SHORT CUT
หนึ่งในแนวคิดสำคัญของ B.P.H.W.T. คือ การสร้างระบบสุขภาพที่แข็งแรงตั้งแต่อิฐก้อนแรก ด้วยการพัฒนาบุคลากรการแพทย์ในหมู่บ้าน คล้ายกับ อสม.ของไทย
การทำงานอย่างต่อเนื่องทำให้ใน พ.ศ. 2567 พวกเขามีทีมดูแลสุขภาพชุมชน 120 ทีม มีบุคลากร 1,700 คน โดยในปีที่ผ่านมา พวกเขาช่วยรักษาคนแล้วกว่า 120,000 คน
นับตั้งแต่การระบาดของไวรัส COVID-19 พวกเขาทำงานกับเจ้าหน้าที่ชายแดนไทยอย่างแข็งขันเพื่อยับยั้งเชื้อไวรัส และในปัจจุบัน พวกเขายังพยายามยับยั้งไวรัส ไม่ว่า โรคโปลิโอหรือโรคท้าวแสนปมไม่ให้เดินทางเข้ามาในไทย
ตราบใดที่ระบบสาธารณสุขเมียนมายังไม่เข้มแข็ง ประเทศไทยจะต้องเผชิญความท้าทายทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่เสมอ
โรคอหิวาตกโรคที่กำลังระบาดใน อ.แม่สอด กำลังยืนยันอีกครั้งว่าเชื้อโรคไวรัสไม่มีตา ไม่เข้าใจเรื่องพรมแดน และไม่สนใจสัญชาติ และการยับยั้งโรคจำเป็นต้องทำร่วมกันเช่นเดียวกับช่วง COVID-19
แต่นับตั้งแต่กองทัพพม่ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมียนมา ระบบสาธารณสุขเมียนมาที่มีปัญหาอยู่แล้ว กลับยิ่งถูกซ้ำเติมให้รุนแรงขึ้น และถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมา การป้องกันโรคใดๆ แทบเป็นไปไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่แสนมืดมน คนกลุ่มหนึ่งในนาม B.P.H.W.T. (Back Pack Health Worker Team) ยังคงทำงานด้านสาธารณสุขอย่างแข็งขัน เพื่อรักษาสิ่งสำคัญที่สุดให้ดำรงอยู่ต่อไปคือ ‘ชีวิตคน’
พวกเขาคือใคร พวกเขาทำอะไร ทำไมพวกเขาถึงสำคัญต่อคนทั้งสองฝั่งแม่น้ำเมย อ่านได้ในบทความด้านล่างนี้
B.P.H.W.T. ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2541 จากความตั้งใจขอบุคลากรสาธารณสุขในรัฐกะเหรี่ยง, คะยา, มอญ และ ดร.ซินเธีย หม่อง ผู้ก่อตั้งแม่ตาวคลินิก ที่ต้องการสร้างระบบสาธารณสุขครอบคลุมคนทุกชนชั้นในเมียนมา ไม่ว่าในหมู่บ้านห่างไกลหรือผู้พลัดถิ่น พวกเขาจัดหาหยูกยา, อุปกรณ์ทางการแพทย์ และเดินทางเข้าไปในชุมชนห่างไกลเพื่อให้ความรู้ทางสาธารณสุขแก่ชาวบ้าน
หนึ่งในแนวคิดสำคัญที่ B.P.H.W.T. มุ่งมั่นคือ การสร้างระบบสุขภาพที่แข็งแรงตั้งแต่อิฐก้อนแรก ด้วยแนวคิดการพัฒนาบุคลากรการแพทย์ชั้นปฐมภูมิในหมู่บ้าน คล้ายกับ อสม.ของไทย
การทำงานอย่างต่อเนื่องทำให้ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2567) พวกเขาสร้างทีมดูแลสุขภาพชุมชนขึ้นแล้ว 120 ทีม มีบุคลากรในเครือข่ายมากกว่า 1,700 คน ครอบคลุมประชากรในประเทศมากกว่า 300,000 คน ทั้งในรัฐฉาน, คะฉิ่น, มอญ, อาระกัน และพื้นที่อื่นๆ ซึ่งในปี 2023 ที่ผ่านมา พวกเขาช่วยรักษาคนแล้วกว่า 120,000 คน
