‘เผด็จการจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ’ สโลแกนการชุมนุมของคณะราษฎร 2563 ยังคงถูกทิ้งไว้เป็นดิจิทัลฟุตพริ้นท์บนโลกอินเตอร์เน็ต และทิ้งร่องรอยความทรงจำเกาะติดตามมุมต่างๆ ของจุดที่เคยใช้เป็นสถานที่ชุมนุม คล้ายคราบเปื้อนที่ไม่มีวันลบออก
18 กรกฎาคมที่ผ่านมา นับเป็นเวลาครบ 4 ปีของการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกภายใต้ชื่อของ เยาวชนปลดแอก ที่ต่อมาจะรวมขบวนกลายเป็น ‘คณะราษฎร 2563’
ระยะเวลาเท่านี้ ถ้าเป็นรัฐบาลก็ครบเทอมถึงเวลาเลือกตั้งใหม่ ถ้าเป็นนักศึกษาก็ควรจบปริญญาตรีได้แล้ว จึงเป็นเวลาที่ดีที่จะมองกลับไป และประเมินว่าการชุมนุมครั้งใหญ่ของขบวนการประชาธิปไตย นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
ในซีรีย์ 4 ปีคณะราษฎร Spring STORY ได้มีโอกาสคุยกับแกนนำและอดีตผู้เข้าร่วมชุมนุมถึงความทรงจำในการชุมนุมครั้งนั้น ชวนมองความเคลื่อนไหวในข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อคือ ประยุทธ์และองคาพยพต้องลาออก, ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร.ที่มาจากประชาชน และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
พวกเขามองประเด็นเหล่านี้อย่างไร มีชัยชนะไหนในแนวรบเกิดขึ้นบ้างหรือไม่ ทั้งหมดเพื่อตอบคำถามว่าเผด็จการได้พินาศและประชาราษฎร์ได้เจริญหรือยัง
ข้อหนึ่ง ประยุทธ์และองคาพยพทั้งหมดออกไปหรือยัง?
ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ได้ออกจากหน้าฉากทางการเมือง และได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรี ขณะที่ทางด้านพรรคเพื่อไทยก็จัดตั้ง ‘รัฐบาลข้ามขั้ว’ กับพรรคร่วมรัฐบาลเดิม โดยมี ส.ว. 250 เสียงที่เลือกมาโดยคณะรัฐประหารเป็นผู้สนับสนุน
ท่ามกลางบริบทการเมืองเช่นนี้ พวกเขามองว่าข้อเรียกร้องของขบวนราษฎรข้อแรกว่า ประยุทธ์และองคาพยพทั้งหมดต้องออกไป นับว่าสำเร็จหรือยัง?
“จะพูดว่าประยุทธ์ไม่อยู่แล้ว ก็ไม่ใช่” มายด์ – ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หนึ่งในแกนนำคณะราษฎรเริ่มต้น “สิ่งที่เราเรียกร้องกันในปี 63 ไม่ใช่แค่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาลาออก แต่หมายถึงองคาพยพทั้งหมด รวมถึงผลพวงจากการรัฐประหาร เช่น รัฐธรรมนูญ 2560, ส.ว. 250 คน และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีต้องหมดไป”
“สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการควบรวมอำนาจที่คณะรัฐประหารวางรากฐานไว้ ดังนั้น ถึงแม้ พล.อ.ประยุทธ์จะไปแล้ว แต่สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่ และเป็นตัวคอยกำกับให้กลุ่มคนใหม่ๆ ที่เข้ามาในโครงสร้างนี้ ให้ต้องทำตามกลไกเหล่านี้ต่อไปเรื่อยๆ” มายด์กล่าวต่อ
“ประยุทธ์ออกไปแล้ว แต่ระบบยังอยู่ เวลาพูดถึงเรื่องนี้มันไม่ใช่แค่ตัวบุคคล แต่ สว. หรือการทำให้พรรคการเมืองข้ามฝากก็เพราะระบอบประยุทธ์” ไผ่ – จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา แกนนำม็อบราษฎรและกลุ่มทะลุฟ้ากล่าว
ตัวอย่างชัดเจนของคำอธิบายดังกล่าว คงไม่พ้นการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลหลังการเลือกตั้งปี 2566 ที่ถึงแม้จะสามารถรวมเสียงในรัฐสภาได้มากถึง 324 เสียง แต่ก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้ ส.ว.ชุดที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารมีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ เช่นเดียวกับ ส.ส.ที่มีที่มาจากประชาชน
จากความเห็นของทั้งสองคน จึงอาจสรุปได้ว่าข้อเรียกร้องข้อแรกของคณะราษฎร สำเร็จเพียงแค่ส่วนที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ออกจากการเมือง (หน้าฉาก) อย่างไรก็ดี องคาพยพทั้งหลายยังคงดำรงอยู่และส่งผลกับการเมืองมาถึงปัจจุบัน
ข้อสอง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือยัง?
