SHORT CUT
2 แนวคิด ในโลกการเมือง ‘ซ้าย’ และ ‘ขวา’ แตกต่างกันอย่างไร? ทำไมถึงแข่งขันกันในการเมืองทุกประเทศ รู้จักเสรีนิยม และ อนุรักษนิยม ให้มากขึ้น
ตลอดช่วงที่ผ่านมา หลายคนที่ตามข่าวการเลือกตั้งฝรั่งเศส และอังกฤษต้องได้เห็นหลายสื่อจัดฝ่ายขั้วการเมืองระหว่างพรรคต่างๆ บ้างไม่มากก็น้อย ซึ่ง 2 คำที่ถูกหยิบยกออกมาใช้มากที่สุดคือ "อนุรักษนิยม" และ "เสรีนิยม" ทีม SPRiNG จึงขอพาไปรู้จัก 2 แนวคิดทางการเมืองนี้ให้มากขึ้น
ในการเมืองระบอบประชาธิปไตย มีขั้วการเมืองที่ชัดเจนอยู่ 2 ขั้ว ซึ่งมาจากฐานความคิดเรื่องคู่ตรงข้าม (Binary Opposition) ซึ่งสะท้อนถึงความแตกต่างทางทัศนคติ ได้แก่
เสรีนิยม หรือ “ฝ่ายซ้าย” เป็นปรัชญาการเมืองและมุมมองทางโลก ที่มีรากฐานมาจากยุคเรืองปัญญา (Enlightenment) ในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 เพราะเป็นช่วงเวลาที่เน้นหลักเหตุผล วิทยาศาสตร์ เสรีภาพ และความเท่าเทียม ภายใต้ความถูกต้องของหลักกฎหมาย
โดยสิ่งที่ผลักดันให้เกิดแนวคิดนี้ในหมู่นักปรัชญา และนักการเมืองรุ่นใหม่คือ ความขัดแย้งที่ทำให้ขั้วอำนาจเก่าถูกโค่นล้ม หรือไม่ก็ถูกจํากัดสิทธิ์ เช่น การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (Glorious Revolution) ของอังกฤษ ปี 1688 ที่จำกัดอำนาจของกษัตริย์, การปฏิวัติอเมริกา (American Revolution) ปี 1776 ที่ประกาศเอกราช จากการปกครองของอังกฤษ และการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) ปี 1789 ที่โค่นล้มระบอบกษัตริย์ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากพื้นฐานของหลักประชาธิปไตยทั้งสิ้น
กล่าวคือ เสรีนิยม คือแนวความคิดที่เน้นเสรีภาพของบุคคล เสรีภาพทางการค้า รัฐบาลทีลงทุนเพื่อประชาชนอย่างชัดเจน แต่จุดแข็งนี้ก็มีข้อเสีย เพราะหลายครั้งผู้คนใน “รัฐ” หรือ “ชาติ” นั้น ใช้สิทธิแสดงออกที่รุนแรง หรือมีการเห็นไม่ตรงกันในประเด็นอ่อนไหว จึงอาจเกิดความไม่สงบได้
ยิ่งไปกว่านั้น บางกลุ่มอาจยึดถือแนวทางนี้แบบสุดโต่ง และมุ่งไปทาง ‘อนาธิปไตย’ ที่ไม่มีรัฐบาล และ ‘สังคมนิยม’ ที่ไม่มีชนชั้นทางสังคม ซึ่งมักนำมาสู่ปัญหา บางกลุ่มมีอภิสิทธิ์หนือผู้อื่นอยู่ดี
“ฝังอนุรักษนิยม” มักเรียกว่า “ฝ่ายขวา” ซึ่งมีทัศนคติตรงข้ามกับเสรีนิยม เพราะมุ่งเน้น รักษาความเชื่อและคุณค่าแบบเก่า ไม่ว่าจะเป็น ประเพณีนิยม ศีลธรรมอันดีงาม กระทั่งอุดมการณ์ทางการเมืองที่สืบทอดมายาวนาน
เช่นในประเทศแทบตะวันออกกลาง ฝั่งอนุรักษนิยมทางศาสนายังต่อต้านเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ หรือ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะยกเลิกข้อจำกัดอาวุธปืน หรือถ้าในประเทศไทย ฝ่ายอนุรักษนิยมในบ้านเรามักผูกโยงกับ “สำนึกรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ความจงรักภักดีต่อสถาบันจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเชื่อว่าจะทำให้บ้านเมืองจะสงบ
ในประวัติศาสตร์ ฝ่ายที่เอียงไปทางขวาจัดมาก ๆ คือพรรคนาซี ในช่วงหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 (1920 –1945) ซึ่งมีนโยบายเหยียดเชื้อชาติ ให้ความสำคัญกับ ‘รัฐ’ และ ‘ผู้นำ’ เหนือสิ่งอื่น
ในการเลือกตั้งสหรัฐฯ พรรครีพับลิกัน ถูกมองว่ามีความเป็นอนุรักษนิยม เพราะสนับสนุนการเพิ่มงบประมาณทหาร รวมถึงสนับสนุนการครอบครองอาวุธปืน และมีการภาษีกลุ่มผู้มีรายได้สูง ซึ่งถูกมองว่าเอาใจกลุ่มนายทุนใหญ่ นอกจากนี้ฐานเสียงของพรรครีพับลิกันส่วนใหญ่ ยังเป็นชาวสหรัฐๆ ผิวขาว
ส่วนพรรค เดโมแครต มีนโยบายตรงกันข้าม ต้องการที่จะให้รัฐบาลกลางเข้าไปมีบทบาทหลักด้านการให้สวัสดิการต่อประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสและมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน และมีการสนับสนุนสิทธิ LGBTQ อีกด้วย
พรรคการเมืองไทยที่ถูกมองว่าอยู่ใน “ขั้วเสรีนิยม” ได้แก่ เพื่อไทย ก้าวไกล ไทยสร้างไทย ส่วนพรรคที่ถูกมองว่าอยู่ใน “ขั้วอนุรักษนิยม” ได้แก่ พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์
ปัจจุบัน พรรคการเมืองส่วนใหญ่ มีการผสมรวมกันทางความคิด จึงทำให้เกิดคำว่า “อนุรักษนิยมใหม่ (Neo-Conservative) ” ขึ้นมา เพื่อให้สอดรับกับความเป็นสมัยใหม่ แล้วก็ขยายตัวมาสู่แวดวงทางการเมือง ซึ่ง “พรรคอนุรักษนิยม” ในหลายๆ ประเทศ ก็มีการปรับตัว ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปโฉมที่มากขึ้นตามไปด้วย
กล่าวคือ “อนุรักษนิยมใหม่” ต่างกับ “อนุรักษนิยม” ตรงที่เปิดกว้าง ยอมรับความหลากหลายเพราะถ้าพรรคการเมืองไม่สามารถปรับตัวก็จะสูญพันนั่นเอง
เรื่องนี้เห็นได้ชัดสุดจากการเมืองไทย เพราะเลือกตั้ง 2566 เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ฝ่ายเอียงขวา ไม่อาจ
มีที่ยืนอีกต่อไป จึงทำให้หลายพรรคที่แพ้การเลือกตั้งต้องรีโนเวทตัวเองใหม่ด้วยภาพลักษณ์ที่ทันสมัยขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องยากอยู่ดีที่จะสลัดภาพเก่าๆ ให้หายไปได้ในเวลาอันสั้น
นอกจาก ฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาแล้ว ยังมีการเมืองสายกลาง หมายถึง มุมมองทางการเมืองหรือแนวทางที่สนับสนุนความสมดุลระหว่างความเท่าเทียมกันทางสังคมและระบบลำดับชั้นทางสังคม บุคคลที่ยึดมั่นในแนวทางสายกลาง จะต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่รุนแรง ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปทางซ้ายจัดหรือขวาจัด โดยมักสนับสนุนแนวทางที่ผสมผสานนโยบายจากฝ่ายต่างๆ เข้าด้วยกัน
“สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์” ได้สำรวจข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง 2,016 รายบนช่องทางออนไลน์ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม – กันยายน 2021 พบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
1.คนที่เคยเลือกพรรคการเมืองคนละพรรคกัน ก็อาจมีทัศนคติหรือค่านิยมในปัจจุบันที่คล้ายคลึงกันได้ ดังจะเห็นได้จาก คนที่สนับสนุนแนวคิดเดียวกันในปี 2021 ไม่ว่าจะเป็นแบบเสรีนิยมหรืออนุรักษนิยมนั้นมาจากกลุ่มคนที่เคยเลือกพรรคการเมืองที่ต่างกันในปี 2019
2.คนที่เคยเลือกพรรคเดียวกันในปี 2019 ต่างก็มีระดับความสุดขั้วที่แตกต่างกันในแง่ของความเป็นเสรีนิยมและอนุรักษนิยมในปี 2021 ดังจะเห็นได้จาก กลุ่มตัวอย่างที่เคยเลือกอนาคตใหม่ ก็มีระดับความสุดขั้วของแนวคิดแบบเสรีนิยมที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ ด้วยข้อจำกัดของการเก็บข้อมูลในลักษณะออนไลน์ จึงทำให้ตัวอย่างที่ได้เป็นกลุ่มคนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 30–59 ปี โดยมากมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพ และมีรายได้ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรไทยโดยทั่วไป
ปัจจุบัน การเมืองโลกทั้ง ‘ซ้าย’ และ ‘ขวา’ มีการผสมรวมแนวคิด โดยทั่วไปผู้คนจะมีความเห็นเอนไปทั้งขวาและซ้ายต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งเสมอ และไม่ว่าจะฝั่งไหนก็เป็นเผด็จการได้
ที่มา : britannica/ฐานเศรษฐกิจ/สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์/ The 101 .world
ข่าวที่เกี่ยวข้อง