เดิมทีระบบสาธารณสุขในเมียนมาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือโรงพยาบาลที่ขึ้นกับรัฐบาลกลาง และส่วนที่สองขึ้นกับโรงพยาบาลที่ขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ปัญหาทางการเมืองที่ลุ่มๆ ดอนๆ และโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่แข็งแรง ทำให้ระบบการแพทย์ในเมียนมานับว่าอ่อนแอเป็นทุนเดิม
ภายหลังการรัฐประหารในวันที่ 1 ก.พ. พ.ศ. 2564 ยิ่งซ้ำเติมให้ระบบสาธารณสุขเมียนมาล่มสลาย ขาดบุคลากรด้านการแพทย์ และส่งผลต่อประชาชนที่ยังอาศัยอยู่ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสงครามที่ยังมองไม่เห็นปลายทาง B.P.H.W.T. ยังคงโฟกัสที่ภารกิจทางมนุษยธรรม ที่จะปะชุนช่องโหว่ทางการแพทย์ให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้
“ระบบสาธารณสุขในเมียนมาล่มสลายลงแล้ว สาเหตุที่ผมพูดแบบนี้เพราะภายหลังการรัฐประหาร เจ้าหน้าที่เกือบทั้งหมดต้องหลบภัยไปในพื้นที่ปลอดภัย หรือไม่ก็หนีออกมานอกประเทศ เช่น ไทย” Saw Win Kyaw ผู้อำนวยการ B.P.H.W.T. กล่าว .
B.P.H.W.T. โฟกัสกับงาน 3 ด้านหลัก ได้แก่ บริการสุขภาพเบื้องต้น, สาธารณสุขชุมชน และอนามัยแม่และเด็ก ผ่านการสร้างบุคลากรด้านสาธารณสุขและให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ชุมชน
ด้านแรก บริการสุขภาพเบื้องต้น B.P.H.W.T. โฟกัสที่โรคพื้นฐานทั่วไป 6 โรคสำคัญ ได้แก่ โรคมาลาเรีย, โรคโลหิตจาง, โรคกลาก, โรคท้องร่วง, โรคบิด และโรคติดต่อทางเดินหายใจต่างๆ ผ่านการสนับสนุนจากสำนักงาน B.P.H.W.T. ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยซึ่งมีหน้าที่ระดมทุนและจัดส่งยารักษาโรคให้แก่ทีม B.P.H.W.T. ที่กระจายอยู่ในเมียนมา
ในกรณีที่ไม่สามารถรักษาโรคได้ B.P.H.W.T จะส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่โรงพยาบาลในประเทศและในไทยต่อไป อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารทำให้การส่งต่อผู้ป่วยในประเทศไม่สามารถทำได้ ขณะที่จำนวนผู้ป่วยรุนแรง เช่น โรคมาลาเรีย, โรคเบาหวาน รวมถึงผู้บาดเจ็บจากสงครามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ด้านสอง การสาธารณสุขชุมชน มุ่งทำหน้าที่ให้ความรู้และป้องกันการเกิดโรค ผ่านทั้งโรงเรียนและชุมชน อาทิ การมอบอุปกรณ์กรองน้ำสะอาด, การช่วยเหลือด้านโภชนาการ เช่น ข้าวโอ๊ต, ถั่วเหลือง หรือการดูแลสาธารณสุขในโรงเรียน เช่น แปรงสีฟัน, ที่ตัดเล็บ หรือวิตามิน
