svasdssvasds

ความห่วงใยของแบงก์ชาติ VS คำตอบคลัง “ดิจิทัลวอลเล็ต”

ความห่วงใยของแบงก์ชาติ VS คำตอบคลัง “ดิจิทัลวอลเล็ต”

“ธปท.” ส่งหนังสือถึง ครม.จี้ทบทวน “ดิจิทัลวอลเล็ต” ปลัดคลัง เมิน​ ชี้เป็นข้อเสนอเก่า​ เผย​ หลังจากผ่านคกก.​- ครม.​ ลุยเดินหน้าตามแผนเดิม​ “เผ่าภูมิ” เสริมต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่เยียวยา ยันไม่กระทบเครดิตประเทศ

จากกรณีที่ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดลงเลขที่ ธปท.ฝกม. 285 /2567 เรื่อง โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต ธปท.มีความห่วงใยและตั้งข้อสังเกตในโครงการดังนี้

1.ความจำเป็นในการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของ

รัฐบาลควรทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ในขอบเขตที่ครอบคลุมเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น (targeted) เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ อย่างมีประสิทธิผลคุ้มค่า และใช้งบประมาณลดลง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 15 ล้านคน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที และใช้งบประมาณ 150,000 ล้านบาท

เนื่องจากคนกลุ่มรายได้น้อยมีสัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อบริโภคสูงกว่ากลุ่มรายได้อื่น และมักซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศมากกว่าสินค้านำเข้า นอกจากนี้ควรพิจารณาดำเนินโครงการแบบแบ่งเป็นระยะ (phasing) เพื่อลดผลกระทบต่อเสถียรภาพการคลังด้วย ทั้งนี้ ความจำเป็นที่จะกระตุ้นการบริโภคในวงกว้างมีไม่มาก โดยในปี 2566 การบริโภคภาคเอกชนของไทยขยายตัวได้ที่ 7.1%เทียบกับค่าเฉลี่ยช่วงปี 2553 - 2565 ที่ขยายตัวเฉลี่ยที่ 3% ต่อปี

โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก่อให้เกิดภาระทางการคลังจำนวนมากในระยะยาว และหากไม่สามารถรักษาเสถียรภาพภาระหนี้ภาครัฐได้ จะเพิ่มความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ เช่น เกณฑ์การประเมินของ Moody's ได้กำหนดอัตราส่วนภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อรายได้ของ วิสัยทัศน์ เป็นอค์กรที่มองไกล มีหลักการ และร่วมมือ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของไทย

"ประเทศในกลุ่ม Baa 1 (Rating ของไทยในปัจจุบัน) ไว้ว่าไม่ควรเกิน 11% โดยโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะทำให้อัตราส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มสูงกว่าเกณฑ์นี้ ในปี 2568 ซึ่งหากไทยถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมภาครัฐและภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภาพรวม"

การดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ใช้วงเงินงบประมาณมูลค่าสูงทำให้ความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลังอื่นของรัฐบาลลดลง และมีความเสี่ยงที่จะมีงบประมาณไม่เพียงพอรองรับในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งการเพิ่มวงเงินกู้งบประมาณ 2568 จนเกือบเต็มกรอบที่กฎหมายกำหนด ทำให้เหลือวงเงินกู้ได้อีกราว 5,000 ล้านบาท เทียบกับวงเงินคงเหลือเฉลี่ยในปีก่อน ๆ ที่มากกว่า 100,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ การจัดสรรวงเงินจากงบประมาณปี 2567 ทำให้งบกลางสำรองจ่ายกรณี ฉุกเฉินหรือจำเป็นลดลงจนอาจไม่เพียงพอรองรับกรณีฉุกเฉิน โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์การเมืองโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงและภาวะภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรงมากขึ้น

รัฐบาลควรพิจารณาถึงความคุ้มค่าของการนำงบประมาณ 500,000 ล้านบาทไปใช้ลงทุนในโครงการที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ตัวอย่างการใช้งบประมาณที่ผ่านมา ได้แก่

  • โครงการพัฒนาบุคลากรการแพทย์ (ใช้วงเงิน เฉลี่ย 3.8 ล้านบาทต่อตำแหน่ง) จะสามารถสร้างบุคลากรการแพทย์ได้กว่า 130,000 ตำแหน่ง
  • โครงการ เรียนฟรี 15 ปี สำหรับนักเรียนทั่วประเทศ (83,000 ล้านบาทต่อปี) จะสามารถสนับสนุนได้นานถึง 6 ปี
  • โครงการรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม - ชุมพร (40,000 ล้านบาทต่อสาย) จะพัฒนาได้กว่า 10 สาย
  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (190,000 ล้านบาทต่อสาย) จะพัฒนาได้กว่า 2 สาย เป็นต้น

