svasdssvasds

ความสูญเสียนำมาสู่ความกล้าหาญ สตรีไทยในสามจังหวัดชายแดนใต้

ความสูญเสียนำมาสู่ความกล้าหาญ สตรีไทยในสามจังหวัดชายแดนใต้

บทบาทของผู้หญิงมุสลิมที่ถูกสังคมตีกรอบไว้ แต่ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ หญิงสาวมุสลิมที่เคยเป็นผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความรุนแรงกลับทลายกำแพงคำว่าศาสนาและก้าวเข้ามาเพื่อขับเคลื่อนสิทธิสตรีเพื่อสันติภาพ

SHORT CUT

  • "ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ" ครูผู้สูญเสียคนในครอบครัวจากเหตุการณ์ความไม่สงบ สู่นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ
  • นำความเจ็บปวดที่เคยได้รับไปช่วยเหลือคนอื่น โดยก้าวข้ามกำแพงของความเป็นศาสนา
  • ถึงแม้จะโดนจำกัดด้วยกรอบของศาสนา แต่เธอก็ยังยืดหยัดที่จะต่อสู้เพื่อผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

บทบาทของผู้หญิงมุสลิมที่ถูกสังคมตีกรอบไว้ แต่ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ หญิงสาวมุสลิมที่เคยเป็นผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความรุนแรงกลับทลายกำแพงคำว่าศาสนาและก้าวเข้ามาเพื่อขับเคลื่อนสิทธิสตรีเพื่อสันติภาพ

ในขณะที่บทบาทของผู้หญิงในสังคมมุสลิมถูกสังคมจำกัดให้อยู่แต่ภายในบ้าน ดูแลลูกและคนในครอบครัว และการที่ผู้หญิงอยู่นอกบ้าน ก็จะกลายเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ เพราะสังคมไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้มีพื้นที่เทียบเท่ากับผู้ชาย แต่ ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ ก้าวข้ามกำแพงของกรอบศาสนาและก้าวเข้ามาทำงานในการช่วยเหลือเด็กและสตรี รวมทั้งการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครเพื่อให้คำแนะนำและเยียวยาผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในทุกระดับในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

“20 ปีกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ มันคงไม่มีอะไรที่เรารู้สึกว่าเราต้องมาท้อใจแล้ว เพราะว่าเราแค่ใช้ชีวิตในแต่ละวันให้มันมีคุณค่าให้มันมีความหมายมากที่สุด อะไรที่เราทำได้ เราก็จะทำมันจนถึงวินาทีสุดท้าย เพราะพี่รู้ว่าชีวิตมันสั้น”

ความสูญเสียนำมาสู่ความกล้าหาญ สตรีไทยในสามจังหวัดชายแดนใต้

จากครูผู้สูญเสีย สู่นักขับเคลื่อนสิทธิสตรีเพื่อสันติภาพ

ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ ทำงานอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ สี่อำเภอของสงขลา โดยงานหลักๆที่เธอทำ คือการให้คำปรึกษาผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความรุนแรงทุกรูปแบบ ก่อนหน้านี้เธอประกอบอาชีพครู จากเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำให้เธอต้องสูญเสียพี่น้องไปถึง 4 คน  หลานของเธอต้องกำพร้าถึง 13 คน จากการสูญเสียคนในครอบครัวไป แม่ของเธอต้องกลายเป็นโรคซึมเศร้าและเกิดอุบัติเหตุจนกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง ส่วนพ่อต้องกลายมาเป็นคนที่ต้องดูแลความปลอดภัยให้กับแม่และหลาน ในหลายครั้งที่เธอต้องทนเห็นน้ำตาของแม่และหลานๆที่ได้รับการสูญเสีย บางคนต้องเข้าไปร้องไห้ในห้องน้ำ บางคนถึงขั้นทำร้ายตนเองเพื่อระบายความเสียใจออกมา ภาพเหล่านั้นมันทำให้เธอรู้สึกเจ็บปวดและรู้ได้ทันทีว่าการสูญเสียมันยิ่งใหญ่ เธอจึงตัดสินใจลาออกจากการเป็นครู และลุกขึ้นมารวบรวมผู้หญิงที่เคยได้รับการสูญเสีย โดยสิ่งแรกที่เธอทำคือโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน เป็นการให้คำปรึกษาและคำแนะนำให้กับคนที่เกิดการสูญเสีย และหวังว่าคนเหล่านี้หลังจากผ่านพ้นเหตุการณ์ความเจ็บปวดเหล่านี้ไปแล้ว ก็จะลุกขึ้นมาช่วยเหลือคนอื่นต่อ โดยมีความหวังว่าจะไม่มีเหยื่อคนต่อไปซ้ำแล้วซ้ำอีก

“ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้คงไม่ใช่แค่ผู้ชายอย่างเดียว แต่มันยังได้รับผลกระทบถึงผู้หญิงในฐานะของความเป็นแม่ ของความเป็นคนที่ต้องแบกรับปัญหาในการที่จะต้องดูแลลูกหลังจากที่สูญเสียคนในครอบครัวไป” ปาตีเมาะ กล่าว

ความสูญเสียนำมาสู่ความกล้าหาญ สตรีไทยในสามจังหวัดชายแดนใต้

เพราะการเป็นผู้นำหญิง คือเรื่องที่ผิดบาป

ในพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้นอกจากความเชื่อเรื่องชายเป็นใหญ่ที่ถูกปลูกฝังกันมาอย่างยาวนาน ก็ยังมีความเชื่อทางวัฒนธรรมที่ทำให้ผู้หญิงถูกกดทับมากกว่าผู้หญิงในพื้นที่อื่นๆ เช่น การที่ไม่ยอมรับให้ผู้หญิงขึ้นมาเป็นผู้นำ เพราะหลายคนยังมองว่าหน้าที่ของผู้นำคือหน้าที่ของผู้ชาย ซึ่งในหลักของทางศาสนาก็ถูกเขียนเอาไว้ว่าผู้หญิงไม่สามารถนำพิธีทางศาสนาได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในบทบาทของคนในสังคมจะไม่สามารถเป็นผู้นำได้ ความเชื่อเหล่านี้ถูกส่งต่อออกมาและปลูกฝังว่าผู้หญิงก็ไม่สามารถเป็นผู้นำได้ ไม่ว่าจะมิติไหนก็ตาม และใครก็ตามที่อยากให้ผู้หญิงขึ้นมาเป็นผู้นำก็ถือว่าเป็นบาป หรือแม้กระทั่งการที่มีผู้หญิงลุกขึ้นมาอยากจะสมัครอบต. ก็จะมีผู้นำที่เป็นผู้ชายบางพื้นที่ออกมาบอกว่าห้ามเลือกเพราะถือว่าเป็นบาป ซึ่งเธอมองว่ามันไม่เป็นธรรม และไม่ได้เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีพื้นที่ในสังคม

ถึงแม้ในคัมภีร์อัลกุรอานตามหลักศาสนาจะไม่ได้เขียนไว้ แต่การที่ผู้หญิงขึ้นมาเป็นตัวแทนหรือการเข้ามามีบทบาทในสังคมก็จะถูกความเชื่อที่ปลูกฝังมามองว่าเป็นเรื่องที่ผิด เพียงเพราะผู้ชายเป็นคนกำหนดว่าผู้หญิงห้ามเป็นผู้นำในมิติอื่นๆไม่ใช่แค่ในทางศาสนาอย่างเดียว ถึงแม้จะมีทางการที่เกี่ยวข้องกับศาสนาออกมาชี้แจงว่า ผู้หญิงก็สามารถเป็นผู้นำทางสังคมได้ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้ก็ไม่สามารถทำลายความเชื่อที่ถูกปลูกฝังและทับถมกันมาอย่างยาวนานได้สำเร็จ เธอยังบอกอีกว่า เธอแค่อยากลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาภายในชุมชน ไม่ได้อยากจะเป็นผู้นำใคร เพียงเพราะแค่เธอเห็นว่ามันมีปัญหา และผู้ชายเองก็ไม่ได้เข้าใจมุมมองหรือมิติของความเป็นผู้หญิง และผลกระทบของผู้หญิงที่ประสบอยู่

