svasdssvasds

ไทย ยินดี "สหประชาชาติ" รับรองมติการหยุดยิงอย่างสมบูรณ์ในฉนวนกาซา

ไทย ยินดี "สหประชาชาติ" รับรองมติการหยุดยิงอย่างสมบูรณ์ในฉนวนกาซา

UN รับรองมติการหยุดยิงอย่างสมบูรณ์ในฉนวนกาซา ปล่อยตัวประกันที่ยังเหลืออยู่ สมาชิกถาวร 1 ประเทศคือรัสเซียงดออกเสียง

SHORT CUT

  • ไทยยินดีสหประชาชาติมีมติให้อิสราเอล-ฮามาส หยุดยิง
  • มติล่าสุดของ UNSC ได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากสมาชิกถึง 14 เสียงจากทั้งหมด 15 เสียง โดยมีเพียงรัสเซียที่ขอ “งดออกเสียง”
  • ยังไม่มีความชัดเจนว่า คู่กรณีทั้งสองฝ่าย จะตกลงและดำเนินการตามแผนหยุดยิง

UN รับรองมติการหยุดยิงอย่างสมบูรณ์ในฉนวนกาซา ปล่อยตัวประกันที่ยังเหลืออยู่ สมาชิกถาวร 1 ประเทศคือรัสเซียงดออกเสียง

กระทรวงการต่างประเทศ ออกแถลงการณ์ ระบุว่า  ประเทศไทย มีความยินดีต่อข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ 2735 (2024) ซึ่งได้รับการรับรอง เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 เรียกร้องให้มีการหยุดยิงอย่างสมบูรณ์ และครบถ้วนโดยทันทีในฉนวนกาซา ตลอดจนขอให้คู่กรณี ปฏิบัติตามข้อเสนออย่างครบถ้วนโดยไม่ล่าช้า และปราศจากเงื่อนไข ซึ่งรวมถึงการปล่อยตัวประกันที่ยังเหลืออยู่ รวมทั้งตัวประกันคนไทยด้วย

ประเทศไทย เห็นว่า ข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติดังกล่าว เป็นก้าวสำคัญในการหาทางออกอย่างสันติ ให้กับสถานการณ์ความขัดแย้ง  และคาดหวังให้มีการปฏิบัติตามข้อมติอย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ

ประเทศไทย สนับสนุนการคงความพยายามของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรลุทางออกบนพื้นฐานของแนวทางสองรัฐที่รัฐอิสราเอล และรัฐปาเลสไตน์อยู่เคียงข้างกันอย่างสันติ และมั่นคง โดยสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และข้อมติของสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง

โดยมติล่าสุดของ UNSC ได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากสมาชิกถึง 14 เสียงจากทั้งหมด 15 เสียง โดยมีเพียงรัสเซียที่ขอ “งดออกเสียง”

สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประกอบไปด้วย สมาชิกถาวร 5 ประเทศได้แก่ จีน ,รัสเซีย (งดออกเสียง) ,ฝรั่งเศส ,สหราชอาณาจักร ,สหรัฐอเมริกา และ 10 ประเทศ ซึ่งเป็นสมาชิกไม่ถาวรซึ่งมีการเลือกตั้งทุก 2 ปี ซึ่งปัจจุบันมีประเทศดังต่อไปนี้คือ อัลจีเรีย ,เซียร์ราลีโอน ,เกาหลีใต้ ,กายอานา ,สโลเวเนีย ,เอควาดอร์ ,ญี่ปุ่น ,มอลต้า ,โมซัมบิก ,สวิตเซอร์แลนด์

โดยเนื้อหาของมตินี้เรียกร้องให้อิสราเอลและฮามาส “ดำเนินการตามเงื่อนไขของข้อเสนออย่างเต็มที่โดยไม่ล่าช้าและปราศจากเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น”

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนว่า คู่กรณีทั้งสองฝ่าย จะตกลงและดำเนินการตามแผนหยุดยิง 3 ขั้นหรือไม่ แต่โดยหลักการ มติของคณะมนตรีความมั่นคงฯ ถือเป็นแรงกดดันที่ทั้งคู่น่าจะต้องยอมรับและปฏิบัติตาม

น่าสังเกตว่าก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 ทาง UNSC เคยรับรองมติที่ร้องขอให้เกิดการหยุดยิงเพื่อเหตุผลด้านมนุษยธรรมในกาซาในช่วงเดือนรอมฎอนมาแล้ว โดยในครั้งนั้น สหรัฐงดออกเสียง ขณะที่มติดังกล่าวไม่ได้นำไปสู่การหยุดยิงแต่อย่างใด

อ้างอิง

ฐานเศรษฐกิจ / VOAThai / NHK

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related