SHORT CUT
เศรษฐา เผยเบื้องหลังการทำงาน ในรายการ ‘คุยกับเศรษฐา’ รับ ไปเยือนต่างประเทศบ่อยเพราะไฟต์บังคับ เชิญชวนเอกชนมาลงทุน มองไทยเหมือนเฟอร์รารี่ตอนนี้วิ่งแค่ 6-7 สูบ ต้องค่อย ๆ ไป
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยเบื้องหลังการทำงานของนายกฯ ผ่านรายการ “คุยกับเศรษฐา” เป็นเทปแรก ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) ดำเนินรายการโดยนายธีรัตถ์ รัตนเสวี ตอนหนึ่งว่า จุดมุ่งหมายของการมีรายการนี้ รัฐมนตรีทุกคนตั้งใจทำงานอย่างมาก และไม่มีช่องทางที่ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ธรรมดา ไม่มีช่องทางสื่อสารธรรมดาว่า รัฐบาลทำอะไรบ้าง ระยะยาวทำอะไรบ้าง พี่น้องได้เข้าใจว่า รัฐบาลทำอะไร 10 เดือนที่ผ่านมา
นายกฯทำงานมา 10 เดือน ถ้าเกิดบอกว่าไม่เหนื่อยคงโกหก นายกฯทุกท่านคงทำงานหนัก เหนื่อยกายเหนื่อยใจ แบกภาระหนักหน่วง แต่พูดแทนท่านอื่นไม่ได้ แต่ถ้าท่านผม เหนื่อยนอนคืนเดียวก็หาย แต่เสนอตัวมาทำงานกับสาธารณชน สำคัญกว่าคือความเดือดร้อนของประชาชน คนอยู่ฐานรากของสังคมเหนื่อยกว่าเยอะ ตนทำงานมา 40 ปี ยึดมั่น 2 วินัยคือ วินัยการทำงาน และทำงานให้หนัก ส่วนเรื่องการดูแลสุขภาพ การพักผ่อนต้องทำให้เพียงพอ
เมื่อถามถึงการเดินทางเยอะ แม้พื้นที่นั้นไม่มี สส.ของพรรค มีแนวทางลงพื้นที่อย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า มาในฐานะนายกฯของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่นายกฯของพรรคเพื่อไทยอย่างเดียว อันนี้ชัดเจน เชื่อว่าการทำงานของตนมาโดยตลอด ให้ความมั่นใจได้ว่า ไม่เลือกจังหวัดลง ส่วนแนวทางลงพื้นที่ต่างจังหวัด มีพื้นที่เป็นรองนักการเมืองหลายท่าน ตนเพิ่งเข้าสู่ถนนการเมืองเมื่อ 3-4 ปีมานี้เอง การลงพื้นที่สำคัญสำหรับมือใหม่อย่างตน เพราะไม่ได้คลุกคลีกับประชาชนเท่ากับนักการเมืองที่อยู่มานาน ดังนั้นการลงพื้นที่คือเพื่อเข้าใจปัญหาประชาชนจริง ๆ
นายเศรษฐา กล่าวว่า นโยบายเรือธงของรัฐบาลมีหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการท่องเที่ยว ทำรายได้ให้กับประเทศสูงมาก เช่น การลงพื้นที่ภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงมาก แต่ปัญหาเยอะ ไม่ว่าจะน้ำประปา มาเฟีย ขยะ ถนน ความปลอดภัย ดังนั้นต้องให้ความปลอดภัยอย่างยิ่ง สัปดาห์แรกที่เป็นนายกฯก็ลงไปแล้ว เชิญ รมว.คมนาคม ไปดูการจราจร ทำให้เสน่ห์ภูเก็ตหายไปหมด
ส่วนไปสุวรรณภูมิหลายครั้ง สำคัญคือไม่บอกล่วงหน้านั้น นายเศรษฐา กล่าวว่า เราต้องการสร้าง asian hub คือนโยบายเรือธงของรัฐบาล สุวรรณภูมิเคยเป็นสนามบินระดับโลก แต่ปัจจุบันอันดับตกลงไปมาก เราไม่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เลยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้หมายความว่าไม่มีศักยภาพโตต่อได้ นี่เป็นเรื่องของอนาคต อยู่กับปัจจุบันก่อนว่า ท่องเที่ยวนโยบายเรือธงของเราเหมือนกัน นักท่องเที่ยวที่ก้าวแรกเหยียบแผ่นดินไทยต้องมีความสุข