พูดได้ว่าข้อเรียกร้องข้อนี้ ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด เพราะตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง สองพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงสูงที่สุดในสภาอย่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยต่างประสานเสียงตรงกันว่า จะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยมี สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ร่าง
โดยข้อมูลจาก Policy Watch ของสำนักข่าว Thai PBS รายงานความคืบหน้าล่าสุดว่า รัฐบาลเพื่อไทยตกลงจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดยให้มีการทำประชามติทั้งหมด 3 ครั้ง
ในมุมของไผ่ ซึ่งขณะนี้ก็กำลังเคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อยู่ แสดงความเห็นว่า สังคมไทยห่างไกลและมองความเชื่อมโยงในชีวิตกับรัฐธรรมนูญไม่ออก สาเหตุหนึ่งถูกคณะรัฐประหารฉีกทิ้งบ่อย อีกสาเหตุคือมาตราที่เยอะเกินไป
ดังนั้น ไผ่จึงวางให้เรื่องการรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในประเด็นที่สำคัญที่สุดของเขา และมุ่งมั่นจะผลักดันให้สังคมตระหนักและติดตามเรื่องนี้
“ผมเห็นว่าประเทศนี้ เดินในสภาอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องมีถนนด้วย มันต้องมีภาคประชาสังคมคอยขับเคลื่อนรณรงค์ เพราะสังคมไทยโดนรัฐประหารบ่อยมาก จนคนไม่ได้เรียนรู้” ไผ่กล่าวถึงการรณรงค์เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จากในฐานะภาคประชาสังคม ซึ่งตัวเขากำลังเคลื่อนไหวอยู่
ข้อสาม ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มีมุมไหนเคลื่อนไหวบ้างหรือยัง?
ในข้อเรียกร้องข้อ 3 หรือการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เห็นได้ชัดเจนว่าไม่ได้รับการตอบรับมากที่สุด ซ้ำร้าย ยังนำไปสู่คดีความและปัญหาทางการเมืองมากที่สุด อย่างไรก็ตาม มี 2 ประเด็นที่ซ่อนอยู่ในเรื่องนี้ที่ควรพิจารณาเพิ่มเติม
ประเด็นแรก การแก้ไขกฎหมายอาญา ม.112 ข้อมูลจาก The MATTER ระบุว่าในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง พรรคที่มีจุดยืนชัดเจนในการแก้ไข ม.112 คือพรรคก้าวไกลและพรรคเสรีรวมไทย ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลมีพรรคเพื่อไทย, ชาติไทยพัฒนา และไทยสร้างไทยที่รับปากว่าจะรับฟังปัญหาดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญมีนัดฟังคำตัดสินคดีพรรคก้าวไกลหาเสียงแก้ไข ม.112 ในวันที่ 8 ส.ค.นี้ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าผลคำตัดสินครั้งนี้ จะเป็นการขีดเส้นท่าทีของพรรคการเมืองต่อ ม.112
ถึงแม้เช่นนั้น ลูกเกด – ชลธิชา แจ้งเร็ว อดีตแกนนำคณะราษฎรที่เพิ่งได้รับเลือกเป็น ส.ส.ก้าวไกลยังยืนยันว่า เธอยังคงหนักแน่นในจุดยืนเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก และการลดบทลงโทษในคดีหมิ่นประมาททั้งหมด ไม่ให้สูงถึงขั้นจำคุก อย่างไรก็ดี เธอยอมรับว่าเมื่อดูทิศทางลมแล้ว การแก้ไข ม.112 ‘อาจจะไม่ง่าย แต่ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้’
“การเปลี่ยนแปลงมันจะมาถึง และเมื่อถึงจุดหนึ่ง คนที่นั่งอยู่ในบทบาทของ ส.ส. หรือฝ่ายบริหาร ก็ไม่สามารถที่จะไปทัดทานกับกระแสของการเปลี่ยนแปลงได้อยู่แล้ว” ลูกเกดเสริมต่อ “แต่อาจเป็นหน้าที่ของพวกเราเองด้วย ในการทำให้สังคมเข้าใจถึงหลักการสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเป็นช่วงเวลาสำคัญ ที่จะทำให้สังคมไทยมีความอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่หลากหลาย”
ประเด็นสอง สิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้ต้องขังคดีการเมือง ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ระบุว่า มีผู้ต้องขังคดีการเมืองถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำอย่างน้อย 45 ราย แบ่งเป็น
โดยในจำนวนนี้ มีผู้ต้องขังจากคดี ม.112 ทั้งหมด 25 ราย แบ่งออกเป็น
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานไว้ก่อนหน้านี้ว่า ภายหลังที่ บุ้ง – เนติพร เสน่ห์สังคม อดอาหารจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ทางศาลได้อนุญาตให้ประกันตัว ตะวัน – ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แฟรงค์ – ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร สองผู้ต้องขังทางการเมืองที่อดอาหารร่วมกับบุ้ง อย่างไรก็ดี ต่อมาศาลก็ยังคงดำเนินการพิพากษาลงโทษผู้ต้องหา ม.112 รายอื่น เช่น ‘ธนพร’ หรือ ไบรท์ – ชินวัตร จันทร์กระจ่าง
“ก่อนหน้านี้มีนักโทษการเมืองประมาณ 30 คน แต่ตอนนี้มีมากขึ้น แถมยังมีคนที่ถูกดำเนินคดีแล้วเสียชีวิตในเรือนจำ (บุ้ง) นอกจากนี้ เรายังเห็นว่าไม่มีใครได้ประกันตัวระว่างสู้คดี เรามองว่าหลายอย่างแย่ลงกว่าเดิม” ใบปอ – ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ กลุ่มทะลุวัง กล่าว
“เรารู้สึกว่าการเลือกตั้งเหมือนเป็นการฟอกขาวให้สังคมรู้สึกว่ามีประชาธิปไตยแล้ว แต่ระหว่างทางมันถูกต้องหรือเปล่า แล้วที่รับปากว่าจะปล่อยนักโทษการเมือง ตอนนี้เงียบหายไปเลย ไม่มีใครพูดถึงนักโทษในเรือนจำเลย” ใบปอแสดงความเห็นถึงสถานการณ์นักโทษความคิดในเรือนจำไทย
ถึงแม้บางคนจะมองสถานการณ์ในแง่ร้าย แต่ในฐานะผู้ออกกฎหมายจากพรรคที่มีที่นั่งมากที่สุด ลูกเกดยืนยันว่าในระยะเวลา 4 ปีในสภา เธอมุ่งมั่นจะผลักดันกฎหมายให้สำเร็จอย่างน้อย 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.สิทธิประกันตัว, แก้ไขพ.ร.บ ชุมนุมสาธารณะ และร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ลี้ภัย
โดยเธอเชื่อว่ากฎหมายทั้ง 3 ฉบับจะเป็นหลักประกันที่แข็งแรงให้แก่สิทธิและเสรีภาพของประชาชน และทำให้สังคมไทยมีความเคารพในสิทธิมนุษยชนมากขึ้น
ทำไมไม่หนีไป ทำไมยังมีความหวัง
ถ้าพูดกันอย่างเรียบๆ ไม่ผิดเลยที่จะบอกว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อของกลุ่มราษฎรยังไม่สำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน.. อย่างไรก็ตาม ทุกคนกลับเห็นตรงกันว่า “ความหวัง” ของความเปลี่ยนแปลงยังเปล่งประกายให้เห็นถนัดตา เพราะคณะราษฎรได้คว้าชัยชนะทางวัฒนธรรมมาไว้ในมือแล้ว
ใบปอแสดงความเห็นว่าถึงแม้กระแสการเคลื่อนไหวบนถนนจะซาลง แต่เราเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเชิงวัฒนธรรมอย่างชัดเจน เช่น การไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสิญในโรงหนัง หรือการตั้งคำถามถึงการปิดถนนเพื่อให้ขบวนเสด็จผ่าน
เช่นเดียวกับ แชมป์ – ฉัตรชัย พุ่มพวง หนึ่งในผู้ก่อตั้งเพจ Pūd และสมาชิกสหภาพคนทำงานที่มองว่าคณะราษฎรคว้าชัยชนะในเชิงวัฒนธรรมมาได้แล้ว แต่คำถามต่อมาคือ จะทำอย่างไรที่จะชนะในเชิงอำนาจ?
“มันต้องอาศัยการจัดการมากกว่านี้ มันต้องยั่งยืนถาวรแบบที่รัฐและทุนทำมาตลอดเพื่อรักษาโครงสร้างนี้ไว้” แชมป์กล่าว
“ถ้าจะเปลี่ยนโครงสร้างนี้ เราต้องสร้างองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานเต็มเวลาเพื่อสร้างประชาธิปไตย เพื่อจะเปลี่ยนแปลงและคัดง้างกับอำนาจเดิมให้ได้ ซึ่งสหภาพคนทำงานเป็นหนึ่งในนั้นที่พยายามอยู่” แชมป์ – ฉัตรชัย พุ่มพวง กล่าว
ด้านมายด์กล่าวว่า เธอเองก็ยังไม่มั่นใจว่าชัยชนะจะเกิดขึ้นในชั่วอายุของตัวเองไหม แต่จะ “ไม่สิ้นหวังแน่นอน เพราะความหวังเป็นสิ่งเดียวที่ฆ่าไม่ตาย”
“อะไรหลายอย่างที่คิดจะทวนกระแสน้ำและเวลา มันทำไม่ได้ พวกเราเติบโต พวกเขาแก่ตัว การยื้อจะยิ่งสร้างความเสียหายและสร้างความขัดแย้งระหว่างรุ่น แต่ถ้ามองไปข้างหน้าโดยไม่ยึดติดกับตัวเอง เราจะเข้าใจกันได้” มายด์ทิ้งท้าย