SHORT CUT
ตัวอย่างประเทศ “สภาเดี่ยว” ไม่มี สว. มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร? ประเทศไทยก็เคยมีสภาเดียวมาก่อน แต่ถูสุดท้ายก็ต้องมี สว. เป็นสภาคู่
สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. ชุดปัจจุบันของไทย ที่อยู่มาตั้งแต่สมัย คสช. กำลังจะหมดวาระในวันที่ 11 พ.ค. 67 นี้แล้ว และการเลือก สว. ครั้งใหม่ก็กำลังจะเริ่มขึ้นในอีกไม่ช้า ซึ่งถ้าหากเลือกกันเสร็จสิ้น สว. ชุดใหม่นี้ ก็จะเข้ามาถ่วงดุลอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร หรือ สส. ซึ่งเป็นระบบการปกครองแบบ “สภาคู่” ที่ไทยใช้กันมายาวนานเกือบ 80 ปี
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากมองดูทั่วโลก หลายประเทศได้หันมาใช้สภาเดี่ยว แทนระบบสภาคู่กันมากขึ้น เนื่องจากเชื่อกันว่า เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะอนุมัติร่างกฎหมายได้โดยไม่ต้องผ่านชั้นวุฒิสภา และเป็นระบบที่ให้อำนาจกับสภาผู้แทนราษฎร ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนได้มากขึ้น
หากมีสภาสูง หรือ สว. จะเรียกว่า “ระบบสภาคู่ (Bicameral system)” ซึ่งวุฒิสภาจะเป็นองค์กรหนึ่งที่มีบทบาทในการใช้อำนาจนิติบัญญัติ โดยทั่วไปแล้ววุฒิสภาจะทำหน้าที่เป็นสภาสูงทำงานควบคู่กับสภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นสภาหลักในการเป็นผู้แทนของประชาชน ซึ่งโดยทั่วไปแล้ววุฒิสภาจะมีหน้าที่หลักในการอภิปรายและพิจารณาผ่านร่างกฎหมาย ระบบนี้เหมาะกับประเทศที่มีขนาดใหญ่ ประชากรเยอะ และภูมิศาสตร์ที่ซับซ้อน
หากประเทศไหนไม่มี สว. จะเรียกว่าเป็น “ระบบสภาเดี่ยว (Unicameral System)” ซึ่งเป็นระบบการปกครองที่มีองค์นิติบัญญัติ หรือรัฐสภาแห่งเดียว ประเทศที่ใช้ระบบสภาเดียวส่วนใหญ่เป็นประเทศเล็กและเป็นรัฐที่มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีสภาสูง
1.นอร์เวย์ 2.ฟินแลนด์ 3.ไอซ์แลนด์ 4.สวีเดน 5.เดนมาร์ก 6.ลักเซมเบิร์ก 7.ฮังการี 8.กรีซ 9.ลัตเวีย 10.โครเอเชีย 11.เซอร์เบีย 12.เอสโตเนีย 13.มอลตา 14.โปรตุเกส 15.บัลแกเรีย 16.เกาหลีใต้ 17.สิงคโปร์ 18.อิหร่าน 19.ปาปัวนิวกินี 20.นิวซีแลนด์
อย่างไรก็ตาม มีประเทศอีกมากที่ไม่มี สว. ซึ่งรวมๆ แล้วมีกว่า 80 ประเทศทั่วโลก โดยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก ยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง และประเทศในแอฟริกาอีกจำนวนมาก
ส่วนในบางประเทศ มี สว. ก็จริง แต่ สว. ไม่มีอำนาจทางการเมืองใดๆ อาจมีอำนาจแค่การเสนอกฎหมาย หรือรายงานการศึกษาวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อสภาเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจตรากฎหมาย
ระบบสภาคู่ มีจุดแข็งคือ คือ กระบวนการนิติบัญญัติเป็นไปอย่างรอบคอบ เนื่องจากสภาสูงทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองเนื้อหาในร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรอีกที ซึ่งข้อบกพร่องใดๆ ของร่างกฎหมายนั้นอาจได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที ก่อนจะมีการตรากฎหมายนั้นใช้บังคับ สว.จึงเป็นอีกกลไกหนึ่งในการตรวจความผิดพลาด และเป็นการถ่วงดุลอำนาจระหว่างสภาล่างกับ สภาสูง
นอกจากนี้ หากใช้ระบบสภาเดี่ยว ระยะเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด ก็อาจหมดไปกับกระบวนการตรากฎหมายซึ่งจะต้องมีการศึกษาข้อเท็จจริง การอภิปรายแสดงความคิดเห็น และการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติต่างๆ ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคม ทำรัฐสภาไม่อาจทำหน้าที่ ในการตรวจสอบการดำเนิน งานของฝ่ายบริหารได้ ระบบสภาคู่จึงเข้ามาแก้ไขจุดบกพร่องดังกล่าว โดยอาศัย สภาสูงในการทำหน้าที่ตรวจสอบดำเนินงานของฝ่ายบริหารแทน
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียก็คือ ในบางประเทศ สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทางอ้อม เช่น ตัวแทนจากบางกลุ่มเป็นผู้เลือก หรือแย่ที่สุดก็คือแต่งตั้งกันเอง หลายครั้งสภาสูงจึงเป็นอุปสรรคต่อการออกกฎหมายที่ประชาชนต้องการ ทำให้ไม่ว่าประชาชนจะเลือกพรรคที่มีนโยบายก้าวหน้าแค่ไหน แต่การจะให้นโยบายนั้นเป็นกฎหมายบังคับใช้ได้ ก็ต้องผ่านชั้น สว. ก่อนอยู่ดี