ไม่ว่าจะเรื่องต่อคิว เรื่องระบบขนส่ง ถ้าไปโดยไม่บอกว่าความลำบากคืออะไร คิวยาว ไม่สามารถทำอะไรได้ ก็เป็นปัญหา ต้องลงไปแบบไม่บอกล่วงหน้า ได้ไม่มีการเตรียมการ ไม่ได้จับผิดหรืออะไร แต่เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ก่อนเป็นนักการเมือง บริษัทเก่าตนก็ทำอย่างนี้ ไปตรวจงานโดยไม่บอกล่วงหน้า จะได้สถานภาพที่จริงมากกว่า ไปถึงก็ไม่ได้ด่าหรือว่าเขา เราพูดคุยว่าปัญหาคืออะไร เพื่อแก้ไข
เมื่อถามถึงเทคนิคที่เคยใช้บริการธุรกิจมา แก้ปัญหาได้ทันท่วงทีหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า สภาพแวดล้อมต่างกัน ในส่วนที่เคยอยู่ภาคเอกชนมาก่อน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแตกต่างกันไป เราต้องดูให้ครบทุกหมู่เหล่า เรื่องของความระมัดระวังขั้นตอนต่าง ๆ การทำงาน มีกลไกทางราชการ เราต้องเคารพ มีองค์กรอิสระตรวจสอบเยอะ ต้องดูว่าที่ทำทุกอย่างถูกต้อง ตามระเบียบ แต่ความเดือดร้อนไม่คอยท่า แต่ระหว่างทางอาจมีมาตรการระยะสั้น หรือชั่วคราวเพื่อพยุงปัญหา บางทีปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว มันคือระบบราชการ เราอยู่ตรงนี้ก็ต้องยอมรับตรงนี้
นายเศรษฐา ยังยกตัวอย่างถึงการเลือกพื้นที่จัด ครม.สัญจร ว่า ครม.สัญจรครั้งแรก ลงหนองบัวลำภู เพราะ GDP ต่ำสุด ทุกจังหวัดต้องการความช่วยเหลือในหลายมิติ เหนือสิ่งอื่นใดเราไม่ได้ไปคนเดียว ทุกกระทรวงไปหมด มีการกำหนด KPI ชัดเจนว่ามีอะไรบ้าง สร้างความหวังกับประชาชนถ้าเราไป ครม.สัญจรว่า จังหวัดใกล้เคียงได้อานิสงค์อะไรบ้าง
เมื่อถามว่า ขณะลงพื้นที่ได้สัมผัสประชาชนอย่างไรบ้าง นายเศรษฐา กล่าวว่า แบ่งเป็น 2-3 อย่าง เช่น เราพบปะมวลชน เราได้เห็นจริง ๆ ว่าในสายตาเขาทุกข์ยากขนาดไหน บางเรื่องเขาร้องเรียนมา เราไม่ได้ยิน เพราะถูกสกรีนออกไป เลยลงพื้นที่เองว่าเขาร้องเรียนอะไรบ้าง รับฟังโดยตรงโดยไม่มีการสกรีนเลย การพบปะข้าราชการก็สำคัญ โอกาสพบข้าราชการฝ่ายการปกครองก็น้อย ได้พบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ เป็นอะไรที่ให้ความรู้กับตน และรัฐมนตรีหลายท่าน
ส่วนการเดินทางไปต่างประเทศบ่อยนั้น นายเศรษฐา กล่าวว่า ไปมา 15 หน กว่าครึ่งเป็นไฟต์บังคับ เป็นการไปเกี่ยวกับอาเซียน หรือไปจีน กัมพูชา สิงคโปร์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย เป็นอาเซียนเจแปนครบ 50 ปี ไม่ไปไม่ได้ หรือไปศรีลังกา ไปเซ็นสัญญา FTA รัฐบาลเดิมทำไว้แล้ว หลีกเลี่ยงไม่ได้ ยอมรับรัฐบาลก่อนเขาอาจทำเรื่องอื่นที่สำคัญมากกว่า แต่มาถึงตรงนี้เรื่องการค้าระหว่างประเทศ ความเปราะบางภูมิรัฐศาสตร์ การลงทุนข้ามชาติกับไทยเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไปเชื้อเชิญว่าไทยเปิดแล้ว ไม่มีเวลาไหนดีเท่าเวลานี้ในการลงทุน ตนก็ต้องไป แล้วการลงทุนกลับมาเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาท ทำไมถึงไม่ไป ส่วนการลงทุนขึ้นกับเวลา บางครั้งก็เกิด บางครั้งกำลังจะเกิด หรือบางครั้งไม่เกิดก็มี ตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นหน้าที่ของตน