ทาง B.P.H.W.T. เน้นมากในด้านนี้ โดยจะให้ความรู้ทั้งในชุมชนและโรงเรียนไปพร้อม สิ่งที่เกิดขึ้นคือทำให้ทั้งเด็กและผู้ปกครองมีความรู้ด้านสาธารณสุขควบคู่กัน ซึ่งจะทำให้เกิดการป้องกันโรคก่อนการรักษา ซึ่งจะทำให้เกิดแรงกดดันในระบบสาธารณสุข และเพิ่มค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาโรค
ด้านที่สาม แม่และเด็ก ในด้านนี้ B.P.H.W.T.พยายามเน้นไปที่การให้ความรู้แก่หมอตำแย ซึ่งเป็นบุคลากรที่มีอยู่ทุกหมู่บ้าน ในด้านความสะอาด การใช้เครื่องมือการแพทย์ และการคลอดบุตรที่ถูกต้อง ควบคู่ไปในโครงการนี้ ยังมีการช่วยเหลือด้านการวางแผนครอบครัวเบื้องต้น และการสนับสนุนโภชนาการแก่แม่และเด็ก
สำหรับขั้นตอนการอบรม มักจะเริ่มต้นจากชุมชนประสานเข้ามา ก่อนจะเข้ามารับการฝึกในศูนย์ฝึกของ B.P.H.W.T. ที่ปัจจุบันหลบอยู่ในป่า การอบรมจะมีระดับและระยะเวลาชัดเจนตั้งแต่ 2 วันจนถึง 12 เดือนขึ้นอยู่กับหลักสูตร
โดยมีการสอนที่ครอบคลุมทั้ง การปฐมพยาบาลเบื้องต้น, อนามัยของแม่และเด็ก, การจัดการด้านสาธารณสุข ตลอดจนการดูแลรักษาบาดแผลทางจิตใจ (Trauma) และเมื่อฝึกเสร็จสิ้นจะมีการมอบประกาศนียบัตร ก่อนที่ผู้ร่วมอบรมจะกลับคืนสู่บ้านเกิด เพื่อดูแลสุขภาพของคนในหมู่บ้านต่อไป
ถึงแม้ได้รับความช่วยเหลือจากหลายฝ่าย รวมถึงกระทรวงสาธารณสุขไทยในด้านวัคซีน แต่การทำงานด้านสาธารณสุขในเมียนมายังคงท้าทายจากปัญหาหลายด้าน ทั้งความรุนแรงจากสงคราม, ขาดแคลนบุคลากร, ระบบส่งต่อผู้ป่วย โดยเฉพาะแรงสนับสนุนด้านเงินทุนที่ลดน้อยลง
“ผู้คนในเมียนมาต้องการทีม B.P.H.W.T. ต้องการอุปกรณ์การแพทย์ ต้องการยารักษาโรค แต่ปัญหาคือในตอนนี้เราไม่มีเงินเพียงพอ ดังนั้น ปัญหาใหญ่ที่สุดของเราคือช่องว่างระหว่าเงินทุนที่มีกับที่จำเป็นต้องใช้” ผู้อำนวยการ B.P.H.W.T. กล่าว
หากจะบอกว่า B.P.H.W.T. ไม่เกี่ยวข้องกับคนไทยเลย คงไม่ใช่ เพราะในช่วงการระบาดของไวรัส COVID-19 พวกเขาทำงานกับเจ้าหน้าที่ชายแดนไทยอย่างแข็งขันเพื่อยับยั้งเชื้อไวรัส และในปัจจุบัน พวกเขายังพยายามยับยั้งไวรัสหลายชนิดไม่ให้เดินทางข้ามชายแดนสู่ไทย ไม่ว่า โรคโปลิโอ หรือโรคท้าวแสนปมที่ฝังตัวตามหมู่บ้านเมียนมาที่ห่างไกล
เพราะเชื้อไวรัสไม่มีตาและไม่รู้จักเส้นแบ่งรัฐชาติ ตราบใดที่ระบบสาธารณสุขเมียนมายังไม่สามารถยืนด้วยขาของตัวเองได้ ประเทศไทยจะต้องเผชิญความท้าทายทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่เสมอ