svasdssvasds

เปิดสถิติ "ที่สุด" ของผู้สมัคร สว. 2567 ทั่วไทย พบอายุมากสุดถึง 92 ปี

เปิดสถิติ "ที่สุด" ของผู้สมัคร สว. 2567 ทั่วไทย พบอายุมากสุดถึง 92 ปี

ส่องความคึกคักผู้สมัคร สว. ทั่วประเทศ พบ จ.ศรีสะเกษ สูงสุด 2,764 คน จ.น่าน น้อยสุด แค่ 98 คน กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการ และกลุ่มสตรี นำโด่ง มีคนสมัครมากสุด ด้านกลุ่มสื่อสารมวลชน สมัครน้อยสุด ส่วนอายุน้อยที่สุด คือ 40 ปี มี 700 คน อายุมากที่สุด คือ 92 ปี มีแค่ 2 คน

เว็บไซต์ร็อกเกต มีเดีย แล็บ เปิดเผยข้อมูลของการสมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระบุว่า ข้อมูลผู้สมัคร สว. ตามที่มีการเผยแพร่ในเว็บไซต์คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันที่ 25 พ.ค. 2567

มีผู้สมัครทั่วประเทศทั้งสิ้น 48,117 คน

  • เป็นเพศชาย 27,779 คน คิดเป็น 57.73%
  • เพศหญิง 20,338 คน คิดเป็น 42.27%

จังหวัดที่มีผู้สมัครมากที่สุด-น้อยที่สุด

  • จ.ศรีสะเกษ เป็นจังหวัดที่มีผู้สมัครสูงสุด 2,764 คน
  • จ.น่านมีผู้สมัครน้อยที่สุด 98 คน

กลุ่มอาชีพที่มีผู้ลงสมัครมากที่สุด (เรียงจากมากไปน้อย)

  1. ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น 5,211 คน
  2. กลุ่มสตรี 4,589 คน
  3. การศึกษา 4,447 คน
  4. ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ 3,816 คน
  5. อาชีพทำสวน 3,628 คน
  6. อาชีพทำนา 3,422 คน
  7. อื่นๆ 2,656 คน
  8. การบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง 2,478 คน
  9. พนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ 2,440 คน
  10. ประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ 2,168 คน
  11. กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 1,869 คน
  12. ผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม 1,844 คน
  13. กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา 1,819
  14. การสาธารณสุข 1,628 คน
  15. ผู้ประกอบกิจการอื่น 1,200 คน
  16. ผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว 1,200 คน
  17. ผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค 1,180 คน
  18. ผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม 1,039 คน
  19. สื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม 867 คน
  20. ผู้ประกอบอุตสาหกรรม 609 คน

 

 

 

จากข้อมูลจะเห็นว่า กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น และกลุ่มสตรี เป็นสองกลุ่มที่มีผู้สมัครสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งและอันดับสอง ตามลำดับ เนื่องจากสองกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีข้อกำหนดในการสมัครไม่ยุ่งยากซับซ้อนเท่ากับกลุ่มอาชีพอื่นๆ ที่ต้องพิสูจน์ประสบการณ์ในการทำงาน ในขณะที่สองกลุ่มนี้มีเพียงข้อกำหนดด้านอายุ เพศ อัตลักษณ์ ฯลฯ เท่านั้น 

ในขณะที่สองกลุ่มที่มีผู้สมัครน้อยที่สุด คือกลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม และกลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม พบว่า ในกลุ่มสื่อสารมวลชนนั้น นอกจากจะห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ยังมีระเบียบ กกต. ที่ห้ามผู้ประกอบอาชีพทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน ใช้ความสามารถ หรือวิชาชีพ เพื่อเอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัว ซึ่งเป็นข้อที่มีความกังวลว่าอาจสร้างข้อจำกัดทำให้มีผู้สมัครน้อยลง

โดยระเบียบข้อดังกล่าวเป็นหนึ่งในระเบียบฯ 4 ข้อที่ เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท ในฐานะผู้ประสงค์ลงสมัคร สว. (ขณะยื่นฟ้อง) ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอน 

 

 

อายุของผู้สมัคร สว. 

  • ผู้ที่สมัคร สว. ที่มีอายุน้อยที่สุด คือ 40 ปี มีจำนวน 700 คน
  • อายุมากที่สุดคือ 92 ปี มีจำนวน 2 คน

ภาคที่มีสัดส่วนผู้สมัคร สว. ต่อประชากรที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปมากที่สุด-น้อยที่สุด

  • ภาคที่มีสัดส่วนผู้สมัคร สว. ต่อประชากรที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปมากที่สุดคือภาคใต้ คิดเป็น 0.20%
  • ภาคที่มีสัดส่วนผู้สมัคร สว. ต่อประชากรที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปน้อยที่สุดคือภาคกลาง คิดเป็น 0.13% 

จังหวัดที่มีสัดส่วนของผู้ลงสมัคร สว. ต่อประชากรที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปมากที่สุด-น้อยที่สุด

หากพิจารณาเปรียบเทียบกับประชากรวัย 40 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สามารถสมัคร สว. ได้ จะพบว่า

จังหวัดที่มีสัดส่วนของผู้ลงสมัคร สว. ต่อประชากรที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปมากที่สุดคือ

  • มุกดาหาร 0.77%
  • สตูล 0.55%
  • นครนายก 0.48%
  • อำนาจเจริญและอ่างทอง 0.44%

 

จังหวัดที่มีสัดส่วนของผู้ลงสมัคร สว. ต่อประชากรที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปน้อยที่สุด

  • อุดรธานีและนครราชสีมา 0.03%
  • น่าน นครพนม และตาก 0.04%

 

related