ศิธา’ขึ้นเวที การเดินทางของประชาธิปไตย ฉายภาพการเมืองไทยในอุดมคติ นักการเมืองต้องสื่อสารกับประชาชนตรงไปตรงมา หากพรรคการเมืองสุดโต่งเกินไป จะส่งผลความขัดแย้งทางการเมือง ขณะที่ มาดามเดียร์ ฉายภาพการเมืองในฝัน อยากเห็นพื้นที่ให้ประชาชนแสดงเสรีภาพ ขจัดระบบอุปถัมภ์
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จัดเสวนาวิชาการ “การเดินทางของประชาธิปไตย” ในโครงการศึกษาวิชาการด้านการเมือง การบริหารและกฎหมาย พูดคุยกับ 3 นักการเมือง นำโดย น.ต.ศิธา ทิวารี ร่วมกับชุติพงศ์ พิภพพภิญโญ สส.จังหวัดระยองพรรคก้าวไกล และวทันยา บุนนาค สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ถึงภาพฝันการเมืองไทย และการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างก้าวหน้า-มั่นคง ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567
ช่วงแรกของการเสวนา 3 นักการเมือง ได้ฉายภาพ “การเมืองไทย” ในอุดมคติ โดย น.ต.ศิธา เปิดเผยว่า ตนเองนั้น เห็นว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ นักการเมือง ต้องสื่อสารกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา และต้องแก้ปัญหาเรื่องระบบอุปถัมภ์ของการเมืองไทย
น.ต.ศิธา ทิวารี ให้ความเห็นว่า การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาของนักการเมือง ในประเทศไทยนั้น จะทำให้ประชาชนตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่การสื่อสารที่เป็นเพียงเทคนิคการเรียกคะแนนนิยม หวังผลแค่ผลการเลือกตั้งเท่านั้น เนื่องจากการบริหารประเทศเป็นการบริหารที่ต้องใช้ภาษีประชาชนในการบริหาร จึงไม่สามารถบริหารตามใจตนได้
สำหรับปัญหาระบบอุปถัมภ์ น.ต.ศิธา ทิวารี มีมุมมองว่า ปัจจุบันนักการเมืองมีความเอนอ่อนต่อกลุ่มทุนใหญ่ มีการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน โดยนักการเมืองรับประโยชน์จากกลุ่มทุนเหล่านั้นเป็นการตอบแทน นอกจากนี้ยังมองว่าการวางตำแหน่งทางการเมืองให้กับนักการเมืองนั่งในกระทรวงต่าง ๆ ยังไม่ตอบโจทย์กับการพัฒนาประเทศ
เมื่อผู้ดำเนินรายการถามต่อว่า ‘วิธีการ’ ที่จะทำให้ภาพฝันการเมืองเหล่านั้นเกิดขึ้นได้จริงนั้นเป็นอย่างไร น.ต.ศิธา ระบุว่า ก่อนอื่นประชาชนจำเป็นต้องเข้าใจว่าตนสามารถตำหนินักการเมืองได้ เพื่อให้นักการเมืองตระหนักว่าสื่อสารอย่างไรแล้วจำเป็นต้องรับผิดชอบการสื่อสารนั้น นักการเมืองยังต้องทำตามข้อเรียกร้องของประชาชน ซึ่งในส่วนนี้ไม่สำคัญว่าจะเป็นพรรคหรือนักการเมืองที่มีอุดมการณ์ซ้ายหรือขวา
ปิดท้ายด้วยคำถามสำคัญคือ ประชาธิปไตยไทย เดินหน้า หรือถอยหลัง น.ต.ศิธา ชี้ว่า ประชาธิปไตยของไทยเป็นประชาธิปไตยแบบ ‘ไทยๆ’ มีความซ้ายจัดและขวาจัด อันจะทำให้ประชาชนเลือกฝั่ง แตกต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วที่ความนิยมในพรรคการเมืองจะไหลไปไหลมาตามความโดดเด่น อย่างไรก็ตามมองว่าพรรคการเมืองไทยมีการแสดงออกที่สุดโต่งมากไป จึงเป็นปัญหาตามมายังประชาชนที่เห็นด้วยกับทิศทางของพรรคบางอย่าง เช่น การขับไล่ผู้เห็นต่างออกนอกประเทศ ซึ่งหากไม่จัดการให้มีความพอเหมาะก็อาจเกิดความขัดแย้งทางการเมืองได้
น.ต.ศิธา ยังมองถึงปัญหาความต่างทางช่วงอายุวัยว่าอาจเป็นการแบ่งอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างผู้อายุน้อยกับผู้ที่มีอายุมากให้ยืนอยู่คนละฝั่งความคิดอันจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองเช่นกัน
