“สว.สมชาย” ประกาศแจ้งข่าวดีคนสูงวัย ไม่ต้องรอเงินหมื่นดิจิทัล ปูดกระบวนการจ้างลงสมัคร สว. จ่ายสดเรียบร้อย เหน็บโรงเรียนการเมืองยกสภา พร้อมลงภาพประกอบ จี้ กกต.มีหน้าที่อย่าขี้ลืม
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กถึงกระบวนการจัดตั้งคนมาลงสมัครรับเลือก สว. ว่า ข่าวดีของผู้ไม่ต้องรอเงินดิจิทัล 10,000 บาท
ดร.พิชาย นิด้าแจ้งว่า ค่าจ้างลงสมัคร สว. จ่ายสด 2,000-15,000 บาท เรียบร้อย โรงเรียนการเมืองยกสภา 555 #ฮั้วเลือกสว. #กกต.มีหน้าที่ #อย่าขี้ลืม
ต่อมานายสมชายได้โพสต์ภาพกลุ่มผู้สูงอายุแห่กันไปสมัคร สว. พร้อมระบุข้อความว่า ตัวอย่างที่ 1 ที่การข่าวระบุว่า มีการจัดจ้างวานมาลงสมัคร สว.เพื่อ????
ขณะที่ในโพสต์มีผู้มาแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง เช่น แว๊บแรกเห็นภาพ คิดว่าไปแสดงตนรับ "เบี้ยชราภาพ"ค่ะ , สภาพแต่ละคนเดินจะไม่ไหวแล้วจะทำอะไรได้ คนพวกนี้แหละคะคือคนที่จูงง่ายสุด , ใช้งบประมาณไม่มาก ก็ยึดสภาบนได้ มองเห็นความพินาศอยู่เบื้องหน้า , เรื่องจริงค่ะ ได้ยินมาเองกับหู จ่ายค่าสมัครให้ด้วย ให้ค่าจ้างด้วย แต่ไม่ยอมบอกว่าใคร
ซึ่งกรณีนี้จะเข้าข่ายความผิดหรือไม่นั้น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องเป็นคนที่มาตรวจสอบ
อย่างไรก็ตาม กฎหมายมี "ข้อห้ามสำหรับการแนะนำตัว" ถือเป็นกฎเหล็กที่ผู้สมัคร สว. ต้องระวังไว้รวม 7 ข้อ หากฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ ทั้งยังจะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
"ข้อห้าม" ในการแนะนำตัวสำหรับผู้สมัคร สว.2567
1.ห้ามผู้สมัคร หรือ ผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการแนะนำตัว
2.ห้ามผู้ประกอบอาชีพทาง วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน หรือสื่อโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี และพิธีกร เป็นต้น ใช้ความสามารถหรือวิชาชีพดังกล่าวเพื่อเอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัว
3.ห้ามแจกเอกสารเกี่ยวกับการแนะนำตัวโดยวิธีการวาง โปรย หรือติดประกาศในที่สาธารณะ
4.ห้ามแนะนำตัวโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง หรือปลุกระดม ก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในพื้นที่
5.ห้ามแนะนำตัว ทางวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง เคเบิลทีวี หรือสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน นักข่าว หรือสื่อโฆษณา ซึ่งเผยแพร่ผ่านบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
6.จงใจไม่ปฏิบัติให้เป็นตามกฎหมายและระเบียบนี้
7.ห้ามผู้สมัครยินยอมให้บุคคลดังต่อไปนี้ เข้ามาช่วยเหลือผู้สมัครไม่ว่ากรณีใด ๆ
ทั้งนี้ หากผู้สมัคร สว. ฝ่าฝืน จะต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มีกำหนด 5 ปี โดยสามารถศึกษาเพิ่มเติมจาก ม.36, ม.70 พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567