svasdssvasds

สุขาเคลื่อนเคลือบทองคำ​: เทียบสเปกรถสุขาภาครัฐ ทำไมราคาต่างกันเหลือเกิน?

สุขาเคลื่อนเคลือบทองคำ​: เทียบสเปกรถสุขาภาครัฐ ทำไมราคาต่างกันเหลือเกิน?

ทุกวันที่ 19 พฤศจิกายนของทุกปี องค์กรสหประชาชาติได้ถือให้เป็น ‘วันห้องน้ำโลก’ เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของสุขอนามัยในห้องน้ำ ซึ่งดูเหมือนว่าในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563 - 2567) ภาครัฐไทยก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไม่น้อยเหมือนกัน

จากการเก็บข้อมูลผ่านเว็บไซต์จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กรมบัญชีกลาง SPRiNG พบว่า ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานท้องถิ่นไทยใช้งบประมาณในการซื้อรถสุขาเคลื่อนที่ไปอย่างน้อย   419.22 ล้านบาท 

แต่เหมือนสำนวนของฝรั่งที่ว่า 'ปีศาจอยู่ในรายละเอียดเสมอ' เพราะรถสุขาหลายแห่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่างๆ ไม่ว่าจะเทศบาล อบต. อบจ. ที่มีสเปกใกล้เคียงกัน กลับมีราคาแตกต่างกันอย่างไม่น่าเชื่อ

ในวันสุขาโลกแบบนี้จึงเป็นโอกาสดีที่ทาง SPRiNG จะชวนดูการจัดซื้อจัดจ้างรถสุขาเคลื่อนที่ของ อปท. 5 แห่งในประเทศไทย เพื่อสะท้อนให้เห็นมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่แน่นอนนักของหน่วยงานท้องถิ่น


 

สุขาเคลือบทองคำ?  

จากการทำข้อมูลของ SPRiNG พบข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างรถสุขาของ อปท. ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563 - 2567) ที่น่าสนใจดังนี้ 

  • ไม่มีการระบุมาตรฐานครุภัณฑ์ในการจัดซื้อจัดจ้างรถสุขาเคลื่อนที่เอาไว้ในกรมบัญชีกลาง 
  • การจัดซื้อจัดจ้างรถสุขามีราคาระหว่าง 5 - 13 ล้านบาท 
  • อปท. บางแห่งจัดซื้อรถสุขาที่มีขนาด 6 ล้อ บางแห่ง 10 ล้อ และบางแห่งระบุไว้ใน TOR ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดให้มีลิฟต์โดยสารและห้องน้ำสำหรับคนพิการโดยเฉพาะ
  • จากข้อมูลในเว็บไซต์ gprocurement ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมามีการประกาศจัดซื้อรถสุขาเคลื่อนที่ทั้งหมด 79 ครั้ง จัดซื้อสำเร็จ 30 ครั้ง คิดเป็นงบประมาณ  419.22 ล้านบาท (เฉพาะที่เราค้นพบ)
  • การจัดซื้อรถสุขาเคลื่อนที่ครั้งใหญ่ที่สุดเป็นของ อบจ.สมุทรปราการ โดยจัดซื้อรถสุขา 10 ล้อ 12 คัน งบประมาณ 152.40 ล้านบาท (เฉลี่ย 12.7 ล้านบาท/คัน) 

ฮาวทูทำรถสุขา

สำหรับราคาเริ่มต้นในการทำรถสุขา ราคาของรถบรรทุก 6 ล้อยี่ห้อ Izuzu และ Hino เริ่มต้นเท่ากันที่ 1.1 – 2.3 ล้านบาท ขณะที่รถบรรทุก 10 ล้อใกล้เคียงกันที่ที่ 2.7 - 3.7 ล้านบาท (ราคาสูงสุดของ Hino อยู่ที่ 3.4 ล้านบาท)

