระเงินค่าจ้างเดินรถและการซ่อมบำรุง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ฟ้องต่อศาลปกครองกลางขอให้กรุงเทพมหานคร ชำระค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงค้างชำระจำนวนสองคดี ดังนี้ ฟ้องครั้งที่หนึ่ง คำฟ้องวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 เป็นค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงของส่วนที่หนึ่ง (พ.ค. 62 - พ.ค. 64 และต่อขยายสอง (เม.ย. 60 - พ.ค. 64)
โดยได้ชี้แจงต่อศาล กรณีไม่ชำระค่าจ้างเดินรถเนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขการเจรจาซึ่งดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความปลอดภัยหัวหน้าคณะรักษาความสงบสุขแห่งชาติ (คสช.)
ผลเจรจากำหนดให้เอกชนผู้รับสัมปทานเป็นผู้รับผิดชอบค่าจ้างการเดินรถซ่อมบำรุงส่วนที่หนึ่งและที่สองโดยได้โต้แย้งซึ่งข้อจำกัดทางกายภาพของสถานีสะพานตากสิน S6 เป็นรางเดียวทำให้มีการบริหารในชั่วโมงเร่งด่วนลดลง
เป็นเหตุให้ต้องมีการปรับลดค่ากระแสไฟฟ้าและทาง กรุงเทพธนาคม ได้เจรจากับผู้ฟ้องได้ข้อสรุปร่วมกันมีการปรับลดค่าจ้างเดินรถส่งผลให้ยอดหนี้ซึ่งเป็นยอดของส่วนต่อขยายที่หนึ่งจากเดิมมีเงินต้นและดอกเบี้ย 2,731,199,852.94 บาท ปรับลดเหลือเป็น 2,348,659,232.93 บาท (ลดลง 382,540,650.01 บาท)
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการที่ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ให้เดินรถและบำรุงรักษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย
โดยปรากฏว่าการทำสัญญาระหว่าง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กับ BTSC มิได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2562 ซึ่งอาจมีข้อสงสัยในประเด็นของการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย หรืออาจมีผลต่อความชอบด้วยกฎหมายของสัญญา
คณะกรรมการวิสามัญฯ จึงเห็นว่า การพิจารณาเรื่องนี้ควรดำเนินการด้วยความรอบคอบ โดยอาศัยข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน รวมถึงคำวินิจฉัยของศาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เพื่อให้การดำเนินการใด ๆ ต่อไปของกรุงเทพมหานคร เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่ก่อให้เกิดภาระหนี้ผูกพันที่อาจสร้างผลกระทบต่อประชาชนและงบประมาณของกรุงเทพมหานครในระยะยาว
ทั้งนี้ คณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีความเห็นว่ากรุงเทพมหานครควรดำเนินการให้มีความชัดเจนในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
ปัญหาการฟ้องร้อง
ปัญหาการฟ้องร้องระหว่าง BTSC กับ กทม. และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่นายนภาพลได้หยิบยกขึ้นมา โดย BTSC ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางถึง 2 ครั้ง
1. การฟ้องครั้งที่ 1 (วันที่ 15 กรกฎาคม 2564)
2. การฟ้องครั้งที่ 2
เป็นค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ต่อมาจากการฟ้องครั้งที่ 1 โดยเป็นค่าจ้างเดินรถฯ ของส่วนต่อขยายที่หนึ่งและสอง (มิ.ย. 64 - ต.ค. 65) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลางและยังไม่กำหนดวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง
นายนภาพลยังระบุว่า กทม. ได้ชี้แจงต่อศาลว่าไม่ใช่คู่สัญญาโดยตรงกับ BTSC จึงไม่ควรรับผิดตามสัญญา ขณะที่กรุงเทพธนาคมโต้แย้งว่า BTSC ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการเจรจาร่วมทุนตามคำสั่ง คสช. และยอดหนี้ที่เรียกร้องสูงเกินจริง อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองกลางไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 โดยเห็นว่าข้อโต้แย้งของ กทม. และกรุงเทพธนาคมเป็นประเด็นที่ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาไปแล้ว
ทางด้าน นายณภัค เพ็งสุข ส.ก.เขตลาดพร้าว ได้ทวงถามประธานคณะกรรมวิสามัญฯ โดยมี 5 สาระสำคัญ ดังนี้
ด้านนายนภาพล ได้ชี้แจงรายละเอียดตามข้อสงสัย ข้อที่หนึ่ง หลังจากที่ ป.ป.ช. ชี้มูล กรุงเทพมหานครได้ให้อัยการทำหนังสือคำร้องต่อศาลเพื่อพิจารณาคดีใหม่ว่าเรื่องนี้ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดกับหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร และศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาแล้ว ข้อมูลที่มีการร้องในเรื่องนี้ อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดแล้ว ดังนั้น ประเด็นนี้ไม่มีผลทำให้คำพิพากษาของศาลปกครองเปลี่ยนแปลง ศาลปกครองจึงไม่รับพิจารณาคดีใหม่
ในขณะเดียวกันทางบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้มีหนังสือขอให้พิจารณาคดีใหม่ แต่คดีของกรุงเทพมหานครที่กล่าวถึงในตอนแรก อัยการสูงสุดได้พิจารณาคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดแล้ว อัยการเห็นควรตามที่ศาลปกครองได้มีคำสั่งออกมาว่าอัยการไม่อุทธรณ์คำสั่ง จึงถือว่าเป็นที่สุด
ในกรณีที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้มีคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ที่ศาลปกครอง ในประเด็นเดียวกับที่กรุงเทพมหานครได้ขอไป เมื่อกรุงเทพมหานครขอไปแล้วไม่ให้ ดังนั้น ที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ร้องไปก็น่าจะออกในแนวทางเดียวกัน
“ถ้าช้าไปเพียงหนึ่งวันกรุงเทพมหานครก็จะเกิดความเสียหาย ดอกเบี้ยวันละ 5.4 ล้านบาท และช่วงนั้นก็ใกล้ตามระยะเวลาที่ศาลปกครองสูงสุดได้ให้เวลาในการชำระหนี้กับบริษัทผู้รับจ้างแล้ว นั่นคือ 180 วัน ถ้าสภาล่าช้า สภาอาจจะมีปัญหา แต่ถ้าสภามีความเห็นไปแล้ว ก็อยู่ที่ฝ่ายบริหารจะดำเนินการชำระหรือไม่”
ถัดมาเรื่องการชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช. ตอนนี้มีเอกสารหลักฐานเป็นหมื่นใบ ส่วนนี้เป็นความลับของ ป.ป.ช. ไม่สามารถขอมาดู หรือเปิดเผยได้
ประเด็นถัดมา กรณีการรายงานบางส่วน สาเหตุเพราะว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน ถ้ารายงานช้ากรุงเทพมหานครจะเสียหาย ก่อนรายงานมีการประชุมมา 7 ครั้ง เมื่อมีประเด็นที่ กทม.ต้องชำระเงินและดอกเบี้ย จำนวน 5,400,000 บาทต่อวัน ค่อนข้างเยอะพอสมควร ดังนั้น การรายงานเพียงบางส่วนเกี่ยวกับการชำระหนี้ที่ค้างชำระ หนีก้อนแรกมีการชำระไปแล้วกว่า 14,000 ล้านบาท