2. แหล่งเงินสำหรับดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

ธปท.มองว่าตามที่กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณเสนอวงเงินดำเนินโครงการรวม 500,000 ล้านบาท ซึ่งมีที่มาจากงบประมาณรายจ่ายต่างปีและต่างประเภท และอีกส่วนหนึ่งจะมาจากการมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินโครงการโดยรัฐบาลจะรับภาระชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 การใช้เงินงบประมาณจากแหล่งต่าง ๆ จะต้องมีความสอดคล้องกับกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน

การใช้จ่ายภายใต้โครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะต้องไม่ขัดแย้งกับการควบคุมระบบเงินตรา โดยมูลค่าสิทธิใช้จ่ายที่รัฐบาลกำหนดขึ้นจะต้องมีงบประมาณรองรับเต็มจำนวน (fully earmarked) และมีแหล่งที่มาของเงินที่เจาะจงชัดเจนในวันเริ่มโครงกร โดยหากรัฐบาลยังไม่สามารถ fully  earmark งบประมาณเต็มมูลค่าสิทธิรวมในวันเริ่มโครงการ ด้วยเหตุใด ๆ เช่น ไม่สามารถนำเงินงบประมาณส่วนใดมาใช้ได้ตามเงื่อนไขของกฎหมาย หรือมีความล่าช้ในการพิจารณาอนุมัติ ก็จะมีผลให้การกำหนดสิทธิใช้จ่ายในส่วนที่ไม่มีงบประมาณรองรับเป็นการสร้างวัตถุหรือเครื่องหมายแทนเงินตรา ซึ่งเป็นความผิด ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501

นอกจากนี้การให้ ธ.ก.ส. ร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร ควรมีความขัดเจนทางกฎหมายว่า การดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้หน้าที่และอำนาจ และอยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. ตามมาตรา 9 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2509 ประกอบกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ จะต้องกำหนดกลไกการเติมเงินให้เกษตรกรแยกส่วนจากการเติมเงินให้ประชาชนทั่วไปอย่างชัดเจน ทั้งอาจต้องจำกัดขอบเขตการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของธ.ก.ส. ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการใช้งบประมาณผิดประเภท ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความถูกต้องและรอบคอบ จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการคลังหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน ดังเช่นที่ได้เคยหารือในประเด็นกิจการอันพึงเป็นงานธนาคารออมสิน ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติ ธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 แล้ว

แบงก์ชาติห่วงสภาพคล่อง ธ.ก.ส.

นอกจากนี้ธปท. ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลความเสี่ยงและฐานะของสถาบันการเงิน เฉพาะกิจ มีข้อกังวลว่า การที่รัฐบาลจะมอบหมายให้ ธ.ก.ส. สนับสนุนโครงการดังกล่าว โดยยังมีภาระหนี้คงค้างกับ ธ.ก.ส. ถึงประมาณ 800,000 ล้านบาท อาจทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและความเสี่ยงต่อฐานะการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินการตามพันธกิจ และกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน จึงควรมีแนวทางชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ให้แก่ ธ.ก.ส. พร้อมทั้งรับฟังความเห็นของคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ก่อนด้วย

3. ผู้พัฒนาและดำเนินการระบบสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 

ธปท.มองว่าระบบสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีความซับซ้อนและต้องรองรับผู้ใช้งานจำนวนมากจึงต้องเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ มีความเสถียร และมีความมั่นคงปลอดภัยเพียงพอ เพื่อไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ (systemic risk) ธปท. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลเสถียรภาพระบบการชำระเงินของ ประเทศ มีข้อห่วงใยในการพัฒนาและดำเนินการระบบ ดังนี้

โดยควรใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ระบบพร้อมเพย์ และ Thai QR Payment เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ลตต้นทุนในการพัฒนาระบบ และใช้ประโยชน์สูงสุดจากโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่มีอยู่

ด้วยเงื่อนไขของการใช้สิทธิที่มีความซับซ้อนในหลายมิติ รวมทั้งการที่ระบบจะมีลักษณะเป็นระบบเปิด (Open-loop) ที่ต้องเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการที่หลากหลาย จึงควรต้องกำหนดโครงสร้างและสถาปัตยกรรมของระบบที่ชัดเจน ตลอดจนวางแผนการพัฒนาและทดสอบที่รัดกุมครบถ้วนเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ อันจะกระทบต่อเสถียรภาพระบบการชำระเงินของประเทศ

