svasdssvasds

สมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว สิทธิชุมชน LGBTQ ไทยเป็นอย่างไรบ้าง?

สมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว สิทธิชุมชน LGBTQ ไทยเป็นอย่างไรบ้าง?

ในที่สุดกฎหมายสมรสเท่าเทียมก็เริ่มต้นใช้เสียที SPRiNG ขอแสดงความยินดีกับสังคมไทย โดยเฉพาะกลุ่ม LGBTQIA+ (นับจากนี้ขอย่อเหลือเพียง LGBT) ที่ความรักจะได้รับการยอมรับทั้งทางพฤตินัยและนิตินัยเสียที

แต่กฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น เพราะสิทธิของ LGBT ยังมีอีกมากมายที่ถูกกดทับ และมีอีกมหาศาลที่รอคอยให้รัฐและสังคมตระหนักเพื่อแก้ไข

วันนี้ SPRiNG ชวนมาเช็กลิสต์กันเสียหน่อย ว่าสิทธิของชาว LGBT ในไทยเป็นอย่างไรบ้าง ถึงไหนแล้ว พวกเราได้รับสิทธิที่ควรจะได้รับเพียงพอหรือยังในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง และในฐานะประชาชนที่จ่ายภาษีเทียบเท่ากับทุกคน 

 

กฎหมายสมรสเท่าเทียมส่งผลอย่างไรบ้าง 

กฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับนี้นับเป็นก้าวที่สำคัญมากของชาว LGBT เพราะมันส่งผลให้ ‘บุคคล’ สามารถสมรสกันได้ตามกฎหมาย และทำให้ได้รับสิทธิที่ไม่แตกต่างจากคู่แต่งงานโดยทั่วไป หมายความว่าทำให้ชาว LGBT มีสิทธิดังต่อไปนี้ 

  • สิทธิในการจัดการทรัพย์สินคู่สมรส
  • สิทธิในการจัดการทางอาญา 
  • สิทธิในการลงนามรักษาพยาบาล
  • สิทธิในการรับประโยชน์จากรัฐ ในฐานะคู่สมรส กรณีคู่สมรสเป็นข้าราชการ 
  • สิทธิในการรับบุตรบุญธรรม
  • สิทธิในการรับมรดก กรณีคู่สมรสเสียชีวิต 

อย่างไรก็ตาม ยังมีสิทธิบางส่วนที่ถ้าคนทั้งสังคมไทยเชื่อในเรื่องความเท่าเทียมต้องร่วมกันผลักดันไปต่อ 


 

กฎหมายที่รอการแก้ไข 

ถึงแม้ในกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะกำหนดให้กฎหมายทุกฉบับต้องแก้ไขเพื่อให้สอดรับภายใน 180 วัน แต่ยังมีกฎหมายที่สำคัญบางส่วนที่ยังไม่แก้ไข ทำให้ให้ชาว LGBT ยังไม่ได้รับสิทธิที่เท่าเทียมเท่ากับคู่รักต่างเพศ 

สิทธิในการขอทำบุตรด้วยวิธีเทคโนโลยี ไม่ว่าอุ้มบุญหรือเด็กหลอดแก้ว โดยกฎหมายดังกล่าวถูกกำกับอยู่ใน พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ม. 19 กำหนดไว้ว่าต้องกระทำต่อ "หญิงที่มีสามีที่ชอบด้วยกฎหมาย” เท่านั้น และ ม. 21 ที่กำหนดว่าการตั้งครรภ์แทนต้องใกระทำโดย "สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย"

นอกจากนี้ การแต่งงานกับคนต่างชาติ คู่สมรสอาจยังไม่ได้รับสัญชาติไทยเนื่องจาก พ.ร.บ.สัญชาติได้กำหนดไว้ใน ม.9 ว่า “กรณีที่ภรรยาจะขอถือสัญชาติไทยตามสามี ต้องจดทะเบียนสมรสกับชายไทยถูกต้องตามกฎหมาย ไม่น้อยกว่า 3 ปี” และ ม. 10 ที่ระบุว่า “ผู้ที่ขอสัญชาติต้องมีความรู้ภาษาไทย โดยสามารถพูดภาษาไทยและฟังภาษาไทยเข้าใจ”

