SHORT CUT
"โจรกระจอก" น้ำผึ้งหยดเดียวจุดความรุนแรง 20 ปี ทักษิณ ทิ้งบาดแผลอะไรไว้ในใจคน สันติภาพชายแดนใต้ไปทางไหนต่อ กลับสามจังหวัดในรอบ 17 ปี การเมืองนำการทหารกี่โมง?
"ไม่มีการแบ่งแยกดินแดน ไม่มีผู้ก่อการร้ายอุดมการณ์ มีแต่โจรกระจอก”
คือคำพูดของนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กล่าวหลังเกิดเหตุการณ์ "ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง" เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 และการเผาโรงเรียน 18 แห่ง นายทักษิณไม่พอใจเป็นอย่างมากขนาดกล่าวตำหนิกองทัพและทหารที่ไม่ระมัดระวังว่า "ถ้าคุณมีกองทหารทั้งกองพันอยู่ที่นั้น แต่คุณก็ยังไม่ระวังตัว ถ้าอย่างนั้นก็สมควรตาย"
ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2547 จนถึงเดือน ธ.ค. 2566 มีเหตุการณ์ความรุนแรงจำนวน 2,296 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 7,547 ราย มีผู้บาดเจ็บ 14,028 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 3 มกราคม 2567) (ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, 2567)
นายทักษิณเป็นผู้ประกาศใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ ที่ยังคงบังคับใช้ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน คือ "กฎอัยการศึก" ในวันที่ 5 ม.ค. 47 และ "พรก.ฉุกเฉิน" ในวันที่ 20 ก.ค. 47 ทำให้ทหารมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเพื่อสอบสวนได้โดยไม่ต้องมีหมายจับหรือหมายเรียก ได้ 7 วัน โดยไม่ต้องมีการกระทำผิดซี่งหน้า มีรายงานว่าเกิดการข่มขู่ทรมานจนเหยื่อในค่ายทหารหลายกรณี หากพ้น 7 วันแล้ว ตำรวจยังมีอำนาจคุมตัวต่อโดยใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้อีกถึง 30 วัน
.
มีการตั้ง ศอ.บต. หรือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์ด้านความมั่นคงและการพัฒนาในพื้นที่ ทุ่มงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบไปแล้วมากกว่า 4.9 แสนล้านบาท หรือราว "ครึ่งล้านล้าน" บาท
เหตุการณ์สลายการชุมนุมด้วยกระสุนปืน คือหลักฐานการแก้ปัญหาด้วยการกดปราบที่เริ่มต้นในรัฐบาลทักษิณ
วันที่ 28 เม.ย. 2547 จบลงด้วยการสูญเสียชีวิตของผู้ก่อเหตุ 108 ราย โดย 30 รายเสียชีวิตในมัสยิดกรือเซะ ส่วนใหญ่ป็นวัยรุ่นอายุระหว่าง 15-20 ปี มีอาวุธเพียงแค่มีดพร้า และกริชเท่านั้น
เหตุใหญ่ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 85 คน โดยส่วนใหญ่เกิดจากการขนย้ายประชาชนด้วยการให้นอนคว่ำซ้อนกันบนรถขนส่งทหาร จับกุมจาก อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ไปยังค่ายอิงยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ตลอด 3 ชั่วโมงทำให้หลายคนขาดอากาศหายใจ บาดเจ็บจนพิการมาถึงวันนี้ แม้ในโค้งสุดท้ายของอายุความจะมีประชาชนลุกขึ้นมาฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ก็ไม่มีจำเลยคนใดปรากฎตัวต่อศาลฯ จนคดีหมดอายุความ 20 ปี ไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา
"รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่ตอนนั้นอยู่ในการควบคุมของทหาร ผมก็ได้รับรายงาน ก็เสียใจ จำไม่ค่อยได้ เสียใจ" นายทักษิณ ตอบคำถามเรื่องนี้ใน Club House เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2564 ขณะที่ตัวเขายังหลบหนีคดีอยู่ในต่างประเทศ
รัฐบาลเครือข่ายของนายทักษิณ พยายามแก้ปัญหานี้มาโดยตลอด "คณะพูดคุยสันติภาพ" เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของนายทักษิณ มีตัวแทนอย่างเป็นทางการของไทยตั้งโต๊ะเจรจาอย่างเปิดเผยกับตัวแทนของกลุ่ม BRN โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก หรือเป็นตัวกลางให้เกิดการพูดคุยกัน เกิด "รอมฎอนสันติ" ยุติความรุนแรงในเดือนศักดิ์สิทธิ เดินหน้าหาทางออกของความขัดแย้งร่วมกัน
แม้แต่ในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหารและการเลือกตั้งนานถึง 8 ปี ไทยก็ยังคงมีหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อเจรจาสันติภาพ แม้ไม่ทำให้ความรุนแรงหมดไปแต่ต้องยอมรับว่าทำให้สถานการณ์เป็นไปในเชิงบวกมากขึ้น มีการจัดตั้ง "พื้นที่ปลอดภัยนำร่อง" การยุติการแสดงกำลังในช่วงเดือนรอมฎอน จนถึงช่วงก่อนเลือกตั้ง 66 เกิดข้อเสนอ JCPP โรดแมปสู่สันติภาพ
รัฐบาลเพื่อไทยกลับมาอีกครั้งเมื่อปี 2566 นายเศรษฐา ให้นโยบายแก้ปัญหาชายแดนใต้ด้วยการยกระดับเศรษฐกิจ พูดถึงอุตสาหกรรมฮาลาล ไทยมีหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขเป็นพลเรือนคนแรกคือนายฉัตรชัย บางชวด พูดคุยครั้งล่าสุดเมื่อเดือน ก.พ. 2567
แต่ในรัฐบาลแพทองธาร "ยังไม่มีการตั้งคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข" แต่อย่างใด สถานการณ์ความรุนแรงเกิดถี่และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนยังมองไม่เห็นว่า "นายกฯอิ๊งค์" จะแก้ปัญหาไฟใต้ด้วยวิธีการใด นอกจากการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นครั้งที่ 79
แม้นายทักษิณ จะเป็นถึงที่ปรึกษาประธานอาเซียนในปัจจุบัน ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาสงครามกลางเมืองเมียนมา แต่แทบไม่เห็นการแสดงทัศนะว่าจะแก้ปัญหาไฟใต้ในศักราชนี้อย่างไร การลงพื้นที่ในครั้งนี้จึงสำคัญมากต่อกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่ ทุกฝ่ายต่างคาดหวังว่านายทักษิณจะสามารถกระตุ้นให้เวทีเจรจากลับมาแอคทีฟอีกครั้ง
มีรายงานว่า นายทักษิณ อาจปัดฝุ่นโมเดล "66/23" ที่รัฐบาล พล.อ.เปรม เคยใช้กับแนวร่วมคอมมิวนิสต์กลับมาอีกครั้ง แต่นักวิชาการและนักกิจกรรมในพื้นที่มองว่าเป็นการถอยหลังกลับไปหาอดีต และจะเป็นการละเลยปมปัญหาแท้จริงไป การพูดคุยรับฟังเป็นทางออกที่ดีที่สุด และควรใช้ "การเมืองนำการทหาร" เหมือนที่นายทักษิณพูดไว้ในเวทีภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้จัดโดย the Motive เมื่อเดือน มิ.ย. 2565 สมัยที่ใช้นามแฝง "Tony Woodsome"