svasdssvasds

เปิดขั้นตอน "เลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 31" ขานชื่อโดยเปิดเผย ไร้ สว.ร่วมโหวต

เปิดขั้นตอน "เลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 31" ขานชื่อโดยเปิดเผย ไร้ สว.ร่วมโหวต

เปิดขั้นตอน "เลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 31" ซึ่งแคนดิเดตนายกฯ ต้องมีชื่ออยู่ในบัญชีพรรค พรรคการเมืองนั้นต้องมี สส. 25 คนขึ้นไป ลงมติโดยเปิดเผย ขานชื่อทีละคน ไม่รวมเสียง สว.

SHORT CUT

  • เปิดขั้นตอน "เลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 31" ซึ่งแคนดิเดตนายกฯ ต้องมีชื่ออยู่ในบัญชีพรรค 
  • พรรคการเมืองนั้นต้องมี สส. 25 คนขึ้นไป ลงมติโดยเปิดเผย ขานชื่อทีละคน ไม่รวมเสียง สว.
  • หลังจากสภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือกนายกฯ แล้วเสร็จ รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีต่อไป

เปิดขั้นตอน "เลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 31" ซึ่งแคนดิเดตนายกฯ ต้องมีชื่ออยู่ในบัญชีพรรค พรรคการเมืองนั้นต้องมี สส. 25 คนขึ้นไป ลงมติโดยเปิดเผย ขานชื่อทีละคน ไม่รวมเสียง สว.

หลังจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ทำให้ประเทศไทยต้องหานายกรัฐมนตรีคนใหม่มาดำรงตำแหน่ง ซึ่งทางสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการนัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นพิเศษ ในวันศุกร์ที่ 16 ส.ค. 2567 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญ

เปิดขั้นตอนเลือกนายกฯ ต้องการเสียง สส. เกินครึ่งเคาะเลือก

  • ขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 159 มีดังนี้

พรรคการเมืองที่มี สส. ในสภา ไม่น้อยกว่า 5% (25 คน) สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเคยแจ้งไว้ในการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 88 กำหนดให้พรรคการเมืองส่งบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกินสามชื่อ

โดยการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องเสนอชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160

ดังนั้น พรรคเพื่อไทยซึ่งมีเศรษฐา ทวีสินอยู่ในบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จะเสนอชื่อเศรษฐาอีกรอบไม่ได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่าเศรษฐาเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (4) และ (5)

 

 

การเสนอชื่อแคนดิดเดตนายกรัฐมนตรีเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือก จะต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) รับรองด้วยจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งใน 10 ของ สส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร จากข้อมูล ณ วันที่ 14 สิงหาคม 2567 มี สส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ 493 คน

โดย สส. 6 คนที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลงเนื่องจากกรณีการยุบพรรคก้าวไกลและถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง และอีกหนึ่งคนมุกดาวรรณ เลื่องศรีนิล สส. พรรคภูมิใจไทย ที่ถูกศาลฎีกาสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นจำนวนผู้รับรองในการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีไม่น้อยกว่าหนึ่งใน 10 จะอยู่ที่ 50 คน

สำหรับพรรคการเมืองที่มี สส. ไม่น้อยกว่า 5% ที่มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและมีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีให้สภาผู้แทนราษฎรโหวตเลือกได้ ประกอบไปด้วย

  • พรรคเพื่อไทย มี สส. 141 คน บัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีสองคน คือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และนายชัยเกษม นิติสิริ
  • พรรคภูมิใจไทย มี สส. 70 คน (ไม่นับรวมผู้ที่ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่) บัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีหนึ่งคน คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล
  • พรรคพลังประชารัฐ มี สส. 40 คน บัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีหนึ่งคน คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
  • พรรครวมไทยสร้างชาติ มี สส. 36 คน บัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีสองคน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี โดยปัจจุบันประยุทธ์ดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรี และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
  • พรรคประชาธิปัตย์ มี สส. 25 คน บัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีหนึ่งคน คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

 

ขั้นตอนการเสนอชื่อ "แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี"

การเสนอชื่อแคนดิดเดตนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือก จะต้องมี สส. รับรองด้วยจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งใน 10 ของ สส. ทั้งหมดที่มีอยู่ในสภา หรือคิดเห็นจำนวน 50 คน เมื่อเทียบกับจำนวน สส.ในสภาที่เหลืออยู่ ณ ปัจจุบันจำนวน 493 คน

ขั้นตอนการโหวต "เลือกนายกรัฐมนตรี"

สภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีจากผู้ได้รับการเสนอชื่อ โดยขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีจะทำโดยเปิดเผย โดยจะใช้วิธีการเรียกชื่อ สส. แต่ละคน และให้ สส. ลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งผู้ที่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น จะต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน สส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือต้องได้คะแนนเสียงตั้งแต่ 248 เสียงขึ้นไป เมื่อเทียบกับจำนวน สส.ในสภาที่เหลืออยู่ ณ ปัจจุบันจำนวน 493 คน

ทั้งนี้หากในขั้นตอนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถสรรหานายกรัฐมนตรีได้ ไม่มีแคนดิเดตนายกฯที่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนด ก็ต้องกลับไปเริ่มต้นกระบวนการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีใหม่ และเริ่มโหวตอีกรอบจนกว่าจะได้บุคคลมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

หลังจากสภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีแล้วเสร็จ รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีต่อไป

เช็กยอดล่าสุด สส.ในสภา 493 คน ก่อนเปิดโหวตนายกฯ คนใหม่

สส. ในแต่ละพรรค แบ่งตามฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน มีจำนวนดังนี้ 

พรรคร่วมรัฐบาล 314 คน

  • พรรคเพื่อไทย 141 คน
  • พรรคภูมิใจไทย 70 คน (หยุดปฏิบัติหน้าที่ 1 คน)
  • พรรคพลังประชารัฐ 40 คน
  • พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 คน
  • พรรคชาติไทยพัฒนา 10 คน
  • พรรคประชาชาติ 9 คน
  • พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 คน
  • พรรคชาติพัฒนากล้า 3 คน
  • พรรคเสรีรวมไทย 1 คน
  • พรรคพลังสังคมใหม่ 1 คน
  • พรรคท้องที่ไทย 1 คน

 

พรรคฝ่ายค้าน 179 คน

  • พรรคประชาชน 143 คน
  • พรรคประชาธิปัตย์ 25 คน
  • พรรคไทยสร้างไทย 6 คน
  • พรรคเป็นธรรม 1 คน
  • พรรคใหม่ 1 คน
  • พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 คน
  • พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า 1 คน
  • พรรคไทยก้าวหน้า 1 คน

ภายหลังจากการยุบพรรคก้าวไกลส่งผลให้ สส. จากพรรคก้าวไกลเดิมที่ย้ายมาสังกัดพรรคพรรคประชาชนมีจำนวนน้อยกว่าพรรคก้าวไกลห้าคน เหลือ 143 คน ด้านพรรคเป็นธรรมลดลงหนึ่งคน และพรรคภูมิใจไทยมี สส. ที่ถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่อีกหนึ่งคน และส่งผลให้จำนวนรวมของ สส. ในสภามีจำนวน 493 คน (ข้อมูลเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567)

ที่มา : ilaw

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related