ทั้งนี้ควรคำนึงถึงมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของระบบและข้อมูล ความถูกต้องเชื่อถือได้ของระบบงานและข้อมูล ความต่อเนื่องของการให้บริการ การจัดการการเข้าถึงข้อมูลธุรกรรม และการป้องกันภัยไซเบอร์ที่เข้มงวด รวมทั้งมีกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของประขาชนและผู้ประกอบการ ที่ได้มาตรฐานตามระดับความสี่ยงของภาคการเงินด้วย

ขณะที่ในส่วนของผู้พัฒนาระบบ (Developer) ต้องมีความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาระบบการชำระเงินเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการพัฒนาระบบที่เป็น Open-toop เพื่อให้ระบบสอดคล้องกับมาตรฐานข้างต้นและดำเนินการได้ตามกรอบเวลาที่จำกัด ทั้งนี้ ตัวอย่างที่ผ่านมา ทีมงานของธนาคารพาณิชย์ต้องใข้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบการชำระเงินเป็นจำนวนมากและใช้เวลาในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 1 ปีผู้ดำเนินการระบบ (Operator) ต้องสามารถดูแลระบบที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก และสามารถดูแลแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็ว

เพื่อไม่ให้การใช้จ่ายของประชาชนมีความติดขัด หรือเกิดการใข้จ่ายที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขของโครงการ ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องมีการยกเลิกธุรกรรมและเรียกคืนสิทธิจากประชาชนและร้านค้าจำนวนมาก และในกรณีที่มีการโจมตีทางไซเบอร์หรือมีการรั่วไหลของข้อมูลธุรกรรมหรือข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องสามารถหยุดยั้งและแก้ไขเหตุได้อย่างทันท่วงที

4.การบริหารจัดการความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริต

ธปท.แนะนำว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบควรกำหนดกลไกลดความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริต ในขั้นตอนต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะประเด็นที่ปัญหาพึงคาดหมายได้ตั้งแต่เริ่มแรก เช่น

  1. แนวทางการตรวจสอบรายได้และทรัพย์สินของผู้เข้าร่วมโครงการให้เป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนด
  2. การป้องกันการลงทะเบียนเป็นร้านค้าปลอม
  3. การกำหนดประเภทและขนาดของร้านค้าเพื่อรองรับ เงื่อนไขการใช้จ่าย
  4. ประเภทสินค้าต้องห้ามและมาตรการป้องกันในการห้ามไมให้มีการซื้อสินค้าดังกล่าวที่มีประสิทธิภาพ
  5. การตรวจสอบว่ามีการซื้อขายสินค้าจริง และป้องกันไม่ให้มีการขายลดสิทธิ์ (discount) เป็นต้น

ด้วยเหตุผลและข้อสังเกตข้างต้น ธปท. จึงมีความเห็นว่า การพิจารณากรอบหลักการและรายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นโครงการที่มีรายละเอียดการดำเนินการซับซ้อน ใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาระการคลังของประเทศในระยะยาว และมีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริตในขั้นตอนต่าง ๆ ควรดำเนินการด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง (Due Care) และมีกระบวนการที่ถูกต้องรัดกุม (Due Process) อย่างเต็มที่

ดังนั้น เพื่อให้การให้ความเห็นชอบในกรอบหลักการโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีความรอบคอบครบถ้วน จึงเสนอให้ ครม.ทบทวนและนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมทั้งจัดทำแนวทางหรือมาตรการแก้ไขประเด็นปัญหาหรือความเสี่ยงต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมด้วย ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาให้ความเห็นซอบในกรอบหลักการของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ต่อไป

ความห่วงใยของแบงก์ชาติ VS คำตอบคลัง “ดิจิทัลวอลเล็ต”

ด้านนายลวรณ​ แสงสนิท​ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการเข้าพบนายกรัฐมนตรี โดยให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่​ นายเศรษฐพุฒิ​ สุทธิวาทนฤพุฒิ​ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งหนังสือถึงคณะรัฐมนตรีให้ทบทวน พร้อมตั้งข้อสังเกตในโครงการ เติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต​ 10,000​  บาท​ ว่า​ ทางผู้ว่า การธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถให้ความเห็นมาได้ ทั้งเห็นด้วยและมีข้อทักท้วง ซึ่งเราก็รับฟัง และการประชุมคณะรัฐมนตรี วานนี้มีการพิจารณาเรื่องของหลักการ และขั้นตอนการดำเนินการหลังจากนี้ไป แต่ละ มีระเบียบและกฎหมายที่ต้องดำเนินการตามนั้น​ พร้อมระบุว่า​ ความเห็นของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย​ ไม่ได้ส่งผลให้โครงการดังกล่าวสะดุด​ลง​ และขณะนี้ยังมีเวลาในการพิจารณา​ ซึ่งหลังจากนี้ ก็ต้องเริ่มดำเนินการได้แล้ว เนื่องจากได้ผ่านการเห็นชอบในหลักการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ส่วนความเห็นของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกมาระบุว่า ลดขอให้ลดกลุ่มเป้าหมายเหลือเพียงกลุ่มเปราะบางที่ มีรายได้น้อยประมาณ 15 ล้านคน จะนำข้อเสนอดังกล่าวมาพิจารณาด้วยหรือไม่ ปลัดกระทรวงการคลังระบุว่า ทางผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เคยให้ความเห็นเช่นนี้มาตั้งแต่ต้น​ จนผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบาย โครงการเติมเงิน 10,000 บาท​ ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ว่ากลุ่มใดเป็นผู้ที่เหมาะ ซึ่งได้ผ่านขั้นตอนนั้นไปทั้งหมดแล้ว ซึ่งสิ่งที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความเห็นมาก็เป็นข้อเสนอแนะเดิม​ที่เคยพูดในที่ประชุมมาโดยตลอด ไม่มีอะไรเป็นประเด็นใหม่ ซึ่งในที่ประชุมก็ได้มีการชี้แจงต่อข้อกังวลธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เมื่อถามว่า​จะมีการชี้แจงต่อธนาคารแห่งประเทศไทยอีกครั้งหรือไม่ นายลวรณ​ ยืนยันคำเดิมว่า​ ได้มีการชี้แจงต่อธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และผู้ว่าการฯจะไม่ได้มาเข้าร่วมการประชุมก็ตาม​ อะไรคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเนื่องจากเราพิจารณาในรูปแบบของคณะกรรมการ ครึ่งทางผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ คณะกรรมการท่านอื่นๆ อีก 20 กว่าคน ก็ไม่ได้มีความเห็นเช่นนี้​ พร้อมยืนยันว่า​ โครงการดิจิทัลวอ​ล​เล็ต​ จะเดินหน้าต่อตามแผนเดิม​  ตามที่ครม.มีมติเห็นชอบ​

ส่วนจะมีการส่งคณะกรรมการกฤษฎีการตีความ เกี่ยวข้องกับข้อกังวลของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่​ ปลัดกระทรวงการคลัง​ กล่าวว่า​ ไม่เกี่ยวข้อง​ เป็นเรื่องของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร​ หรือ​ ธกส.​ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่​ โดยนายรัฐมนตรี ได้สั่งการว่าต้องทำด้วยความรอบคอบ ในประเด็นที่เราเห็นว่าไม่มีความชัดเจน ก็ให้มีการปรึกษากฤษฎีกา ในเรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีการส่ง เรื่องดังกล่าวไปยังกฤษฎีกาแต่อย่างใด​ พร้อมกับ​ระบุว่า​ การใช้งบประมาณจากธนาคารธกส.ตามมาตรา​ 28 ปีงบประมาณ 2568 จะสามารถดำเนินการได้ในเดือนตุลาคม​ ซึ่งถือว่ายังคงมีเวลาอยู่

ขระที่นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เสนอเป็นความเห็นประกอบการพิจารณาในครม. สำหรับการพิจารณาโครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต เมื่อวันที่ 23 เม.ย.67 โดยขอให้ดูแลเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ว่า เรื่องกลุ่มเปราะบางนั้น เป็นเรื่องที่คุยกันเยอะมาก และมีข้อถกถียงกันพอสมควร

ความห่วงใยของแบงก์ชาติ VS คำตอบคลัง “ดิจิทัลวอลเล็ต”

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า โครงการนี้ ไม่ใช่การเยียวยา หากเป็นการเยียวยา รัฐบาลจะดูแลเฉพาะกลุ่มเปราะบางเท่านั้น แต่โครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ตนั้น รัฐบาลมีจุดประสงค์ ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น เม็ดเงินต้องใหญ่พอ คนที่เข้าร่วมต้องใหญ่พอ เพื่อให้เม็ดเงินกระจาย ดังนั้น ถือว่าเป็นคนละโจทย์

“ข้อเสนอของธปท.นั้น ที่ผ่านมามีการรับฟัง และนำมาปรับ เรามีการคุยกับแบงก์ชาติต่อเนื่อง ซึ่งแบงก์ชาติก็อยู่ในคณะกรรมการดิจิทัล คณะกรรมการก็มีการตัดสินใจในรูปแบบที่เหมาะสม แบงก์ชาติก็ได้พูดความเห็นหลายครั้ง และที่ประชุมก็รับทราบ ก็มีสิ่งที่เราเห็นไม่ตรงกัน ที่ผ่านมาแบงก์ชาติก็แนะนำให้แจกกลุ่มเปราะบาง เราตัดคนออกไปบางส่วนแล้ว แต่จะให้ตัดเหลือแค่กลุ่มเปราะบาง 15 ล้านคน เราคิดว่า ยังไม่ตอบโจทย์”

ขณะเดียวกัน การออกโครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต จะมองเฉพาะเรื่องการกระตุ้นบริโภคอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองต่อเรื่องการลงทุน ซึ่งการลงทุนของประเทศมีปัญหา ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมติดลบมา 16 เดือนติด ผลผลิตคงค้างอยู่ระดับต่ำกว่า 50% ส่งผลให้เรื่องการผลิตของประเทศมีปัญหา

“เรามองว่า กำลังซื้อที่เห็นอยู่ไม่ได้สะท้อนการบริโภคจริง จะบอกว่า กำลังซื้อแข็งแรงไม่ได้ หากกำลังซื้อแข็งแรงต้องตามมาด้วยกำลังการผลิตที่แข็งแรง ถ้าเป็นอย่างนี้จริง เราจะยอมรับ อันนี้ เป็นกำลังซื้อที่การผลิตไม่ดี และภาคเอกชนดูแล้วว่า กำลังซื้อที่เกิดขึ้น ไม่ได้สะท้อนตัวเลขจริง เรามองว่าเศรษฐกิจยังต้องการการกระตุ้น”

ทั้งนี้ หากการบริโภคดีจริง ก็สะท้อนไปที่การลงทุน อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่เห็น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่ชะลอตัว แต่อีกหนึ่งปัจจุบันสำคัญ คือ การผลิตอุตสาหกรรมที่ติดลบต่อเนื่อง ซึ่งหากติดลบอีก 1 เดือน จะนานที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย

ขณะที่ ธปท. เสนอให้รัฐบาลปรับโครงสร้างประเทศมากกว่าการกระตุ้นบริโภคนั้น นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ข้อนี้ มองสั้นไปหรือไม่ ซึ่งเราไม่ได้มองว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการบริโภคแล้วหายไป รัฐบาลมองว่า นี่คือ การกระตุ้นกำลังซื้อที่ทำให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ และเกิดการจับจ่ายใช้สอย มีการจ้างงานและผลิตใหม่ๆ เพิ่ม ซึ่งเป็นจุดแรกที่เราจะกระตุกเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น และรัฐบาลก็จะมีมาตรการอื่นเข้าไปช่วยเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

ส่วนกรณีที่ธปท.มองหากดำเนินโครงการดังกล่าว จะส่งผลต่อภาระการคลังระยะยาว กรณีเกิดวิกฤตขึ้นจริง จะมีพื้นที่ทางการคลังน้อย นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ธปท.อาจจะมีความเป็นห่วงเรื่องเพดานหนี้สาธารณะ อย่างไรก็ตาม เรากำลังพูดถึงจีดีพี ซึ่งเป็นการมองผลของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เวลาเรามองเรื่องของนโยบายการคลัง การใส่เม็ดเงินเข้าไป ซึ่งเป็นการกู้ยืม หนี้สาธารณะก็เพิ่ม แต่ต้องดูตัวเลขจีดีพีที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะเป็นตัวหารหนี้สาธารณะให้ลดลง

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าว ไม่ได้กังวลเรื่องเครดิตประเทศ เนื่องจากไม่ได้ดำเนินโครงการเฉพาะการก่อหนี้ แต่จะต้องดูรายละเอียดโครงการด้วยว่า เป็นโครงการที่มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ และสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้หรือไม่ การที่จะบอกว่า หน่วยงานประเมินเครดิตประเทศดูเรตติ้งเฉพาะการกู้เงิน นั้นไม่ได้

"เราประเมินว่าการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัล จะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่ม 1.2-1.8% ในระยะเวลา 1-2 ปีแรก ต้องบอกว่า โครงการนี้ เป็นโครงการที่มีเงื่อนไขใหม่ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เราไม่เคยทำมาก่อน การใช้ตัวประมาณการอาจไม่สามารถอ้างอิงได้มาก ซึ่งเรามีการคาดการณ์โดยกระทรวงการคลัง ที่มีตัวเลขใกล้เคียงมากที่สุดเท่าที่ข้อมูลมี"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related