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการเดินทางไปเยือนต่างประเทศหลายครั้งว่า โดยรวมแล้วเป็นบวกมาก เพราะได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ไทยเหมาะสมด้านลงทุน บางครั้งได้รับการประสานงานระหว่างตัวแทนไทยและต่างประเทศ สถานทูตไทยไปโฆษณาว่าประเทศเรามีอะไรดี เป็นต้น นักลงทุนที่จะย้ายถิ่นฐานมา เขามั่นใจ เรื่องเราลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเยอะ ยังไงที่นี่ก็มั่นคง
เมื่อถามถึงจุดยืนการทูตของไทย เพื่อประโยชน์ของไทย นายเศรษฐา กล่าวว่า เราไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับประเทศไหน ที่เดินทางไปต่างประเทศมา ไม่ว่าอียู จีน ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา แม้จะเป็นคู่ขัดแย้งกันเองก็ตามที แต่ไทยให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ถ้าเกิดความขัดแย้งกัน เรายืนยันว่าฐานผลิตของเขาจะไม่ถูกขัด ทุกคนมั่นใจกับไทย ที่มาที่ไปทำไมเราถึงอยากเป็น aviation hub ถ้าใครทะเลาะกับใคร ไปเข้าข้างใคร อาจทำให้เส้นทางขนถ่ายสินค้าเขามีปัญหา ถ้าเราเป็นกลาง การขนส่งถ่ายสินค้าของเขาจะได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม การลงทุนเขาจะเป็นไปได้สูงขึ้น
เมื่อถามว่า การเป็นนายกฯปีแรกคือการปูพื้นฐาน ดังนั้นอีก 3 ปีจากนี้ มองเห็นไทยอย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า ไทยมีศักยภาพสูงมาก เหมือนรถเฟอร์รารี่มี 12 สูบ แต่ตอนนี้วิ่งอยู่ 6-7 สูบเท่านั้น เราก็เดินหน้ากันเต็มที่ แต่ต้องค่อย ๆ ทำกันไป อย่างที่บอกหลายเรื่องไม่ใช่ตัดสินใจคนเดียวได้ มีทั้งพรรคร่วมรัฐบาล มีฝ่ายตรวจสอบ มีรัฐสภา ข้าราชการ NGO ใช้คำว่าหลาย ๆ การริเริ่มอาจมีคนแย้งบ้าง เราก็ต้องทำประชาพิจารณ์ เป็นอะไรที่คนมีข้อกังขาเช่นกัน
ยกตัวอย่าง คนบ่นเรื่องค่าไฟแพง ค่าไฟที่ถูกที่สุดคือพลังงานนิวเคลียร์ ทุกคนอยากได้หมด แต่อย่ามาอยู่บ้านฉันนะ ไปอยู่บ้านคนอื่นแล้วกัน ตนก็เริ่มค้นคว้าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่านี่คือเรื่องที่เราดูอยู่ Entertainment Complex เช่นกัน ธุรกิจสีดำ ทำกำไรกันไปไม่เสียภาษีเลย เราจะยอมให้มีธุรกิจแบบนี้ต่อไปหรือไม่ หรือเอาขึ้นมาบนดิน ควบคุมอาชญากรรม เก็บภาษีได้ ถึงเวลาหรือยังที่ไทยยอมรับเรื่องพวกนี้ ประเทศอื่นก็มีแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง