svasdssvasds

“ธีรยุทธ” ยื่น 6 ประเด็น 2 ลักษณะฟัน "ทักษิณ-เพื่อไทย" ล้มล้างการปกครอง

“ธีรยุทธ” ยื่น 6 ประเด็น 2 ลักษณะฟัน "ทักษิณ-เพื่อไทย" ล้มล้างการปกครอง

"ธีรยุทธ สุวรรณเกษร" มือสอยก้าวไกล งัดเอกสารกว่า 5 พันแผ่น ยื่นศาล รธน.สั่ง“ทักษิณ-เพื่อไทย“ เลิกใช้สิทธิ-เสรีภาพ นำไปสู่ล้มล้างการปกครอง.

จากกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ออกมาแถลงด้วยตัวเองว่า มีเรื่องใหญ่ โดยในวันที่ 10 ต.ค. 67 นี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาใหญ่มากของพรรคแกนนำรัฐบาล ซึ่งอาจจะพัฒนาไปสู่บทจบของพรรคแกนนำรัฐบาล ตามที่มีการนำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้ 

ล่าสุดวันนี้ (10 ต.ค. 67) นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของอดีตพระพุทธะอิสระ เปิดเผยกับ “เนชั่นทีวี” ว่า กำลังเดินทางไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ตามที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ออกมาให้ข่าวกับสื่อมวลชนจริง 

โดยเป็นการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ อันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยคำร้อง 65 หน้า และเอกสารประกอบ อีกจำนวน 443 แผ่น รวมคำร้องและเอกสารประกอบชุดละ 508 แผ่น จำนวน 10 ชุด รวมเอกสารทั้งสิ้น 5,080 แผ่น 

คุณธีรยุทธ ขยายความว่า ข้อมูลหลักฐานที่นำไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เป็นพฤติกรรมของนายทักษิณและพรรคเพื่อไทย รวม 6 กรณี ที่ตนเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง 2 ลักษณะด้วยกัน ซึ่งหลังจากยื่นคำร้องแล้วจะแถลงรายละเอียดต่อสื่อมวลชน

เมื่อถามว่า กรณีที่แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคเข้าไปหารือจัดตั้งรัฐบาลที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ในวันที่ 14 สิงหาคม โดยมีข่าวว่าอดีตนายกฯทักษิณเป็นคนเรียกเข้าไป และมีการหารือกันจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เป็นพฤติการณ์ที่นำไปร้องต่อศาลด้วยหรือไม่นั้น คุณธีรยุทธ บอกว่า เป็นหนึ่งในหลายๆ พฤติกรรมของอดีตนายกฯ และพรรคเพื่อไทย ซึ่งคิดว่าเข้าข่ายการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ด้วยเช่นกัน 

เมื่อถามเพิ่มเติมว่า หลักฐานสำคัญเป็นคลิปลับ หรือคลิปเสียงตามที่เป็นข่าวหรือไม่ คุณธีรยุทธ ตอบว่า ไม่ทราบรายละเอียดเรื่องคลิป แต่หลักฐานตามคำร้องของตนเป็นพยานบุคคลที่มีความหนักแน่น และมั่นใจว่าจะสามารถเอาผิดได้ 

สำหรับรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 บัญญัติว่า “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้

ผู้ใดทราบว่ามีการกระทําตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทําดังกล่าวได้

ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคําสั่งไม่รับดําเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดําเนินการภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับคําร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคําร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้

การดําเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดําเนินคดีอาญาต่อผู้กระทําการตามวรรคหนึ่ง”

คุณธีรยุทธ กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่วันนี้ไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง เพราะได้ไปยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดมาแล้ว เมื่อวันที่ 24 กันยายน แต่อัยการสูงสุดไม่ได้ดำเนินการใดๆ ภายใน 15 วัน และเมื่อวานครบกำหนด 15 วันแล้ว จึงนำคำร้องมายื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ 