หนี้ก้อนที่สองคือหนี้ที่ฟ้องอยู่ในศาลอยู่ในขณะนี้ หนี้ก้อนที่สาม ที่ถึงกำหนดแล้ว แต่ยังไม่มีการฟ้อง เหล่านี้เป็นหนี้ที่เกิดจากสัญญาเดียวกัน และศาลพิพากษาแล้วว่าสัญญาที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด โดยกรุงเทพมหานครมอบหมายให้ดำเนินการ เป็นสัญญาที่ผูกพันกับกรุงเทพมหานคร ต้องรับผิดร่วมกัน ดังนั้น ถ้าดูจากบรรทัดฐานของหนี้ก้อนแรก แนวทางออกมาไม่น่าจะเป็นทางอื่นไปได้
“ตอนนี้ ศาลยังไม่หยุดที่จะแสวงหาข้อเท็จจริง ถ้าจากนี้ต่อไปอีก 1 ปี วันหนึ่งเสีย 5,400,000 บาท คูณ 365 เท่ากับเท่าไร ดังนั้น จึงรีบรายงานบางส่วนเพื่อให้มีการสรุปแล้วให้ฝ่ายบริหารไปปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ถ้าไม่เร่งรายงานฝ่ายบริหารจะดำเนินการไม่ได้”
ส่วนคดีที่สอง ที่มีความเห็นว่าสมควรต้องชำระ จากนั้นฝ่ายบริหารไปเจรจา ซึ่งตอนนี้ก็มีการตั้งทีมเจรจากับ BTS เพื่อขอปรับลดทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยได้หรือไม่ เพราะขั้นตอนในการเบิกจ่ายของกรุงเทพมหานครมีขั้นตอนตามกฎหมาย อาจจะล่าช้าไปบ้าง ส่วนการเจรจากับผู้ฟ้อง มีการตั้งทีมเจรจาแล้ว ส่วนเรื่องสัมปทานยังพิจารณาไม่จบ ยังต้องรอพิจารณาในลำดับต่อไป
ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า ปัญหานี้ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างฝ่ายบริหารและสภากรุงเทพมหานคร เนื่องจากการชำระหนี้ทุกบาทต้องได้รับอนุมัติจากสภา ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการมาแล้ว 2 ครั้ง การตั้งคณะกรรมการวิสามัญ จึงเป็นขั้นตอนสำคัญในการหาข้อสรุปที่ชัดเจนก่อนเสนอญัตติเข้าสภา
สำหรับการก่อหนี้ผูกพันในอนาคต เช่น สัญญาจ้างเดินรถหลังจากนี้ นายชัชชาติระบุว่า ต้องให้สภากทม. พิจารณาก่อน เพราะหากผู้ว่าฯ ไปก่อหนี้ผูกพันมูลค่าหลายแสนล้านโดยไม่ได้รับความเห็นชอบ จะกลายเป็นปัญหาทางกฎหมาย เขายังชี้ว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีความซับซ้อน เนื่องจากอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พ.ร.บ. ร่วมทุน) โดยตามหลักการ เมื่อสัมปทานสิ้นสุดในปี 2572 รถไฟฟ้าทั้งหมดจะกลับมาเป็นของ กทม. และรายได้จะตกเป็นของ กทม. แต่ปัจจุบันมีการจ้าง BTSC เดินรถล่วงหน้าไปถึงปี 2585 ซึ่งเกินกว่ากรอบสัมปทานเดิม ทำให้ต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนต่อไป
นายชัชชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า ฝ่ายบริหารได้ตัดสินใจจ้างที่ปรึกษาเพื่อพิจารณาด้านกฎหมายและเงื่อนไขของ พ.ร.บ.ร่วมทุน เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่เหลือก่อนสัมปทานจะสิ้นสุด
ก่อนที่นายนภาพลได้ทิ้งท้ายถึงนายชัชชาติว่า คณะกรรมการจากฝ่ายบริหาร 2 คนที่ผู้ว่าฯ แต่งตั้งไม่เคยเข้าร่วมประชุมเลย โดยไม่มีการลาหรือเหตุผล ขอแนะนำว่า หากมีการประชุมครั้งต่อไป ควรทำหนังสือแจ้งลาและระบุเหตุผล เพื่อให้การทำงานเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจาก ส.ก. ขาดความรู้เชิงลึกในประเด็นนี้ และต้องการข้อมูลจากฝ่ายบริหารเพื่อร่วมกันหาทางออก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง