SHORT CUT
ศาล รธน. มีมติเอกฉันท์ เลือก สว. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ กกต. สามารถเดินหน้าจัดการเลือก สว.ระดับประเทศ ขั้นตอนสุดท้าย ในวันที่ 26 มิถุนายนนี้ต่อไปได้
วันนี้ ( 18 มิ.ย. 67) ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา มาตรา 36 การแนะนำตัวตาามที่ กกต.กำหนด มาตรา 40 41 และ 42 ว่าด้วยการเลือก สว.ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศนั้น ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 ที่ว่าด้วยจำนวน สว. สิทธิของผู้สมัครในการเลือก การรับสมัคร และการแบ่งกลุ่ม
สำหรับผลการวินิจฉัยดังกล่าวนี้ ส่งผลให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. สามารถเดินหน้าจัดการเลือก สว. ระดับประเทศ ขั้นตอนสุดท้าย ในวันที่ 26 มิถุนายนนี้ต่อไปได้
รายละเอียด คำร้องเรื่องเลือก สว.67
ทั้งนี้ 4 มาตราที่มีการร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ประกอบด้วย มาตรา 36 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้ผู้สมัคร แนะนำตัวได้ตามวิธีการและเงื่อนไขที่ กกต.กำหนด หรือบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้สมัครจะช่วยเหลือผู้สมัครในการแนะนำตัวต้องปฏิบัติตามวิธีการและเงื่อนไขที่กำหนด
มาตรา 40 วรรคหนึ่ง (3) มาตรา 41 วรรคหนึ่ง (3) และ มาตรา 42 วรรคหนึ่ง (3) เกี่ยวข้องกับวิธีการเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ที่กำหนดให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่ม, ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอ, ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัด ลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 2 และไม่เกิน 10 คน โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนมิได้ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่
สำหรับแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยออกมา ทั้ง 4 มาตรา “ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ” ทำให้การเลือก สว.ในระดับประเทศ วันที่ 26 มิ.ย.นี้ เดินหน้าต่อไปได้ และได้ ส.ว. 200 คน สำรองอีก 100 คน ตามไทม์ไลน์ 2 ก.ค. 2567
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดพิจารณาคดีคำร้องที่ประธานวุฒิสภา ส่งคำร้อง 40 สว.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรี ของนายเศรษฐา ทวีสิน จากการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรี โดยที่นายกรัฐมนตรี ได้ส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้วนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์ของหน่วยงาน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง จัดทำความเห็น และจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ เพื่อประกอบการพิจารณา และนัดพิจารณาต่อไป ในวันพุธที่ 10 กรกฎาคมนี้
ขณะที่ "คดียุบพรรคก้าวไกล" ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งในคดีคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยเพื่อยุบพรรคก้าวไกล ที่มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง พร้อมเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคฯ ซึ่งเมื่อ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา ศาลฯ มีคำสั่งให้ กกต.ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานภายใน 17 มิถุนายนที่ผ่านมา และ กกต.ได้ยื่นบัญชีระบุพยาน ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมาแล้วนั้น
ในวันนี้ (18 มิ.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดให้บุคคลเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง หรือความเห็นล่วงหน้าต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ เพื่อประกอบการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญในวันพุธที่ 3 กรกฎาคมนี้ และนัดให้คู่กรณี เข้ามาตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ต่อไป
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังมีคำสั่งให้นำพยานเอกสาร ในสำนวนการไต่สวนคดีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 3/2567 ซึ่งเป็นคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ที่ร้องให้ศาลฯ มีคำสั่งห้ามพรรคก้าวไกล แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยวิธีนอกเหนือกรบวนการนิติบัญญัติ มารวมไว้ในสำนวนคดีนี้ เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง