จากกรณีที่ หวัง ซิง หรือ ซิง ซิง นักแสดงชาวจีนถูกพาตัวจากสนามบินสุวรรณภูมิ ไปยัง อ.แม่สอด จ.ตาก ก่อนถูกพาตัวข้ามไปยัง จ.เมียวดี ประเทศเมียนมา บริเวณท่าที่อยู่ตรงข้ามเมือง เคเค พาร์ค ก่อนถูกพาตัวไปที่อีกเมืองหนึ่ง โกนหัว และให้ฝึกพิมพ์ดีด
ถึงแม้ล่าสุด ทางการไทยจะช่วยเหลือ ซิง ซิง ได้แล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับดาราจีนรายนี้คือการ ‘ค้ามนุษย์’ โดยใช้ไทยเป็นทางผ่านสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ส่งผลกับภาพลักษณ์ของประเทศไทยอย่างชัดเจน
เป็นอีกครั้งที่คำว่า ทุนจีนเทา, ค้ามนุษย์, สแกมเมอร์ และชายแดนไทยฝั่ง แม่สอด - เมียนมา ผุดขึ้นมาอีกครั้งในสังคมไทย SPRiNG ชวนทำความเข้าใจว่าตรงข้ามชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นพื้นที่ของใคร มีรายงานการดำเนินธุรกิจผิดกฎหมายอย่างไรบ้าง และปัญหาดังกล่าวที่จริงแล้วน่ากังวลขนาดไหนในระดับโลก
ผู้มีอำนาจในเมียวดี
หากใครไม่ได้ติดตามการเมืองเมียนมา บอกได้เลยว่าคงสับสนกับตัวละครที่มีมหาศาล เยอะกว่าซีรีส์เกมออฟโทรน แต่สำหรับพื้นที่ จ.เมียวดี ตัวละครสำคัญที่เราอยากพาไปรู้จักมีแค่ 2 ตัวเท่านั้นคือ พ.อ.หม่อง ชิตตู่ และ กองกำลังแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNA) ซึ่งมีอิทธิพลควบคุมพื้นที่ จ.เมียวดี
ตัวละครตัวแรกคือ พ.อ.หม่อง ชิตตู่ เชื่อว่าชื่อของชายคนนี้เป็นที่คุ้นหูของใครหลายคนมานาน เขาคืออดีตหัวหน้ากองกำลังกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (DKB) ที่แยกตัวออกมาจากกองกำลังกะเหรี่ยงปลดปล่อยชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ที่เคยนำโดยผู้นำชาวคริสเตียนอีกทีนึง
ใน พ.ศ. 2553 เขาได้รับข้อเสนอจากรัฐบาลเมียนมาและแปรสภาพกองกำลังของตัวเองเข้าร่วมกับ กองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ของทหารพม่า และมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพเมียนมาเรื่อยมานับจากนั้น
ก่อนที่ในต้นมกราคม พ.ศ. 2567 เขาจะประกาศตัดความสัมพันธ์กับกองทัพเมียนมา และประกาศวางตัวเป็นกลางในสงครามกลางเมือง ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อกองกำลังมาเป็น กองกำลังแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNA) โดยใช้กำลังพลประมาณ 8,000 นาย ควบคุมพื้นที่ชายแดนเมืองเมียวดีตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก
ก่อนที่ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน พ.อ.หม่อง ชิตตู่ จะกลับลำอีกครั้งด้วยการสนับสนุนกองกำลังทหารเมียนมา 200 คนตอบโต้กองกำลัง สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือเคเอ็นยู (KNU) ก่อนคุ้มกันกองทัพเมียนมาเพื่อไปหลบอยู่ที่สะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 2 อ.แม่สอด จ.ตาก
อย่างไรก็ดี เป็นที่ทราบกันดีว่า พ.อ.หม่อง ชิตตู่ และกองทัพของเขาเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกับนายทุนชาวจีนที่มาลงทุนในพื้นที่ จ.เมียวดี หรือกล่าวได้ว่าชายคนนี้เป็นตัวละครสำคัญที่พัวพันกับธุรกิจสีเทาชายแดน ไทย - เมียนมา และถูกวิจารณ์จากกองกำลังกะเหรี่ยงกลุ่มอื่นว่าทรยศหักหลังและไม่มีอุดมการณ์
ธุรกิจสีเทาในเมียวดี
พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชเวโก๊กโก๋ตั้งอยู่ห่างจากสะพานมิตรภาพ ไทย - เมียนมา แห่งที่ 1 อยู่ราว 25 กม. มีพื้นที่ประมาณ 720 ตร.กม. และมีความยาว 16 กม. จาก อ.แม่สอดถึง อ.แม่ระมาด จ.ตาก พื้นที่แห่งนี้ได้รับการลงทุนจาก ยาไท่ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลด์ดิ้ง กรุ๊ป (Yatai International Holding Group: IHG) ที่มี 'เส่อ จื๊อเจียง' ผู้ต้องหาคดีเว็บพนันชาวจีนซึ่งถูกจับในประเทศไทยเมื่อเดือน ส.ค. พ.ศ. 2565
ชายคนดังกล่าวเคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Aljahzeera ว่า เขาถูกใส่ร้ายในคดีดังกล่าว และอันที่จริงเขาเป็นสายลับให้กับทางการจีนมาโดยตลอด