“ในบทบาทของผู้หญิงคนหนึ่ง เรามีทั้งความเป็นแม่ ความเป็นลูกสาว ความเป็นภรรยา แต่ในบทบาทของสังคมของการเป็นผู้หญิงไม่มีใครเข้าใจในตัวผู้หญิงมากกว่าผู้หญิงด้วยกันเอง “

กรอบของศาสนาที่สร้างพื้นที่ขึ้นมาเพื่อผู้ชาย

อย่างในการลงพื้นที่หาเสียง คนส่วนใหญ่จะนิยมหาเสียงตามมัสยิด เพราะชาวมุสลิมต้องไปละหมาดที่มัสยิดวัน 5 เวลา โดยเฉพาะวันศุกร์ที่กำหนดว่าผู้ชายต้องไปละหมาดที่มัสยิด แต่ผู้หญิงทำที่บ้านก็ได้ หรือร้านน้ำชาในหมู่บ้าน ที่เป็นจุดของคนในหมู่บ้านส่วนใหญ่รวมตัวกันเพื่อพูดคุยปัญหาสังคม ก็กลายเป็นพื้นที่ของผู้ชาย พื้นที่เหล่านี้ไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้าไปนั่ง กลายเป็นช่องโหว่หรือโอกาสให้กลุ่มผู้ชายหรือพรรคต่างๆ ใช้โอกาสเหล่านี้ในการเข้าไปหาเสียง เธอเล่าว่า ในช่วงการหาเสียง เธอต้องไปหาเสียงตามจุดรวมตัวของผู้หญิงตามบ้าน นั่งพูดคุยกันบนแคร่ หาโอกาสพูดคุยตามพื้นที่หรือชุมชนไหนที่มีผู้หญิงรวมตัวกัน ก็จะใช้โอกาสนั้นในการพูดคุยถึงปัญหาและพูดถึงอุดมการณ์ของเธอให้ทุกคนได้ฟัง ถึงแม้จะมองว่าการมีนักการเมืองหญิงจะช่วยเป็นกระบอกเสียงในฐานะผู้หญิงด้วยกันได้ แต่ในทางกลับกันการตัดสินใจจริงๆ ของผู้หญิงหลายคนก็ต้องอาศัยความเป็นผู้ชายในการตัดสินใจให้ หรือแม้กระทั่งการเลือกตั้งก็ต้องเป็นมติการตัดสินใจของหัวหน้าครอบครัว ถึงแม้ตัวผู้หญิงจะสามารถตัดสินใจเองได้ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังมีความเชื่อของความเป็นผู้นำครอบครัวของผู้ชาย ถ้าพ่อหรือสามีเลือกใครก็ต้องเลือกตาม ข้อจำกัดเหล่านี้ก็ไม่ได้เอื้อให้กับผู้หญิงในการลงเล่นการเมือง

ความสูญเสียนำมาสู่ความกล้าหาญ สตรีไทยในสามจังหวัดชายแดนใต้

“หาเงินกรีดยางได้วันละร้อย ไหนจะค่าข้าว ไหนจะต้องให้สามีอีก พอไม่ให้ก็ทุบตีไม่ก็ไปขโมยของ ต้องมาต้มน้ำกระท่อมให้กินที่บ้านเพื่อไม่ให้ออกไปก่อเหตุข้างนอก”

ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้สูงขึ้น ด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจที่ค่าครองชีพสูงขึ้น คนเกิดความเครียด คนตกงานมากขึ้น เพราะมีผลกระทบจากปัญหาความมั่นคง ทำให้คนหันไปพึ่งพายาเสพติดมากขึ้น พอสามีติดยา ไม่มีเงินก็กลับมาทำร้ายทุบตีภรรยา ด้วยความเชื่อทางวัฒนธรรมที่สามารถมีภรรยาหลายคนได้ ผู้หญิงหลายคนก็ต้องเป็นคนแบกรับ หรือด้วยสถานะที่ผู้ชายไม่สามารถออกไปหารายได้ได้มากกว่าผู้หญิง ก็กลายเป็นว่าผู้หญิงต้องเป็นคนแบกรับทั้งหมด บางคนออกไปกรีดยางหาเงินได้ค่าแรงวันละร้อยบาท ก็ต้องกลับมาต้มน้ำกระท่อมในบ้านเพื่อไม่ให้สามีออกไปก่อความรุนแรงข้างนอก ผลที่ตามมาคือ ผู้หญิงหลายคนต้องไปร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเพื่อขอหย่ากับสามี จากการเจอผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงในครอบครัว แต่ในขณะเดียวกันผู้หญิงก็ไม่สามารถขอหย่าสามีได้ ด้วยความเชื่อทางวัฒนธรรม และที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลาม100% เป็นผู้ชายที่เป็นคนตัดสินว่าสมควรหย่าหรือไม่