ขณะเดียวกัน วทันยา บุนนาค สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ หรือ มาดามเดียร์ ซึ่งร่วมเสวนาด้วยในครั้งนี้ ได้ชวนตั้งคำถามเกี่ยวกับการเมืองที่อยากเห็นอย่างไรต่อไป ว่า แท้จริงแล้วการเมืองหมายความว่าอะไร ซึ่งก็มีนักปรัชญาพยายามนิยามคำว่าการเมืองไว้มากมาย
แต่เมื่อศึกษาพบว่า นิยามหนึ่งของการเมือง คือ จะพูดถึงเรื่องของอำนาจ แล้วนำอำนาจไปใช้ในการไปจัดสรรประโยชน์เพื่อประชาชน หรือความเป็นจริงก็มีนักการเมืองบางคนที่ใช้อำนาจนั้นเพื่อประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง นี่จึงเป็นที่มาของระบอบประชาธิปไตย
เพราะกติการะบอบประชาธิปไตย เป็นกติกาที่ทำให้คนที่มีความเห็นที่แตกต่างหลากหลายอยู่ร่วมกันในสังคม แต่เป็นกติกาที่จะมากำหนดร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันและเป็นที่ยอมรับของสังคม แล้วเราช่วยกันจะพัฒนาประชาธิปไตยอย่างไรให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ประชาธิปไตยของเราจะพัฒนาเข้มแข็งได้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญส่วนหนึ่ง คือบทบาทในการสร้างบรรยากาศเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อทำให้การเมือง ตั้งแต่การกำหนดเจตนารมณ์การเมืองร่วมกันไปในอนาคต หรือบทบาทประชาชนที่จะเข้ามาเป็นคนตรวจสอบถ่วงดุลคนที่ใช้อำนาจต่าง ๆ ให้เป็นไปด้วยความรัดกุม ถูกต้อง และตรงกับเจตนารมณ์ประชาชนมากที่สุด
"สิ่งที่สำคัญมาก ๆ ถ้าเราอยากจะเห็นการเมืองไทย และระบอบประชาธิปไตยของประเทศเราพัฒนาเติบโตไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการสร้างพื้นที่ให้กับประชาชนที่เขาจะมีเสรีภาพและเข้ามามีส่วนร่วมกับการเมืองให้ได้มากที่สุด" น.ส.วทันยา กล่าว
น.ส.วทันยา หรือ มาดามเดียร์ มีความเห็นและมุมมองต่อ ระบบอุปถัมภ์ของไทย ระบบอุปถัมภ์การเมืองไทย ว่า จากผลการเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา พบว่าระบบอุปถัมภ์ หรือบ้านใหญ่การเมืองท้องถิ่นได้เสื่อมสลายอำนาจไปในหลายจังหวัด ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีกับประเทศไทยที่จะพัฒนาการเมืองไปในอนาคต แต่สิ่งที่อยากจะเชิญชวนแล้วเราจะช่วยทำให้การเมืองไทยทั้งระบบสามารถก้าวข้ามระบบอุปถัมภ์ได้อย่างไร
เพราะการที่เรายังมีระบบอุปถัมภ์ ระบบบ้านใหญ่อยู่ มันเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในประเทศไทย และเมื่อการเมืองเริ่มต้นเข้าด้วยระบบอุปถัมภ์ก็อาจจะนำไปสู่การกระทำที่ผิดกฎหมาย การทุจริตคอรัปชั่น และอาจจะนำไปสู่เงื่อนไขการรัฐประหารภาพที่เราไม่อยากเห็น ดังนั้นสิ่งที่ตนอยากเห็นการเมืองที่ก้าวข้ามระบบอุปถัมภ์และเป็นพื้นที่กว้างเปิดโอกาสให้กับทุกคนที่มีความสนใจการเมือง มีความรู้ ความสามารถ เข้ามานำเสนอตัวเองให้ประชาชนได้ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น
สำหรับบรรรยายกาศ งานเสวนาวิชาการ “การเดินทางของประชาธิปไตย” อัดแน่นไปด้วยมุมมองของนักการเมืองจากหลากหลายพรรคแล้ว พื้นที่โดยรอบงานเสวนา ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 นั้น ยังคงคึกคักและเต็มไปด้วยการแลกเปลี่ยนความเห็นทางการเมืองของนักศึกษาภายในบูธวิชาการที่เรียงรายแน่นพื้นที่รอบคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์อีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง