svasdssvasds

ป้ายหาเสียงชัชชาติ ไอเดียสุดเจ๋ง ที่ถูกจ้องจับผิด ฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง ?

ป้ายหาเสียงชัชชาติ ไอเดียสุดเจ๋ง ที่ถูกจ้องจับผิด ฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง ?

เล่าเรื่องราวความเป็นมาของป้ายหาเสียงสไตล์ชัชชาติ ก่อนถูกยื่นเรื่องให้ กกต. สอบสวนว่าผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ ? ล่าสุดชัชชาติได้ยืนยันว่า “ไม่เคยพูดว่า หากเลือกตนเองแล้ว ให้เอาป้ายหาเสียงของตนไป” จึงไม่เข้าข่ายความผิดแต่อย่างใด

เสร็จสิ้นไปเรียบร้อย สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โดยชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้สร้างปรากฏการณ์ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เกือบ 1.4 ล้านคะแนน ทิ้งห่างอันดับ 2 กว่าล้านคะแนน แต่หลายคนก็อดหวั่นใจไม่ได้ว่า เขาจะเจอแผนสกัดแบบคาดไม่ถึง จากกรณีที่มีผู้ไปยื่นเรื่องร้องเรียนกับ กกต. ว่า ป้ายหาเสียงของชัชชาติที่สามารถนำมารีไซเคิลทำกระเป๋า ผ้ากันเปื้อนได้ เข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ ? เรื่องราวเหล่านี้มีที่ไปที่มาอย่างไร SpringNews ขอสรุปให้แบบเล่าสู่กัน ดังต่อไปนี้

1. ป้ายหาเสียงชัชชาติ นวัตกรรมใหม่ในเลือกตั้งของเมืองไทย

ป้ายหาเสียงรีไซเคิลของชัชชาติ ถือได้ว่าเป็นสร้างนวัตกรรมใหม่ในการเลือกตั้งของเมืองไทย จนได้รับความชื่นชมอย่างล้นหลาม โดยป้ายหาเสียงของเขามีขนาดความกว้างใกล้เคียงกับเสาไฟฟ้า ทำให้ไม่เกะกะสร้างความเดือนร้อนให้กับผู้ใช้ทางเท้า อีกทั้งในเวอร์ชั่นป้ายไวนิล ยังสามารถนำไปทำกระเป๋า ผ้ากันเปื้อนได้อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นเป็นไอเดียสุดเจ๋ง ในการช่วยลดปริมาณขยะ ลดภาวะโลกร้อน

ที่มา FB : ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

บทความที่เกี่ยวข้อง

2. ที่มาของไอเดีย ป้ายหาเสียงสไตล์ชัชชาติ

เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน ขณะที่ป้ายหาเสียงสไตล์ชัชชาติกำลังถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก SpringNews ก็ได้สัมภาษณ์ชัชชาติถึงความเป็นมาของป้ายดังกล่าว โดยเขาได้เล่าว่า

“ผมไปส่งลูกที่อเมริกา แล้วไปเห็นป้ายหาเสียงที่นู้น ขนาดประมาณกระดาษ A 3 แล้วไม่มีป้ายที่เกะกะเมืองเลย ก็เลยแว๊บขึ้นมาว่า ทำไมเราทำอย่างนี้ไม่ได้ จึงคุยกับทีมงาน ทีมงานก็นำไปทำต่อ

“ซึ่งผมคิดว่า จริงๆ แล้วป้ายฯ ไม่ต้องใหญ่ก็ได้ คนเลือกเราไม่ได้เลือกเพราะป้าย เลือกเพราะนโยบาย เลือกเพราะตัวตนของเรา ป้ายแค่กระตุ้นเตือนนิดหน่อย แล้วทีมงานก็ช่วยออกแบบให้ขนาดของป้ายแคบลง โดยทีมงานของเราเคยทำป้ายรถเมล์ที่บอกข้อมูล ก็เลยให้แนวทางไปว่า จำนวนป้ายไม่ต้องเยอะ ขนาดเล็กไม่เกะกะ มีข้อมูลให้เพียงพอ

“แต่อย่าไปคิดว่าเป็นศึกเรื่องป้ายนะ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เมืองดีขึ้น คนเมืองก็จะแฮปปี้ และถ้าผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คนอื่นๆ ทำด้วยก็ดี จะได้ไปในทิศทางเดียวกัน” 

ที่มา FB : ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

3. ป้ายหาเสียงชัชชาติ นวัตกรรมที่เกิดจากการ “เอ๊ะ”

ชัชชาติกล่าวกับ SpringNews ว่า การที่เราตั้งคำถามหรือข้อสงสัยกับสิ่งต่างๆ รอบตัว เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ รวมถึงนวัตกรรมต่างๆ 

“ผมว่าบางทีเราก็ทำตามๆ กันมานะ ผมชอบคำพูดที่ว่า ให้เอ๊ะบ้าง อย่าอือ เห็นอะไรปุ๊บ เอ๊ะหน่อย ต้องทำอย่างนี้ไหม ต้องใช้ป้ายใหญ่ขนาดนี้ไหม พอเราเอ๊ะเนี่ย ก็มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น อย่างเรื่องรถหาเสียง EV หากเราเอ๊ะว่า ใช้รถกระบะแล้วมันมีควันพิษ เราก็จะคิดว่า ถ้าเช่นนั้นใช้รถ EV ได้ไหม

"อย่างป้ายไวนิล เราต้องเอาไปทิ้งเหรอ ? ก็มีการนำมาตัดกระเป๋า หรือป้ายหาเสียงที่ใช้กระดาษมัน ก็เอ๊ะว่าทำไมไม่ทำเป็นกระดาษที่รีไซเคิลได้ แล้วผมคิดว่าไม่ใช่เฉพาะเรื่องหาเสียงนะ หลายอย่างในเมือง ถ้าเราเอ๊ะ เราจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น"

4. ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หลายคนงานเข้า จากกรณีป้ายเสียงสไตล์ชัชชาติ

หลังการเกิดขึ้นของป้ายหาเสียงสไตล์ชัชชาติ ทั้งในเรื่องรูปทรงที่ถูกดีไซน์ไม่ให้เกะกะขวางทางเท้า รวมถึงเวอร์ชั่นที่สามารถนำไปรีไซเคิลเป็นกระเป๋าและผ้ากันปื้อนได้ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หลายคนก็ต้องรีบปรับเปลี่ยนขนาดป้ายของตนเอง เพราะป้ายหาเสียงในรูปแบบเดิมกินเนื้อที่บนทางเท้าจนสร้างความลำบากในการสัญจร อีกทั้งยังสุ่มเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุ

โดยชัชชาติได้ยืนยันกับ SpringNews ว่า ป้ายหาเสียงของเขาไม่ได้มุ่งหวังผลทางการเมือง และไม่อยากให้โยงเรื่องนี้เข้ากับเรื่องการเมือง

“ผมไม่ได้คิดเรื่องการเมืองเลยนะ คิดว่ามันทำให้เมืองดีขึ้น ผมว่าอย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องการเมือง เราช่วยกันดู เราอาจจะเห็นก่อนคนอื่นนิดนึง อย่าไปเคลมว่าเป็นผลงานเรา แต่ผมคิดว่าหลายคนก็มีอยู่ในใจเหมือนกันแหละ

“ซึ่งผมว่ามันเป็นเรื่องที่ดีและก็เป็นประโยชน์ ในอนาคตหรือตลอดไปก็หวังว่า การเลือกตั้งการเมืองใหญ่ ถ้ามีการลดขนาดป้ายลง ประชาชนก็จะชื่นชม”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ; ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.

5. ศรีสุวรรณ ยื่นเรื่องให้ กกต. สอบ ป้ายหาเสียงชัชชาติ เข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ ?

