ศรีสุวรรณ จรรยา ยื่น ป.ป.ช. ให้ดำเนินการสวนสอบสวนเอาผิด ส.ส. ที่มีหลักฐานยืนยันว่า กินกล้วย รับเงินหรือทรัพย์สินจากบุคคลอื่น เกินกว่ากฎหมาย ป.ป.ช.ที่กำหนด
วันนี้ ที่สำนักงาน ป.ป.ช.นนทบุรี ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์ณัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ดำเนินการไต่สวนสอบสวนเอาผิด ส.ส.ที่มีหลักฐานยืนยันว่ารับเงินหรือทรัพย์สินจากบุคคลอื่น โดยการโอนบัญชีธนาคารผ่านระบบ internet banking ของธนาคารนับแสนบาท
ไลน์หลุด ? ภาพหลักฐานสลิปการโอนเงินไปยังบุคคลปลายทาง
ทั้งนี้สืบเนื่องจากการที่สื่อมวลชนได้เผยแพร่ข้อมูลจากกรณีไลน์หลุด ซึ่งมีเนื้อหาและภาพที่ระบุให้เห็นว่า มีรายชื่อ ส.ส.พรรคเล็ก เซ็นชื่อรับเงินกันหลายคน และมีภาพหลักฐานสลิปการโอนเงินไปยังบุคคลปลายทาง ซึ่งเป็นชื่อของหัวหน้าพรรคการเมืองเล็กๆ รวมทั้งหัวหน้ากลุ่มการเมืองด้วย
โดยเป็นเงินจำนวนมากที่มีการจ่ายกันเป็นรายเดือน ตามที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ได้ออกมาให้ข่าวว่ามี ส.ส.พรรคเล็กบางคนรับเงินเกิน 3,000 บาท เกินกว่ากฎหมาย ป.ป.ช.ที่กำหนด ซึ่งใช้เป็นหลักฐานที่สามารถบ่งชี้ได้ว่านักการเมืองบางคนมีพฤติการณ์การรับเงินกันจริง ซึ่งอาจเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์บางอย่างกันหรือไม่
บทความที่เกี่ยวข้อง
ส่องประวัติ ศรีสุวรรณ จรรยา นักร้อง(เรียน)แห่งชาติ ผ่าน 9 คำถามต่อไปนี้
ชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. ขอบคุณศรีสุวรรณ “ยิ่งตรวจสอบ ยิ่งชอบธรรม ยิ่งสง่างาม”
ชาวเน็ตเดือด ล่ารายชื่อถอด ศรีสุวรรณ ออกจากเลขาฯ สมาคมองค์การพิทักษ์ รธน.
อาจเข้าข่ายฝ่าฝืน ม.128 วรรคแรก แห่ง พรป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561
ศรีสุววรณ ระบุว่า กรณีดังกล่าวหาก ส.ส.รับเงินกันกันจริง ก็อาจเข้าข่ายฝ่าฝืน ม.128 วรรคแรก แห่ง พรป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 ที่บัญญัติว่า “ห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคํานวณเป็นเงินได้จากผู้ใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ที่ออกโดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์และจํานวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด”
ซึ่ง ป.ป.ช.ได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. 2563 แล้ว ซึ่งกำหนดว่าเจ้าพนักงานของรัฐจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาได้แต่ละโอกาสไม่เกิน 3,000 บาทเท่านั้น
เข้าข่ายความผิดหลายมาตรา
ซึ่ง ส.ส.ผู้ที่ฝ่าฝืนจะมีความผิดตาม ม.169 แห่ง พรป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง 2560 ข้อ 8 ข้อ 9 ข้อ 10 และข้อ 17 ประกอบ ข้อ 27 วรรคสองได้ ซึ่งหาก ป.ป.ช.ชี้มูลว่าฝ่าฝืนจริงก็อาจยื่นคำร้องส่งให้ศาลฎีกาวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของ ส.ส.ผู้นั้น และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี
นอกจากนั้น ยังอาจเข้าข่ายความผิดตาม ป.อ.มาตรา 149 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1 แสนบาทถึง 4 แสนบาท หรือประหารชีวิต
ศรีสุวรรณ ระบุทิ้งท้ายว่า ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานจากแหล่งที่ปรากฏในสื่อสำนักต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย กลุ่มไลน์ต่างๆ และแหล่งข่าวเชิงลึก นำมามอบให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เพื่อเอาผิดผู้ที่กระทำการดังกล่าวต่อไป
ที่มา FB : ศรีสุวรรณ จรรยา