svasdssvasds

กัณวีร์ ส่งจดหมายถึงคณะกรรมาธิการเวนิส กังวลยุบพรรคก้าวไกลขัดแนวทางสากล

กัณวีร์ ส่งจดหมายถึงคณะกรรมาธิการเวนิส กังวลยุบพรรคก้าวไกลขัดแนวทางสากล

'กัณวีร์' ส่งจดหมายด่วนถึงคณะกรรมาธิการเวนิส ขอความเห็นทางกฎหมาย (Amicus Brief) ในกรณียุบพรรคก้าวไกลถึงศาลรัฐธรรมนูญไทย หวั่นขัดต่อ 7 ข้อห้ามในการยุบพรรคการเมือง ในที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญโลก

SHORT CUT

  • กัณวีร์ อีเมลถึง คณะกรรมาธิการเวนิส (Venice Commission) เพื่อขอให้ติดตามคดียุบพรรคก้าวไกลอย่างใกล้ชิด
  • หวั่นขัดต่อมติ 7 ข้อของที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญโลก เกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง
  • โดยศาลรัฐธรรมนูญไทย กำลังจะเป็นเจ้าภาพการประชุมศาลรัฐธรรมนูญโลกในเดือนกันยายนนี้

'กัณวีร์' ส่งจดหมายด่วนถึงคณะกรรมาธิการเวนิส ขอความเห็นทางกฎหมาย (Amicus Brief) ในกรณียุบพรรคก้าวไกลถึงศาลรัฐธรรมนูญไทย หวั่นขัดต่อ 7 ข้อห้ามในการยุบพรรคการเมือง ในที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญโลก

วันที่ 3 ส.ค. 2567 นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 ส.ค.67 ตนเองได้ส่งจดหมายด่วนทางอีเมล์ไปยัง คณะกรรมาธิการเวนิส (Venice Commission ) หรือ คณะกรรมาธิการแห่งสหภาพยุโรปเพื่อประชาธิปไตยโดยกฎหมาย ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของสภายุโรป ในเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญของไทย จะมีการวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล ในวันที่ 7 ส.ค.67 นี้

นายกัณวีร์ ระบุว่า ส่งจดหมายนี้ในฐานะสมาชิกรัฐสภาคนหนึ่งของไทย ที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่ต้องการแสวงหาหลักการ และมาตรการที่ตรงไปตรงมาในระบอบประชาธิปไตย จึงขอให้คณะกรรมาธิการเวนิส มีความเห็นทางกฎหมาย Amicus Brief ต่อการตัดสินยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งได้รับความสนใจจากทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศที่เห็นคุณค่าทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

และเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญของไทยเป็นสมาชิกของสถาบันศาลรัฐธรรมนูญระดับโลก และไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมาคมศาลรัฐธรรมนูญแห่งเอเชียและสถาบันเทียบเท่า สถาบัน (AACC) ครั้งที่ 6 ในเดือนกันยายนนี้ จึงเห็นว่า คณะกรรมาธิการเวนิส ควรจะได้รับทราบถึงข้อเท็จจริงในคดียุบพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคการเมือง ที่ชนะการเลือกตั้ง อันดับ 1 ในการเลือกตั้ง เมื่อปี 2566 และมีข้อสงสัยว่า การที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่จะมีการหารือถึงการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ ภายใต้หลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน และสนับสนุนเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย แต่การดำเนินการเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองในประเทศนั้นกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม


"แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้เป็นสมาชิกหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับคณะกรรมาธิการเวนิส แต่เรายังคงยึดมั่นในค่านิยมทางการเมืองเดียวกันในระบอบประชาธิปไตย แนวปฏิบัติ 7 ประการเกี่ยวกับการห้ามและการยุบพรรคการเมืองที่ได้รับการรับรองในการประชุมเต็มคณะของคณะกรรมาธิการเวนิส ครั้งที่ 41 เมื่อเดือนธันวาคม 2542 ถือเป็นต้นแบบอันศักดิ์สิทธิ์ของการดำเนินการทั้งหมดสำหรับสถาบันศาลรัฐธรรมนูญระดับโลก การดำเนินการใดๆ ต่อการยุบพรรคการเมืองที่ขัดต่อหลักการ 7 ประการในเรื่องนี้จะต้องได้รับการตำหนิและห้ามอย่างเด็ดขาดหรือไม่"

นายกัณวีร์ ระบุว่า หลังจากส่งอีเมล์ไปเมื่อวานนี้ ก็ได้รับการตอบรับทันที แม้ทางคณะกรรมาธิการเวนิส จะตอบกลับว่า จะสามารถรับข้อเสนอแนะอย่างเป็นทางการจากประธานรัฐสภา หรือ สถาบันของรัฐได้เท่านั้น แต่ยินดีรับฟังความคิดเห็น ตนเองจึงได้ส่งจดหมายตอบกลับ ยืนยันไปยังคณะกรรมาธิการเวนิส ว่า เหตุผลที่ต้องการความเห็นต่อคดียุบพรรคก้าวไกล เพราะ คำตัดสินที่จะเกิดขึ้นอาจจะกระทบต่อหลักการประชาธิปไตยของไทย หลังจากเคยมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อปี 2563 การวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล ครั้งนี้ ยังเกี่ยวข้องกับการแก้ไข มาตรา 112 ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ที่เสนอแก้ไขกฎหมาย ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในระดับนานาชาติว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือในการลงโทษประชาชนที่เห็นต่าง และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วย

 

นายกัณวีร์ กล่าวย้ำว่า ตนเองไม่มีเจตนาที่จะละเมิดอำนาจศาล แต่หวังว่าการพิจารณายุบพรรคการเมืองจะยึดตามหลักการยุติธรรมและแนวปฏิบัติของคณะกรรมาธิการเวนิสต้นแบบศักดิ์สิทธิ์ที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้
และหวังว่า การพิจารณาอันดีของคณะกรรมาธิการเวนิส ในการออกคำแถลงการณ์ ที่เป็นมิตรไมตรี ต่อศาลรัฐธรรมนูญไทยเกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติ 7 ประการเกี่ยวกับการห้ามและการยุบพรรคการเมืองซึ่งเป็นหลักการสำคัญของสถาบันศาลรัฐธรรมนูญระดับโลกจะได้รับการชื่นชมอย่างยิ่ง

 

นายกัณวีร์ ระบุว่า เป็นที่เข้าใจกันว่าคณะกรรมาธิการเวนิสมักจะรับคำร้องขอคำชี้แจงจากศาลรัฐธรรมนูญ สถาบันของรัฐ หรือผู้นำรัฐสภาเท่านั้น น่าเสียดายที่ศาลรัฐธรรมนูญของไทยดูเหมือนจะไม่เต็มใจที่จะขอคำแนะนำดังกล่าว และหน่วยงานอื่นที่มีสิทธิ์ก็ไม่น่าจะดำเนินการ เพราะอาจเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ กับการยุบพรรค สถานการณ์นี้ทำให้เหลือทางเลือกจำกัด จึงจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องส่งจดหมายไปยังคณะกรรมาธิการเวนิส เพื่อให้รับทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

 

"ผมทำในฐานะปุถุชนคนธรรมดาคนหนึ่งที่อยากเห็นการเมืองไทยตรงไปตรงมา และประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง การกระทำนี้ไม่ใช่ว่าผมต้องรักและเข้าข้างพรรคก้าวไกล แต่ผมรัก เคารพ และเข้าข้างระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจเท่านั้นครับ" นายกัณวีร์ กล่าวย้ำ

related