ขณะที่เมืองชื่อดังอีกแห่งคือ เคเค พาร์ค ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้าม ต.แม่กุ อ.แม่สอด ห่างออกไปจากสะพานมิตรภาพไทย - เมียนมาราว 6 กม. มีพื้นที่ประมาณ 20 ตร.กม. และมีผู้ลงทุนหลักคือ ตงเหมย กรุ๊ป (Dongmei Group) ซึ่งมี ‘หวัน ค็อกคอย’ หรือ ‘ไอ้ฟันหลอ’ อดีตหัวหน้ากลุ่ม 14K เป็นประธานบริษัท
โดยชายคนนี้เคยถูกจำคุกในมาเก๊าจากกรณีพยายามลอบสังหารอธิบดีกรมตำรวจ และถูกกระทรวงการคลังสหรัฐฯ คว่ำบาตร
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่ากำลังมีการก่อสร้างเมืองอีกแห่งตรงข้าม ต.ช่องแคบ อ.พบพระ จ.ตาก ในชื่อ ‘ไท่ฉาง’ หรือ ‘ท่าช้าง’ ซึ่งล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพิ่งมีการช่วยเหลือชาวอูกันดาจำนวน 23 คนออกจากเมืองดังกล่าว หลังถูกหลอกไปทำงานสแกมเมอร์
อันที่จริง จากข้อมูลจาก Justic of Myanamr ไม่ใช่เพียงเมืองย่อยสองแห่งนี้เท่านั้นที่มีกลุ่มชาวจีนมาลงทุนทำธุรกิจผิดกฎหมาย แต่ยังมีเมืองอื่น เช่น ยูหลง เบย์, อะพอลโล พาร์ค, ตงเหมย, เมืองใหม่เมียวดี และ จินเซียน พาร์ค ที่มีรายงานว่าประกอบธุรกิจการพนันและสแกมเมอร์ออนไลน์ โดยทาง KNA เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ร่วมกับนายทุนชาวสิงคโปร์และชาวจีน
ในรายงานของสถาบันสันติภาพสหรัฐฯ ประเมินไว้ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2566 ว่า มีบริษัทสแกมเมอร์อย่างน้อย 30 แห่งตลอดชายแดน ไทย - เมียนมา และอีกเกือบ 100 แห่งชายแดน จีน - เมียนมา
รายงานดังกล่าวประเมินว่ามีเหยื่อที่ถูกหลอกไปค้ามนุษย์ในเมียนมาอย่างน้อย 120,000 คน และคนกลุ่มนี้ถูกคาดหวังให้ทำรายได้ให้กับบริษัทสแกมเมอร์ประมาณ 12,000 บาท/ วัน หรือคิดเป็นความเสียหาย 5.3 แสนล้านบาท/ ปี ต่อประชากรใน 119 ประเทศทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศเจริญแล้ว เช่น ฟินแลนด์, อังกฤษ, สหรัฐอเมริกา, สเปน หรือญี่ปุ่น
ขณะที่ทางด้านเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เปิดเผยรายงานว่า มีผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์กว่า 6,000 ราย จาก 21 ประเทศ (เป็นชาวจีน 3,400 ราย) ถูกทารุณกรรมด้วยความรุนแรง ทั้ง ช็อตไฟฟ้า, น้ำร้อนราด ตลอดจนฆาตกรรม
ปราการทุนเทาดำล้อมไทย
อันที่จริง ธุรกิจสีเทาดำในพื้นที่ชายแดน แม่สอด - เมียวดี เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของปราการทุนเทาดำที่ล้อมชายแดนไทยเท่านั้น เพราะจากรายงานของ USIP ในพื้นที่ประเทศติดลุ่มน้ำโขงมีเหยื่อที่ถูกหลอกไปค้ามนุษย์และทำสแกมเมอร์ประมาณ 300,000 ราย โดยในเมียนมา 120,000 ราย กัมพูชา 100,000 ราย ขณะที่ในลาวมีอีกประมาณ 85,000 ราย
โดยมีการประเมินว่าความเสียหายจากสแกมเมอร์ในทั้ง 3 ประเทศ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านบาท/ ปี หรือสูงกว่า 40% ของ GDP ประเทศลาว, กัมพูชา และเมียนมารวมกันเสียอีก
ทางด้านไทยนอกจากจะกลายเป็นทางผ่านของการค้ามนุษย์ในภูมิภาคแล้ว ในรายงานของ USIP รวมถึงการอภิปรายของพรรคประชาชนหลายครั้งในสภายังให้ข้อมูลตรงกันว่า ทางการไทยได้ช่วยเหลือเมืองจีนเทาเหล่านี้ผ่านข้อตกลงขายพลังงานไฟฟ้า ติดตั้งเสาสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ถูกใช้เป็นศูนย์กลางฟอกเงิน รวมถึงยังถูกตัวแทนของกลุ่มทุนจีนเทายึดพื้นที่บางส่วนนำมาใช้ประโยชน์ เช่น แหล่งที่อยู่อาศัย, ท่าเรือ หรือในกรณีของ เคเค พาร์ค ได้ใช้ท่าเรือของกองทัพในการขนส่งเสบียง, อาชญากร และเหยื่อค้ามนุษย์รายวัน
ขณะที่ในกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับ ซิง ซิง ยิ่งเป็นการตอกย้ำความกลัวของนักท่องเที่ยวชาวจีนว่า หากคุณมาเที่ยวประเทศไทยอาจถูกลักพาตัว กลายเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ ตลอดจนนำตัวไปขายอวัยวะ ซึ่งจะสะเทือนต่อภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องจักรสำคัญของไทย
ภาพประกอบ: สมชาย พัวประเสริฐสุข