svasdssvasds

ไทม์ไลน์ หากศาล รธน. รับ-ไม่รับคำร้อง คดี "ทักษิณ-เพื่อไทย" ล้มล้างการปกครอง

ไทม์ไลน์ หากศาล รธน. รับ-ไม่รับคำร้อง คดี "ทักษิณ-เพื่อไทย" ล้มล้างการปกครอง

เปิดไทม์ไลน์ ศาลรัฐธรรมนูญ รับ-ไม่รับคำร้อง ปมทักษิณ-พรรคเพื่อไทย ใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง หลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีนัดประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับคำร้อง กรณีธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 10 ตุลาคม 2567 ให้วินิจฉัยว่าทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 ซึ่งเป็นข้อหาเดียวกันกับที่ธีรยุทธส่งเรื่องร้องพรรคก้าวไกลปมหาเสียงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

โดยนายธีรยุทธตั้ง 6 ประเด็นเพื่อยกมาประกอบว่าทักษิณและพรรคเพื่อไทย ใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง

  • "ทักษิณ" และ "พรรคเพื่อไทย" สั่งการรัฐบาลผ่าน กระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลรำตรวจเอื้อประโยชน์ระหว่างต้องโทษจำคุกพักชั้น 14 รพ.ตำรวจ เพื่อไม่ต้องรับโทษในเรือนจำ ทั้งที่ไม่พบว่ามีอาการป่วยขั้นวิกฤต
  • นายทักษิณ มีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับ สมเด็จฮุนเซน อดีตนายกฯ ของประเทศกัมพูชา และควบคุมการบริหารของรัฐบาลผ่านพรรคเพื่อไทย โดยเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรใต้ทะเล ในเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล
  • นายทักษิณ มีพฤติกรรมเป็นเจ้าของครอบครองครอบงำเป็นผู้สั่งการแทนพรรคเพื่อไทย ในการเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกฯ คนใหม่ 
  • "ทักษิณ" สั่งการ "พรรคเพื่อไทย" แก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกับพรรคประชาชนซึ่งเป็นพรรคมีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง 
  • ทักษิณ มีพฤติกรรมเป็นเจ้าของครอบงำและสั่งการให้พรรคเพื่อไทย มีมติขับพรรคพลังประชารัฐ ออกจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทยยินยอมตามที่สั่ง  
  • ทักษิณ มีพฤติการณ์เป็นผู้ครอบงำและสั่งการให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นำนโยบายที่ นายทักษิณ ได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2567 ไปเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ในวันที่ 12 ก.ย. 2567

ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 กำหนดกลไก “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” โดยห้ามไม่ให้บุคคลใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ผู้ใดที่พบการกระทำดังกล่าว มีสิทธิ 

  1. ร้องไปที่อัยการสูงสุด เพื่อให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งเลิกการกระทำดังกล่าว
  2. หากอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการหรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วันนับแต่ที่รับคำขอ สามารถยื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

มาตรา 49  บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้

ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้

ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้

ฉากทัศน์ คดี "ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย" ใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง

  • ศาลพิจารณารับคำร้อง โดยใช้คำให้การของธีรยุทธเป็น "สารตั้งต้น" นำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทย ทำให้พรรครัฐบาลตกอยู่ในสถานการณ์ที่ระส่ำ 
  • ศาลพิจารณารับคำร้อง แต่ตีตกในภายหลัง เพราะเห็นพ้องกับ "อัยการสูงสุด" ว่าข้อมูลของผู้ร้องยังมีน้ำหนักไม่มากพอ ถึงขั้น "ยุบพรรคเพื่อไทย" ได้   
  • ศาลไม่รับคำร้อง - คดีไม่เข้าสู่การพิจารณา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากความเห็นของ "อัยการสูงสุด"

 

กรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง

  • ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย ต้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วัน (22 พ.ย.-6 ธ.ค. 67) 
  • แม้นายธีรยุทธ ในฐานะผู้ร้อง จะยังไม่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “ยุบพรรคเพื่อไทย” แต่ถ้าศาลฯ สั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ 
  • ดาบสองที่จะตามมา การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “ยุบพรรคเพื่อไทย” และเอาผิดกับทักษิณ ชินวัตร 
  • หากในที่สุด ศาลฯ สั่ง "ยุบพรรคเพื่อไทย" จะทำให้แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ถูกศาลตัดสิทธิ์ทางการเมือง เป็นเวลา 10 ปี    

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related