“ความเป็นผู้หญิงมันเป็นงาน อย่างงานบ้านหรือการดูแลลูก นอกจากงานในบ้านบางคนยังต้องออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ด้วยฐานะเศรษฐกิจที่รายได้จากผู้ชายอาจจะไม่เพียงพอ ทำให้ผู้หญิงต้องลุกขึ้นมาทำงาน แต่หลายคนก็ยังมองว่าคุณค่าของความเป็นผู้หญิงยังด้อยกว่าผู้ชาย” ปาตีเมาะ กล่าว

หญิงสาวที่ทลายกำแพงคำว่าศาสนา สู่เส้นทางการเป็นนักการเมืองหญิงในสังคมมุสลิม

การเป็นนักการเมืองหญิงในสังคมมุสลิมเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่เธอกลับมองว่ามันเป็นการทลายกำแพงของความเชื่อและวัฒนธรรมที่ทับถมมาอย่างยาวนาน เธอจึงอยากเป็นตัวแทนเสียงของผู้หญิงที่อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ความรุนแรงในครอบครัว หรือปัญหารุนแรงในสังคมในทุกระดับ และอยากเข้าไปเพื่อแก้ปัญหาให้คนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเธอเองก็ต้องเผชิญกับขีดจำกัดและเงื่อนไขในการที่จะเดินขึ้นไปบนเวทีและบอกเล่าอุดมการณ์ของเธอให้ทุกคนเข้าใจ ด้วยหลักความเชื่อและวัฒนธรรมที่ถูกขีดเส้นเพียงเพราะเป็นผู้หญิง เธอยังต่อเล่าว่า ในช่วงการลงหาเสียงก็ต้องมีเวลาเฉพาะในการออกจากบ้าน เพราะหากออกเช้าเกินไปก็เสี่ยง กลับบ้านเย็นเกินไปก็เสี่ยง ทำให้เธอจำเป็นต้องออกจากบ้านช่วง 10.00 น. และต้องกลับบ้านไม่เกิน 16.00 น. อีกทั้งยังมีคนเคยนำรูปเธอไปตัดต่อเป็นภาพเปลือยโพสต์ผ่านโซเชียลงในไลน์กลุ่มที่มีแต่ผู้นำชุมชนทุกพื้นที่ ซึ่งกระบวนการนี้เป็นการทำให้เธอเสื่อมเสีย เพราะเธอยังมีลูกมีครอบครัวที่ได้รับผลกระทบตามไปด้วย อีกทั้งยังโดนข่มขู่ว่าถ้าอยากมีชีวิตอยู่ ก็ต้องห้ามลงเล่นการเมือง

“ถ้าเรายังอ่อนแอ เราก็คงต้องอ่อนแอต่อไป แต่ถ้าเราจะเข้มแข็ง เราก็ต้องเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับบริบทสังคม เพราะฉะนั้นเมื่อไรก็ตามที่ผู้หญิงลุกขึ้นมาในการที่จะกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง ผู้หญิงก็ต้องลุกขึ้นมาทำมันให้ประสบความสำเร็จ”

ด้วยความเป็นผู้หญิงเราไม่ใช่คนของใคร เราใช้ความรู้สึกของการเป็นเพศหญิง ความเจ็บปวดที่เคยได้รับไปช่วยเหลือคนอื่น เราทลายกำแพงของความเป็นศาสนา ทลายกำแพงของความเป็นพวกเขา พวกเรา และใช้คำว่าความเราในฐานะผู้หญิงในการลุกขึ้นไปทำงาน

รับชมเพิ่มเติม