SHORT CUT
น้ำท่วมเป็นภัยพิบัติที่ประเทศไทยเผชิญซ้ำซากมาเป็นระยะเวลาหลายทศวรรษ มีการจัดสรรงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง
น้ำท่วมเป็นภัยพิบัติที่ประเทศไทยเผชิญซ้ำซากมาเป็นระยะเวลาหลายทศวรรษ มีการจัดสรรงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนับตั้งแต่มหาอุทกภัย ปี 2554 ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายกว่า 23,839.21 ล้านบาท พื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 11,798,241 ไร่ และการออกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ที่มีเป้าหมายเพื่อรวมศูนย์การบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ (ปี พ.ศ. 2561-2580)
โดยระหว่างปี 2557-2559 มีงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำโดยตรงกว่าแสนล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกัน ยังมีการใช้งบกลางเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ฟื้นฟูความเสียหาย ก่อสร้างและซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างที่ใช้ควบคุมป้องกันและระบายน้ำนับแสนล้านบาท เฉพาะปี 2555 ใช้งบกลางรวม 1.2 แสนล้านบาท ส่วนปี 2560-2566 ใช้งบกลางรวมกันถึง 97,832.80 ล้านบาท
ในปี 2567 เกิดอุทกภัยใหญ่อีกครั้ง และสร้างความเสียหายแก่ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง ข้อมูล ณ วันที่ 4 ส.ค.-2 ก.ย. 2567 ในระบบสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อการบริหารจัดการพื้นที่น้ำท่วมของ GISTDA พบว่ามีพื้นที่น้ำท่วมทั้งหมด 1,231,323 ไร่ ผู้ได้รับผลกระทบ 241,875 ครัวเรือน ใน 11 จังหวัด
โดยจากรายงานข่าวน้ำท่วมในช่วง ส.ค. 2567 น่าสังเกตว่าทั้งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและแนวทางที่ใช้รับมือกับน้ำท่วมอาจไม่แตกต่างจากเมื่อสิบปีก่อนหน้ามากนัก ไม่ว่าจะเป็นคันริมตลิ่งกั้นน้ำพังทลาย น้ำป่าไหลหลากโดยระบบการเตือนภัยล่วงหน้าไม่ทันการณ์ การระบายน้ำออกจากเขื่อนเป็นระยะ การติดตั้งกระสอบทรายริมแม่น้ำให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงแนวคิดเรื่องการสร้างเขื่อนใหม่ในลุ่มน้ำภาคกลาง
Rocket Media Lab ชวนย้อนไปทำความเข้าใจงบประมาณที่เกี่ยวกับน้ำท่วม จาก "งบประมาณลงพื้นที่จังหวัด (Area) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566" จากเว็บไซต์ของสำนักงบประมาณ ซึ่งแจกแจงรายงานแสดงแผนการจัดสรรงบประมาณในมิติจังหวัด เพื่อวิเคราะห์ว่ามีการจัดสรรงบประมาณสำหรับแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างไร
โดยการเลือกที่จะพิจารณาการใช้งบน้ำท่วมจากปีงบประมาณ 2566 เนื่องด้วยเป็นงบประมาณและโครงการที่จะส่งผลต่อการป้องกันน้ำท่วมของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2566 ไปจนในถึงอนาคต โดยเฉพาะในปี 2567 ที่ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่อีกครั้ง
จากงบประมาณปี 2566 ทั้งหมด 3,185,000,000,000 บาท (3.185 ล้านล้านบาท) ซึ่งประกาศใช้เมื่อ 1 ต.ค. 2565 ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา Rocket Media Lab ใช้การจำแนกงบในมิติจังหวัดของสำนักงบประมาณ ซึ่งจำแนกงบประมาณเป็นรายโครงการของ 77 จังหวัด
จากนั้นคัดกรองเฉพาะโครงการที่มีคำสำคัญที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วม เช่น น้ำท่วม ประตูระบายน้ำ ผักตบชวา ซ่อมแซม ทรบ. (ทางระบายน้ำ) ซ่อมแซมบานระบาย รับน้ำป่า อาคารระบายน้ำ แก้มลิง ซึ่งพบว่ามี 6,511 โครงการ เป็นงบประมาณ รวม 53,377,557,500 บาท (53,377.55 ล้านบาท)
9. อื่นๆ (ติดตั้งและบำรุงรักษาระบบเตือนภัย, สร้างและปรับปรุงเครื่องสูบน้ำ,บริหารจัดการ,ค่าป้องกันและซ่อมแซมโครงการเนื่องจากอุทกภัย,จัดการและวิเคราะห์ข้อมูล, จัดทำข้อมูลผังน้ำ, ขุดเจาะบ่อบาดาล,ก่อสร้างระบบเก็บกักและระบายน้ำ อื่นๆ, ศึกษา สำรวจ ออกแบบ แผนที่ ระบบกักเก็บและระบายน้ำ,บำรุงรักษาเครื่องมือและจัดทำระบบติดตามสถานการณ์น้ำ, ปรับปรุงและวิเคราะห์ข้อมูลและฐานข้อมูล, ศึกษาแผนการบริหารจัดการน้ำ, บำรุงรักษาเขื่อนป้องกันตลิ่ง, ก่อสร้างพนังกั้นน้ำ,ขุุดเจาะบ่อบาดาล อื่นๆ) 2,442,361,300 บาท คิดเป็น 4.58%
หากพิจารณาโครงการที่เกี่ยวกับน้ำท่วม ตามลักษณะงานออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่
เมื่อจำแนกตามกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วมเป็นประเภทต่างๆ พบว่าในงบปีประมาณ 2566 มีงบก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งมากที่สุด 19,821,418,900 บาท คิดเป็น 37.13% ซึ่งเป็นงบฯ ที่ดำเนินการโดยกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติและระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ มากที่สุด 17,713,177,600 บาท คิดเป็น 89.36% รองลงมา คือ จังหวัดและกลุ่มจังหวัด 1,547,197,000 บาท คิดเป็น 7.81% ตามมาด้วยกระทรวงคมนาคม 468,389,000 บาท คิดเป็น 2.36% และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 78,405,300 บาท คิดเป็น 0.40%
เมื่อพิจารณาว่าจังหวัดใดได้งบก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งมากที่สุดพบว่า อุบลราชธานีเป็นจังหวัดที่ได้รับงบประมาณนี้มากที่สุด 1,309,936,300 บาท ซึ่งเป็นการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แม่น้ำชี มูล และโขง รองลงมาคือ บึงกาฬ 58,609,700 บาท สร้างเขื่อนริมตลิ่งแม่น้ำโขง ตามมาด้วย เชียงราย 942,947,400 บาท ซึ่งครึ่งหนึ่งอยู่ที่แม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย 934,003,300 บาท ที่ทั้งหมดเป็นเขื่อนริมแม่น้ำโขง และสุดท้าย กรุงเทพมหานคร 789,566,400 บาท ซึ่งนอกจากการก่อสร้างเขื่อนริมคลองเปรมประชากรแล้ว งบส่วนใหญ่เป็นค่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำทั่วประเทศ
จะเห็นได้ว่างบก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ซึ่งเป็นงบก้อนใหญ่ที่สุดในงบน้ำท่วมปีงบประมาณ 2566 เฉพาะที่เป็นโครงการการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำโขงมีสูงถึง 4,137,040,200 บาท หรือคิดเป็น 20.87% ของงบการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งทั้งหมด ในขณะที่หากพิจารณาเฉพาะ 4 อันดับแรก คือ จังหวัดอุบลราชธานี บึงกาฬ เชียงราย และหนองคาย ก็จะพบว่างบฯ โครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งที่ริมแม่น้ำโขงนั้นสูงถึง 2,673,634,000 บาท จากงบทั้งหมด 3,244,956,700 บาท
นอกจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่จัดสรรให้กับหน่วยงานต่างๆ แล้ว งบที่เกี่ยวกับน้ำท่วมยังมีงบประมาณรายจ่ายงบกลาง ซึ่งจัดสรรเพิ่มเติมจากงบประมาณของหน่วยงานรับงบประมาณ ภายใต้รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่มีเป้าหมายในการสร้างความคล่องตัวในกรณีที่ต้องรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดหมายได้ ผ่านการอนุมัติให้ใช้จ่ายโดยคณะรัฐมนตรีปีงบประมาณ 2560 - 2566 โดยงบกลางแต่ละปีจะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาเฉพาะกรอบวงเงินเท่านั้น จากการรวบรวมข้อมูลจาก งบประมาณรายจ่ายงบกลางของไทย: การจัดสรรและการบริหารงบประมาณ 3/2565 และ รายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายงบกลางประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของสำนักงบประมาณของรัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างปีงบประมาณ 2560-2566 มีวงเงินอนุมัติรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับน้ำท่วมรวม 97,832.80 ล้านบาท ดังนี้
เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินสำรวจ และวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณน้ำฝนรายเดือนเฉลี่ย 30 ปี พื้นที่น้ำท่วมในอดีตย้อนหลัง 10 ปี ระยะห่างจากลำน้ำ ความลาดชันของพื้นที่ สภาพการใช้ที่ดิน การระบายน้ำของดิน และพื้นที่ชลประทาน ระหว่างปี 2558 ถึง 2565 พบว่า ภาคกลางมีพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากมากที่สุด 54.55% อันดับสอง ตะวันออกเฉียงเหนือ 19.17% อันดับ 3 ภาคเหนือ 9.81% อันดับ 4 ภาคใต้ 8.94% อันดับ 5 ภาคตะวันออก 4.82% อันดับ 6 ภาคตะวันตก 2.01% และกรุงเทพฯ 0.70%
จังหวัดที่มีพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา และกำแพงเพชร ขณะที่ 5 จังหวัดที่ได้งบประมาณเกี่ยวกับน้ำท่วมปี 2566 มากที่สุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา อุบลราชธานี สงขลา นครพนม และบึงกาฬ นอกจากนี้ ยังพบว่าพระนครศรีอยุธยาไม่เพียงแค่ติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของทั้งงบประมาณและพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากเท่านั้น แต่ในปี 2566 ยังเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่น้ำท่วมมากที่สุดด้วย 415,582.96 ไร่
อีกจังหวัดหนึ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ เลย ซึ่งเป็นจังหวัดที่ได้รับงบประมาณน้ำท่วมปี 2566 มากเป็นอันดับ 9 แต่เมื่อดูข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ไม่พบว่ามีการบันทึกไว้ พื้นที่น้ำท่วมในปี 2565-2566 มีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดของงบประมาณปี 2566 จังหวัดเลยมีงบประมาณเกือบครึ่งหนึ่งเป็นงบสร้างเขื่อนป้องกันริมตลิ่งแม่น้ำโขง
ที่มา : rocketmedialab
ข่าวที่เกี่ยวข้อง