ต้องติดตามว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร 


 

สิทธิและสวัสดิการที่ยังต้องสู้ต่อไปของสังคมไทย

นอกจากเรื่องเพศจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์แล้ว ภาวะ Gender Dysphoria หรือความทุกข์จากความไม่ลงรอยกันระหว่างอัตลักษณ์ทางเพศ ก็เป็นอีกสาเหตุที่สำคัญที่เราควรให้ความสนใจกับสิทธิของชุมชน LGBT เพราะภาวะนี้ได้รับการยอมรับจากแพทย์ทั่วโลก และมีงานวิจัยหลานชิ้นบ่งชี้ว่าส่งผลเสียต่อจิตใจต่อคนนั้นได้ตั้งแต่มีความกังวลเพิ่มขึ้น, ภาวะซึมเศร้า จนถึงความพยายามจบชีวิตตัวเอง 

และหนึ่งในสิทธิที่ยังคงถกเถียงอยู่ในไทยคือ การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ร่าง พ.ร.บ.การรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ พ.ศ. …. ที่พรรคก้าวไกลเป็นผู้เสนอได้ถูกปัดตกไปเรียบร้อย อย่างไรก็ตาม ยังมีร่างของภาคประชาชนและรัฐบาลรออยู่ 

ในประเทศอย่างอาร์เจนตินา, มอลตา, ไอซ์แลนด์ ต่างเปิดให้ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีชึ้นไป (ยกเว้นไอซ์แลน 15 ปี) สามารถเลือกเพศในเอกสารราชการของตัวเองได้ โดยไม่มีขั้นตอนยุ่งยากเพียงแค่แจ้งเจตจำนงค์กับเจ้าหน้าที่เท่านั้น 

สำหรับสิทธิอื่นๆ ถูกเรียกรวมกันว่า ‘การดูแลเพื่อยืนยันเพศสภาพ (affirmative gender care)’ ไม่ว่าการจัดสวัสดิการปรึกษากับแพทย์, การใช้ฮอร์โมน ตลอดจนการผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งเริ่มมีแล้วในหลายประเทศ แต่แตกต่างกันไปในหลายระดับ 

อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัย ‘แนวทางต้นแบบการให้บริการสุขภาพ ที่ครอบคลุมแก่บุคคลข้ามเพศและชุมชนบุคคลข้ามเพศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก’ พบว่า คนข้ามเพศในภูมิภาคนี้โดยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าถึงสิทธิสุขภาพ และยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ว่า การปรึกษา, การตรวจทางวิทยาศาสตร์, ฮอร์โมน, กำจัด หรือผ่าตัดด้วยตัวเอง 

ปัจจุบัน ประเทศที่สนับสนุนเรื่องเหล่านี้มาก เช่น สวีเดน, เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี โดยประเทศเหล่านี้จัดสวัสดิการให้สำหรับเยาวชนทที่ต้องการปรึกษาเรื่องเพศของตัวเอง มีสวัสดิการฮอร์โมนมอบให้ รวมถึงจัดให้การผ่าตัดแปลงเพศเป็นสวัสดิการ 

ต้องยอมรับว่าการผ่านสมรสเท่าเทียมถือว่าเป็นก้าวใหญ่และก้าวหน้ามากของชุมชน LGBT ของโลก อย่างไรก็ตาม ยังมีเพดานอีกมากที่เราต้องช่วยกันผลักดันเพื่อโอบรับชาว LGBT ให้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมากขึ้น 

ดังนั้น ต้องติดตามกันต่อไปว่าสิทธิของชุมชน LGBT ในไทยจะพัฒนาไปอย่างไรบ้างในอนาคต แต่ที่แน่ๆ วันนี้ LOVE WIN
 

ภาพประกอบ: สมชาย พัวประเสริฐสุข 


 

related