พฤติการณ์ของผู้ถูกร้องทั้งสองแบ่งได้เป็น 6 กรณี ดังนี้

  • กรณีที่ 1 ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปีโดยพบว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุม การบริหารรราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ ให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ถูกร้องที่ 1 ให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ถูกร้องที่ 1 ระหว่างต้องโทษจำคุกได้พักอาศัยอยู่ห้องพักชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อไม่ต้องรับโทษอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว เป็นการฝ่าฝืนไม่น้อมรับโทษจำคุกในเรือนจำตามพระบรมราชโองการ การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่งทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อน บ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สุด
  • กรณีที่ 2 ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับสมเด็จฯฮุน เซน ซึ่งเป็นผู้นำทางการเมืองประเทศกัมพูชา ซึ่งมีระบบการปกครองที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์ และผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการ ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์กับสมเด็จฯฮุน เซน ให้ประเทศกัมพูชาละเมิดอธิปไตยทางทะเลของไทย โดยให้มีการเจรจาพื้นที่ที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าเป็นเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (MOU 2544) เพื่อแบ่ง ผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของไทยให้แก่ ประเทศกัมพูชา 
  • กรณีที่ 3 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมมือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชนซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการเมือง (พรรคก้าวไกลเดิม) ที่ต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการ ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้ถูกร้องที่ 1 และพวก 
  • กรณีที่ 4 ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการแทนผู้ถูกร้องที่ 2 ในการเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่บ้านพัก ส่วนตัวของผู้ถูกร้องที่ 1 (บ้านจันทร์ส่องหล้า)
  • กรณีที่ 5 ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาลโดยผู้ถูกร้องที่ 2 ยินยอมกระทำการตามที่ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการ 
  • กรณีที่ 6. ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ให้นำนโยบายของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 12 กันยายน 2567

ผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญโปรดพิจารณาวินิจฉัยว่า ทั้ง 6 กรณีผู้ถูกร้องทั้งสองได้มีการกระทำอันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ สูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมืองหรือดำรงความเป็นกลางทางการเมือง ย่อมเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง และ ผู้ถูกร้องทั้งสองมีการกระทำอันมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายระบบพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง การกระทำดังกล่าวทั้งสองประการ เป็นการกระทำที่อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด

เพื่อป้องกันความเสียหายร้ายแรงที่อาจจะเกิดแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นสถาบันหลักของประเทศและสถาบันพรรคการเมืองที่มีความสำคัญต่อระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นรัฐประศาสโนบายที่จำเป็นเพื่อดับไฟกองใหญ่ไว้แต่ต้นลมมิให้ไฟกองเล็กกระพรือโหมไหม้ลุกลามขยายใหญ่จนเป็นมหันตภัยที่ไม่อาจต้านทานได้ในวาระต่อไป

จึงขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดพิจารณาวินิจฉัยสั่งการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ดังนี้

  1. ให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกกระทำการใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือกระทำการอันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์
  2. ให้ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกกระทำการเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ การดำเนินงานของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2
  3. ให้ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน สั่งการรัฐบาลให้ดำเนินการตามความต้องการของผู้ถูกร้องที่ 1
  4. ให้ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกกระทำการใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
  5. ให้พรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้เป็นเครื่องมือกระทำการอันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์
  6. ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้เป็นเครื่องมือกระทำการเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ การดำเนินงานของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2
  7. ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลให้ดำเนินการตามความต้องการของผู้ถูกร้องที่ 1
  8. ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้

ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยคำร้อง 65 หน้า และเอกสารประกอบ อีกจำนวน 443 แผ่น 
รวมคำร้องและเอกสารประกอบชุดละ 508 แผ่น จำนวน 10 ชุด รวมเอกสารทั้งสิ้น 5,080 แผ่น

สำหรับ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร เป็นหนึ่งใน “นักร้อง” ที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน เนื่องจากเคยยื่นคำร้องเรื่องล้มล้างการปกครอง โดยกล่าวหาพรรคก้าวไกลกรณีรณรงค์หาเสียงให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีความหมายเป็นการยกเลิกมาตรา 112 จนศาลรัฐธรรรมนูญสั่งให้พรรคก้าวไกลหยุดการกระทำมาแล้ว และต่อมาได้ยื่นคำร้องซ้ำให้ยุบพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกลถูกยุบในที่สุด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related