svasdssvasds

ม.112 ปมสุดท้าย เงื่อนไขนิรโทษกรรม สังคมไทยเอายังไงกับคดีการเมือง?

ม.112 ปมสุดท้าย เงื่อนไขนิรโทษกรรม สังคมไทยเอายังไงกับคดีการเมือง?

ข้อสรุปในเวทีเสวนาแนวทางนิรโทษกรรมนักโทษคดีการเมือง พบว่า ทุกฝ่ายเห็นตรงกันในการนิรโทษกรรมคดีที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง ยกเว้นคดี ม.112 ที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน

SHORT CUT

  • เวทีเสวนาที่รวม 3 กมธ.นิรโทษกรรมมาแลกเปลี่ยนข้อสรุปที่ได้จาก กมธ. เห็นว่า การนิรโทษกรรมคดีการเมืองในอดีตตกผลึกแล้ว เว้นแต่กรณี ม.112 ที่ยังมีความเห็นต่างกันอยู่
  • แต่ยังมองว่าจำเป็นต้องหาทางออกเรื่อง ม.112 ด้วย เพื่อยุติความขัดแย้งระลอกใหม่
  • ประเทศไทยผ่านการนิรโทษกรรมมาแล้วหลายครั้ง หลังเหตุความขัดแย้งต่างๆ จบลง 

ข้อสรุปในเวทีเสวนาแนวทางนิรโทษกรรมนักโทษคดีการเมือง พบว่า ทุกฝ่ายเห็นตรงกันในการนิรโทษกรรมคดีที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง ยกเว้นคดี ม.112 ที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน

“การนิรโทษกรรมทางการเมือง ค่อนข้างนิ่งแล้วในกรณีความขัดแย้งในอดีต กรณีเสื้อเหลือง เสื้อแดง ประเด็นเหล่านี้ได้รับการตกผลึกแล้ว แต่ประเด็นที่มีความเห็นไม่ตรงกันมีเรื่องเดียว คือสถานการณ์ในปัจจุบัน การนิรโทษกรรมคดี ม.112”

 

ชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวในเวทีเสวนา “นิรโทษกรรมประชาชน ยังมีความหวัง (?)” ในฐานะผู้ที่เคยนั่งใน กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม พร้อมบอกว่า มองเห็นความหวังเรื่องการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองที่เกิดหลังความขัดแย้งเมื่อปี 2548 การพูดคุยในระดับ กมธ.พบว่าทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าต้องนิรโทษกรรมคดีความที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อคืนอิสรภาพและความเป็นธรรมให้สังคม แต่ยกเว้นกรณีความผิดที่ประสงค์ต่อชีวิต ไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายไหนก็ตาม

 

“บรรยากาศการพูดคุยใน กมธ.ทำให้เราเห็นความหวัง ทุกคนทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าไม่ควรมีใครต้องติดคุกเพียงเพราะความคิดที่แตกต่าง” ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข ผู้ช่วยเลขานุการคนที่ 3 ของ กมธ. กล่าวสมทบว่าบรรยากาศในที่ประชุม สส.ทุกพรรคเห็นตรงกันในเรื่องนี้ ทั้งตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล หรือนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ส่วนตัวมองว่าหากมีการนิรโทษกรรมในคดี ม.112 โดยมีเงื่อนไข มีโอกาสเป็นไปได้มากกว่า และมองว่าหากจะนิรโทษกรรมคดี ม.112 ได้ จะต้องหาเหตุผลให้ได้ว่า มันเกิด “ความสงบราบคาบ” ไม่มีการคุกคามอีกแล้ว จะทำให้สถานการณ์ต่างๆค่อยๆเปลี่ยนสู่จุดสมดุลได้

 

ด้าน ผศ.ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง นักวิชาการที่เป็นหนึ่งใน กมธ.ด้วย มองว่า แม้ใน กมธ.จะมีบรรยากาศที่เป็นมิตรกันแต่ทุกคนต่างมีจุดยืน โดยเฉพาะเรื่อง ม.112 ที่แตกต่างกันมาก และเมื่อเปรียบเทียบแล้วคดี ม.112 เป็นส่วนน้อยในคดีทางการเมืองทั้งหมด ดังนั้นข้อเสนอที่จะยังไม่รวมข้อความที่กำหนดให้ต้องนิรโทษกรรมคดี ม.112 ในทันที จะทำให้คดีอื่นๆเดินหน้าสู่การนิรโทษกรรมได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากกว่า แล้วต้องมาร่วมออกแบบกลไกที่ทุกฝ่ายยอมรับในการช่วยเหลือนักโทษการเมืองกลุ่มนี้ต่อไป

อย่างไรก็แล้วแต่ “นิรโทษกรรม” คือเครื่องมือในการยุติความขัดแย้งทางการเมืองที่ถูกใช้มาตลอดในประเทศไทยเพื่อข้ามผ่านบาดแผลความรุนแรงจากการเรียกร้องประชาธิปไตย ทั้งการนิรโทษกรรมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ,หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 หรือหลังการรัฐประหารทุกครั้ง ดังนั้นโจทย์ที่ท้าทายคือสังคมจะยอมรับ คดี 112 เป็นคดีทางการเมืองหรือไม่ หรือจะมีทางออกอย่างไรเพื่อให้นักสู้ทางความคิดได้มีโอกาสใช้ชีวิตในสังคมได้อีกครั้ง

 

“ถึงรัฐบาล หน้าที่ที่สำคัญคือคุณต้องผลักดันเรื่องนี้ให้สำเร็จ และพวกเราทุกคนต้องคงความแหลมคม อย่าปล่อยให้ความกลัวครอบงำเรา เป็นกำลังใจให้กัน ทำในสิ่งที่ทำได้ ประชาชนจะแข็งแกร่งที่สุดในตอนที่เรารวมตัวกัน ถ้าสุดท้ายนิรโทษกรรมไม่ได้ก็ต้องหาทางอื่นเพื่อให้เพื่อนเราออกมา” ณัชนนท์ ไพโรจน์ เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน กล่าวในช่วงท้ายการเสวนา

related