SHORT CUT
ชื่อของอดีตนายกรัฐมนตรี ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ห่างหายไปจากหน้าข่าวหลายเดือน นับแต่แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากเศรษฐา ทวีสิน ที่ต้องตกเก้าอี้จากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ชื่อของอดีตนายกรัฐมนตรี ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ห่างหายไปจากหน้าข่าวหลายเดือน นับแต่แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากเศรษฐา ทวีสิน ที่ต้องตกเก้าอี้จากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
จังหวะการหายไปจากหน้าข่าวมองได้ในหลายมุม ทั้งเพื่อให้บทบาทของลูกสาวในฐานะนายกรัฐมนตรีขึ้นมาโดดเด่น ฉายแสง พร้อมกับการลดแรงเสียดทานและปริมาณ ‘นักร้อง’ ที่ทยอยเดินสายร้องเรียนเรื่องต่างๆ แบบรายวัน
จตุพร พรหมพันธ์ อดีตคนเคยอยู่ด้วยกันมองว่า ทักษิณอาศัยจังหวะกลับมาเคลื่อนไหวช่วงเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องของธีรยุทธ สุวรรณเกษร ที่ร้องทักษิณและพรคเพื่อไทย ว่ามีพฤติการณ์ ‘ล้มล้างการปกครอง’ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 หรือไม่
“(ทักษิณ)เพิ่มความเกรี้ยวกราดตามลำดับ ดุดันโดยไม่จำเป็น”
การขยับในจังหวะนี้ของทักษิณในมุมมองจตุพรคืออาการของความไม่มั่นใจ และเคลื่อนไหวให้เห็นว่ายังคงมีพลัง เพื่อไทยยังสำคัญในการเป็นด่านหน้าต่อสู้กับพลังของพรรคสีส้มหรือพรรคประชาชน
“เราจะเห็นว่าเวลามันไม่ใช่เลย เป็นช่วงเวลาของการถดถอย”
หากเราเทียบคำร้องนี้ในมาตรฐานเดียวกันกับคำร้องก่อนหน้านี้คือ คำร้องที่ธีรยุทธคนเดียวกันนี้ ร้องศาลรัฐธรรมนูญว่าการที่พรรคก้าวไกลนำเรื่องการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในการรณรงค์หาเสียงและใช้เป็นนโยบายเป็นการล้มล้างการปกครองตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “เป็นการล้มล้างการปกครอง” และนั่นคือสารตั้งต้นในการชงเรื่องจนมาสู่การวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลในเวลาต่อมา
ซึ่งในกรณีที่ทักษิณ-เพื่อไทยถูกร้องในลักษณะเดียวกันนี้ อาจทำ ‘นักร้อง’ มีสารตั้งต้นในการดำเนินคดีอื่นๆ กับทักษิณและพรรคเพื่อไทยได้ต่อ
แม้สนาม อบจ. อุดรธานี จะเป็นสนามการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่ถูกขนานนามว่าเป็นเมืองหลวงเสื้อแดง จังหวัดไทยรักไทย แต่กลายเป็นเวทีประลองฝีปากระดับชาติ การเปิดฉากปราศรัยทางการเมืองในรอบกว่า 18 ปีของทักษิณในฐานะ ‘ผู้ช่วยหาเสียง’ พาดพิงถึงพรรคประชาชนทุกระดับทั้งแกนนำ มวลชน และผู้นำจิตวิญญาณอย่างธนาธร
ขณะที่พรรคประชาชนเองก็กระโดดมาเล่นเกมเดียวกันนี้ ตอบโต้ทุกระดับในทุกประเด็น จนกลายเป็นช่วงสุดสัปดาห์ที่อาจเต็มไปด้วยการ ‘สาดโคลน’ เพราะเราแทบจะไม่ได้ยินการหาเสียงหรือการแนะนำนโยบายของตัวผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานีเลย
นอกจากการเป็นสนามประลองฝีปากระหว่างทักษิณ-พรรคประชาชนแล้ว ยังเป็นสนามของการประกาศนโยบายรัฐบาลอีกด้วย ทั้งเรื่องเงินหมื่นที่จะแจกกับผู้สูงอายุ ประกาศเป็นศัตรูกับพ่อค้ายาเสพติด และนโยบายอื่นๆ อีกหลายข้อ โดยห้อยท้ายว่า “ได้ยินจากท่านนายกฯ” ผู้เป็นลูกของตัวเอง อีกทั้งยังประกาศความแน่นแฟ้นของพรรคร่วมที่จะเกาะเกี่ยวไปจนถึงรอบการเลือกตั้งปี 2570
ทั้งหมดนี้ก็เพราะจะสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลเพื่อไทยจะพลิกฟื้นสถานการณ์ทั้งเศรษฐกิจและกลับมาทำแต้มต่อได้ในฐานะผู้ที่ถืออำนาจรัฐมากว่าปีเศษ แต่ในมุมกลับกันอาจสร้างความรู้สึก ปลุกคนกลางๆ ที่อาจไม่ได้ชอบอดีตนายกรัฐมนตรีคนนี้ให้สวิงคะแนนไปอีกฟากฝั่งหนึ่ง
22 พฤศจิกายนคือวันที่การการคาดการณ์ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีการพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องของธีรยุทธ์ สุวรรณเกษร ซึ่งมีผู้ถูกร้องคือทักษิณและพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะมีฉากทัศน์หลักเป็นไปได้ดังนี้
1.ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง
หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง ขั้นตอนถัดไปคือการไต่สวนพยานหลักฐานของผู้ร้องและผู้ถูกร้อง ซึ่งในคดีนี้ผู้ถูกร้องคือ ทักษิณ ในนามบุคล และพรรคเพื่อไทยในนามพรรคการเมืองซึ่งมี แพทองธาร ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค เราคงจะได้เห็นพ่อ-ลูก เดินขึ้นศาลเพื่อชี้แจงแก้ต่างพยานหลักฐานที่ทางผู้ร้องได้กล่าวหา และสิ้นสุดที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
2.ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง
หากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง คำร้องเป็นอันตกไป ไม่ต้องดำการใดๆ ต่อ
จุดตัดสำคัญของเรื่องนี้ คดีนี้แม้ในขยักแรกคือการร้องให้หยุดการกระทำ และถึงแม้ศาลจะวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครองก็จะมีโทษสูงสุดในคดีนี้คือการสั่งให้หยุดการกระทำดังกล่าว แต่คำวินิจฉัยนี้จะเป็นศาลตั้งต้นในการไปร้องคดีต่อได้ เช่นการร้องยุบพรรคเพื่อไทย
หากเป็นเช่นนั้นรัฐบาลจะเข้าสู่สถานการณ์แดนอันตรายอีกครั้ง เพราะหากมีการยุบพรรคเพื่อไทย หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคือแพทองธาร ชินวัตร ย่อมถูกตัดสิทธิทางการเมือง ต้องพ้นจากเก้าอี้นายกฯ กลายเป็นรัฐบาลรักษาการ และต้องเลือกนายกฯรัฐมนตรีคนใหม่จากบัญชีแคนดิเดต เพื่อไทยไม่มีแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีอีกต่อไป จากผลของการยุบพรรค
เมื่อถึงวันนั้นดุลอำนาจและเกมการเมืองจะขยับอีกครั้ง เแล้วตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะกลายเป็นของพรรคไหนเป็นอีกหนึ่งจังหวะการเมืองที่สำคัญอีกครั้ง