สุริยะ แกล้วทนงค์ ผู้บริหารอู่โมเดิร์นบัส ซึ่งเป็นผู้ประกอบรถห้องน้ำให้กับบริษัทเอกชนให้ข้อมูลตรงกับผู้ประกอบการหลายรายว่า การประกอบรถห้องน้ำขึ้นอยู่กับสเปกที่ต้องการ แต่โดยรวมแล้วมักมีราคาไม่เกิน 1-2 ล้านบาท หรือแปลว่าหากภาคเอกชนรายย่อยทำรถห้องน้ำ ราคาจะเริ่มต้นที่ประมาณ 3 ล้านบาท 

“รถห้องน้ำมันไม่มีอะไรพิเศษนะครับ ระบบส้วม ระบบประปา แท๊งค์น้ำเหมือนบ้านทุกประการ” สุริยะกล่าว 

“ทำไมรถห้องน้ำที่นึงมัน 5 ล้าน ที่อื่นมัน 8 ล้าน รถห้องน้ำมันก็คือห้องน้ำ มันเหมือนส้วมซึมในบ้านเนี่ยแหละ แค่ย้ายจากบ้านไปอยู่บนรถ ทำห้องส้วมที่บ้านตกห้องละแสน ทำไมไปอยู่บนรถมันกลายเป็น 13 ล้านได้ล่ะ” สุริยะตั้งคำถามทิ้งท้าย 

 

ข้อสังเกตจากอดีตผู้ว่า สตง. 

SPRiNG ได้ลองนำข้อมูลที่ตรวจนี้ไปพูดคุยกับ พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่า มองการจัดซื้อจัดจ้างรถสุขาเคลื่อนที่ของ อปท.อย่างไร

“ราคาที่แตกต่างกันมันไม่เป็นผลดีกับความน่าเชื่อถือของท้องถิ่นนะครับ เพราะมันอาจถูกมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนบางอย่างซ่อนเร้นอยู่ในนั้นก็ได้” พิสิษฐ์กล่าว

พิศิษฐ์กล่าวว่า ข้อมูลชุดนี้สะท้อนว่าการจัดซื้อจัดจ้างรถสุขาของท้องถิ่นไม่มีมาตรฐาน ทั้งที่กระทรวงมหาดไทยในฐานะกระทรวงแม่ ควรวางกฎเกณฑ์ในการจัดซื้อจัดจ้างให้แก่ อปท.ทั้งหลาย

“ท้องถิ่นควรจะสามารถจะคํานวณแยกแยะต้นทุน เช่น มูลค่าห้องน้ำชาย, ราคาโถปัสสาวะเท่าไหร่บ้าง มันเป็นเรื่องที่ควรกำหนดมาตรฐาน ราคาวงเงิน งบประมาณกลางไว้ได้” พิสิษฐ์เปรียบเทียบกับเก้าอี้หรือรถประจำตำแหน่งของผู้บริหารที่มีการกำหนดสเปกไว้อย่างชัดเจนในเอกสารกรมบัญชีกลาง

พิศิษฐ์เข้าใจดีว่า อปท.บางแห่งต้องการเสรีภาพในการแต่งวัสดุเล็กน้อยๆ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานะ อย่างไรก็ตาม เขาเตือนว่ามันไม่ควรมากเกินไป เพราะสุดท้ายสเปกที่สูงขึ้นตามมาด้วยค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงที่สูงขึ้น 

“หลักการในการใช้งบประมาณรัฐเนี่ย ทุกคนควรคำนึงถึงประโยชน์ การใช้สอย ประสิทธิภาพเป็นสําคัญ ผมเข้าใจว่าพอคนมาใหม่ก็อยากโชว์ผลงาน แต่รถสุขามันก็คือรถสุขานะครับ เราควรคิดถึงการใข้งาน ราคา และความหมาะสมเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะเป็นปัญหานะครับ” พิศิษฐ์ทิ้งท้าย 

 

ภาพประกอบ: สุรัสวดี มณีวงษ์


 

related