กระทั่งใกล้วันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ก็ได้เดินทางไปยื่นคำร้องกับ กกต. ขอให้สอบสวนชัชชาติ กรณีทำป้ายหาเสียงเป็นผ้าไวนิลเพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถนำไปรีไซเคิลเพื่อทำ “กระเป๋า-ผ้ากันเปื้อน” มีเจตนาแฝงอันเป็นการกระทำเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือไม่

"อันเข้าข่ายการฝ่าฝืน ม.65(1) แห่ง พรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 ซึ่งถ้า กกต.วินิจฉัยว่าเข้าข่ายก็อาจมีความผิดตาม ม.126 ของกฎหมายดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี" ศรีสุวรรณกล่าว

6. ประเทศไทย อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้

อย่างที่ทราบๆ กันดี ประเทศไทย อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ การออกมาแอ็คชั่นของศรีสุวรรณให้สอบสวนชัชชาติ จึงทำให้หลายๆ คนอดสงสัยไม่ได้ว่า นี้เป็นเกมทางการเมืองหรือไม่ ? เพราะหากว่ากันแบบไม่ต้องตีความทางการกฎหมายให้วุ่นวาย ใช้สามัญสำนึกพิจารณา ก็จะเห็นได้ว่า การจัดทำป้ายหาเสียงดังกล่าวไม่ได้มีเจตนาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการซื้อสิทธิขายเสียง แต่เป็นเรื่องของไอเดียในการรักษาสิ่งแวดล้อม จะว่าไปแล้ว ถือว่าเป็นประโยชน์เสียด้วยซ้ำ

หลังจากปิดหีบเลือกตั้ง ในโลกออนไลน์ก็ได้มีการขอร้องอย่าไปเก็บป้ายหาเสียงของชัชชาติ หรือหากเก็บไปแล้ว ก็ให้นำไปคืนตามสถานที่ที่ทีมงานของชัชชาติได้ระบุไว้ อันเนื่องมาจากได้มีการยื่นเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบตามที่กล่าวไว้ข้างต้น จึงหวั่นเกรงว่า ผู้ที่เก็บป้ายดังกล่าวไว้กับตัวอาจจะมีความผิด หรือทำให้ชัชชาติมีความผิด จนไม่สามารถเป็นผู้ว่าฯ กทม. ได้

ส่วนชัชชาติเองแม้จะให้สัมภาษณ์ในวันนี้ (23 พ.ค.) ว่าไม่ได้กังวล แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยหลังจากสิ้นสุดการลงคะแนนเลือกตั้ง เขาก็บอกว่า ทีมงานได้ตระเวนเก็บป้ายหาเสียงตามจุดต่างๆ แล้ว  

 และสำหรับผู้ที่ร้องเรียนนั้น ชัชชาติก็กล่าวว่า “ก็ต้องเคารพคนที่ไปร้อง แต่เรามีการคิดถึงเรื่องนี้มานานแล้ว ทั้งนี้ยืนยันว่า ตนเองไม่เคยพูดหรือบอกว่า หากเลือกตนแล้ว ให้เอาป้ายหาเสียงของตนไป ดังนั้นไม่ต้องกังวลว่าเรื่องนี้จะทำให้การดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. สะดุดลง เพราะทีมกฎหมายของตนคิดมาดีแล้ว

“สิ่งที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ควรได้รับการสนับสนุน เพื่อลดโลกร้อน อีกทั้งยังเป็นนโยบายของทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วย การนำสิ่งของกลับไปใช้ใหม่ไม่ใช่เรื่องที่น่ารังเกียจ และไม่เกี่ยวข้องกับการจะตัดสินใจโหวต หรือไม่โหวตให้ใคร”

ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า “ประเทศไทย อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้” จะเกิดขึ้นกับชัชชาติ ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. ที่ได้รับคะแนนเสียงสูงที่สุดในประวัติศาสตร์... หรือไม่ ?

related