ขณะที่ข้อดีของ สภาเดี่ยว คือมีความรวดเร็วในกระบวนการนิติบัญญัติ เพราะมีแค่สภาเดียวที่ทำหน้าที่ การพิจารณากฎหมาย แต่งตั้งบุคคลในองค์กรอิสระและศาล การถอดถอนบุคคล หรือให้ความเห็นชอบในเรื่องต่างๆ เป็นอำนาจของสภาเดียว ระยะเวลาดำเนินการจึงสั้นลงกว่าการพิจารณาเรื่องต่างๆ แบบ 2 สภา
อีกทั้ง ความรับผิดชอบทางการเมืองของผู้แทนราษฎรหากทำผิดก็มีความชัดเจนขึ้น เช่น หากกฎหมายที่นำมาใช้เกิดข้อบกพร่องในภายหลัง ผู้แทนราษฎรจะไม่สามารถปัดความรับผิดชอบไปให้องค์กรอื่นได้ เพราะกฎหมายดังกล่าวเป็นผลมาจากการอภิปรายของสมาชิกผู้แทนราษฎรในสภาเดี่ยวทั้งสิ้น และประชาชนที่จับตาดูอยู่ก็จะไม่เลือกสมาชิกคนนั้นในสมัยหน้า
นอกจากนี้ ระบบสภาเดี่ยว ยังประหยัดค่าใช้จ่ายของรัฐได้ เพราะทั้งการประชุม การอภิปราย การตั้งคณะกรรมาธิการ ถูกดำเนินการเพียงสภาเดียว ค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องจ่ายให้ผู้แทนราษฎรแต่ละคนจึงลดลง ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญ ที่หลายประเทศ ยกเลิกระบบสภาคู่ แล้วหันมาใช้ระบบนี้
แต่ข้อเสีย คือ การบังคับใช้กฎหมาย อาจขาดความรอบคอบ เพราะไม่การตรวจสอบ และ และเสี่ยงนำไปสู่ภาวะเผด็จการรัฐสภาได้
อย่างไรก็ตาม จะสภาคู่ หรือ สภาเดี่ยว นั้น ไม่จำเป็นต้องตายตัว เพราะแต่ละประเทศ มีประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ระบบสภาคู่และสภาเดี่ยวสามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับ บริบททางการเมืองของประเทศนั้นๆ ได้เสมอ
รู้หรือไม่ ครั้งหนึ่ง ประเทศไทยเคย ไม่มี สว. มาก่อน เพราะ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 2475 กำหนดให้ รัฐสภาของไทยเป็นระบบสภาเดี่ยว ซึ่งเหตุผลอาจเป็นเพราะระบบนี้มีความง่าย รวดเร็ว ขั้นตอนไม่เยอะ โดยสมัยนั้น จะมี สส. ที่มาจากการเลือกตั้ง และ มาจากที่ นายกฯ ถวายชื่อให้พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ เพื่อเป็นพี่เลี้ยง สส. อีกที
อาจดูเหมือนไทยเป็นระบบสภาคู่ แต่จริงๆ แล้วคือระบบสภาเดี่ยว ที่มี สส. 2 ประเภท จนกระทั่งการมาถึงของรัฐธรรมนูญ 2489 ที่บัญญัติชัดเจนว่าประเทศไทยต้องมี 2 สภา ได้แก่ “สภาผู้แทนราษฎร” และ “พฤฒสภา” ซึ่งผู้สมัคร จะต้องเป็นข้าราชการประจำ อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี การศึกษาไม่ต่ำกว่า ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ซึ่งสะท้อนว่าสภาที่ 2 ต้องเป็นคนที่มีทั้งวัยวุฒิ และคุณวุฒิ จึงเหมือนสภาของผู้สูงอายุนั่นเอง
การผลของการทำรัฐประหารในปี 2490 ก็ทำให้กำเนิดคำว่า วุฒิสภา หรือ สว. ที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนั่นเอง ซึ่ง ต้องมีจำนวนสมาชิกเท่า สส. โดยตำแหน่งนี้ส่วนใหญ่จะเลือกกันเอง ไม่ก็เลือกตั้งทางอ้อม จนเป็นเลือกปกติของประเทศไทย มีแค่ปี 2540 เท่านั้นที่ สว. 200 เสียง มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนครั้งแรก และครั้ง ซึ่งตำแหน่ง สว. นี้ เมื่อผ่านรัฐบาล และความขัดแย้งทางการเมืองมาหลายครั้ง อำนาจทางการเมืองก็สูงมากขึ้นเรื่อยๆ และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในสมัย ของรัฐบาล คสช. ที่แต่งตั้งขึ้นมาเอง 250 เสียง และมีบทบาทถึงขั้นเลือกนายกได้ ทั้งๆ ที่เลือกมาจากเสียงแค่ไม่กี่คน
ดังนั้น การเลือก สว. ที่ใช้วิธีการเลือกกันเองในปี 2567 นี้ จึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตาอย่างมาก เพราะด้วยวิธีการเลือกตั้งแต่อำเภอ-จังหวัด-ประเทศ ให้ผู้สมัครตามแต่ละกลุ่มอาชีพ “เลือกกันเอง” แบบนี้เป็นวิธีที่ทั้งสับสน และซับซ้อนที่สุดในโลก และท้ายที่สุด ผลประโยชน์จะตกที่ใคร ระหว่าง “ประชาชน” หรือ “กลุ่มที่มีอิทธิพลกัน” กันแน่
ที่มา : LANNER News / สถาบันปรีดี พนมยงค์ / ILAW / วุฒิสภา / มหาวิทยาลัย ราชภัฏสวนสุนันทา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง