svasdssvasds

84 วัน สู่คำพิพากษา "เศรษฐา ทวีสิน" การเมืองไทยไปไหนต่อ?

84 วัน สู่คำพิพากษา "เศรษฐา ทวีสิน" การเมืองไทยไปไหนต่อ?

ไปต่อหรือพอแค่นี้? 84 วัน สู่คำพิพากษา "เศรษฐา ทวีสิน" ฉากทัศน์การเมืองไทย เดินไปทางไหนได้บ้าง นายกฯจะรอดหรือร่วง แล้วถ้าร่วง ใครบ้างมีสิทธิได้เป็นนายกฯ คนต่อไป

SHORT CUT

  • ฉายฉากทัศน์ความเป็นไปได้ในการเมืองไทย หลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณี "เศรษฐา ทวีสิน"
  • ถ้าศาลตัดสินว่าไม่มีความผิด สามารถเป็นนายกฯ ต่อได้ตามปกติ
  • แต่หากตัดสินว่าผิด นายกฯ พ้นจากตำแหน่งทันที ทำให้ ครม.ทั้งคณะต้องพ้นตำแหน่งไปด้วย จากนั้นต้องตัดสินใจว่าจะเดินหน้าเลือกนายกฯ จากในสภา หรือประกาศยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่

ไปต่อหรือพอแค่นี้? 84 วัน สู่คำพิพากษา "เศรษฐา ทวีสิน" ฉากทัศน์การเมืองไทย เดินไปทางไหนได้บ้าง นายกฯจะรอดหรือร่วง แล้วถ้าร่วง ใครบ้างมีสิทธิได้เป็นนายกฯ คนต่อไป

วันที่ 14 ส.ค. 2567 ถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ และอ่านคำวินิจฉัย เรื่องที่ 17/2567 กรณีที่ประธานวุฒิสภา โดยการเข้าชื่อของกลุ่ม 40 สว. ได้ส่งคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ กรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติ รู้คำตัดสินพร้อมกันในเวลา 15.00 น.

 

เมื่อนับไทม์ไลน์ที่กลุ่ม 40 สว. ชุดเก่า ทิ้งทวนก่อนหมดวาระ เข้าชื่อกันเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2567 เสนอเรื่องต่อประธานวุฒิสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย และเรื่องเข้าสู่ระบบธุรการของศาลรัฐธรรมนูญในวันต่อมา จากนั้นนายพิชิต ได้ลาออกจากรัฐมนตรีก่อนวันที่ศาลจะมีมติรับเรื่องไว้พิจารณา จึงทำให้เรื่องพิจารณานี้โฟกัสที่กรณีนายเศรษฐา ทูลเกล้าชื่อนายพิชิต ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

 

คดีนี้ใช้เวลาทั้งสิ้น 84 วัน จากวันแรกที่ศาลมีมติ 6:3 รับเรื่องนี้ไว้พิจารณาโดยไม่สั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว คือวันที่ 23 พ.ค. 2567 สู่วันอ่านคำวินิจฉัย วันที่ 14 ส.ค. 2567

ประเมินฉากทัศน์การเมือง 2 แนวทางจากคำวินิจฉัย

1.หากศาลวินิจฉัยว่า พ้นความผิด ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้ความเป็นนายกฯไม่สิ้นสุดลง นายเศรษฐา ทวีสิน สามารถเป็นนายกฯ ต่อไปตามปกติ โดยยังไม่มีคดีหรือข้อกล่าวหาอื่นในช่วงเวลานี้

 

2.หากศาลวินิจฉัยว่ากรณีดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ นายเศรษฐา จะต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที และส่งผลให้ ครม.ทั้งคณะพ้นตำแหน่งไปด้วย โดยรัฐบาลรักษาการสามารถดำเนินการต่อได้ 2 แนวทาง

ไม่ยุบสภา 

เดินหน้าเลือกนายกฯ ใหม่จากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 โดยต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ ที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ต่อ กกต.เท่านั้น ผู้ที่มีสิทธิถูกเสนอชื่อ ได้แก่

  1. แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย
  2. ชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย
  3. อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
  4. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
  5. พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ รมว.พลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ
  6. จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.พรรคประชาธิปัตย์

 

ยุบสภา Set Zero คืนอำนาจเลือกตั้งใหม่ให้ประชาชน

โดยรักษาการนายกรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศยุบสภา จากนั้น กกต.ต้องประกาศกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ภายใน 5 วันหลังยุบสภาฯ และจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45-60 วัน โดยผู้สมัคร สส.จะต้องสังกัดพรรคการเมืองภายใน 30 วันนับตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้ง นั่นคือ มีโอกาสให้ย้ายพรรคในช่วง 15-30 วันหลังยุบสภาฯ

related