ในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา อิหร่านได้ลงทุนสร้างเครือข่ายกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มในภูมิภาคตะวันออกกลาง เพื่อทำการก่อการร้ายและสั่นคลอนความมั่นคง โดยกลุ่มเหล่านี้ล้วนได้รับเงินทุน การฝึกฝน และอาวุธอย่างดีจากกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่าน (IRGC)
พื้นที่ปฏิบัติการก่อการร้ายของแต่ละกลุ่มมักอยู่ในฉนวนกาซา เวสต์แบงก์ เลบานอน ซีเรีย และพื้นที่อื่นๆ ในตะวันออกกลาง ซึ่งที่ผ่านมาทางกองทัพอิสราเอลได้ใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อทำลายอิทธิพลของกลุ่มเหล่านี้ แต่ดูเหมือนว่าภัยคุกคามจากกลุ่มต่างยังคงส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของอิสราเอลในหลายๆ ด้านอยู่เช่นเดิม แม้เวลาจะผ่านมาหลายทศวรรษแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ ถ้าให้ไล่เรียงตั้งแต่ต้น จะพบว่ามีกองกำลังติดอาวุธมากกว่า 20 กลุ่มที่อยู่ในเครือข่ายของอิหร่าน แต่เพราะหลายกลุ่มถูกทำลาย หรือไม่ก็หมดอำนาจไปแล้ว ทำให้ข้อมูลที่แน่นอนในปัจจุบันของกลุ่มเหล่านั้นหายไปด้วย แต่กลุ่มที่ปรากฏตัวในสงครามอิสราเอลกับฮามาสรอบนี้ คือกองกำลังติดอาวุธที่ยังคงมีอำนาจและอิทธิพลอยู่ในพื้นที่ตะวันออกกลาง
โดยพวกเขาพร้อมทำสงครามระยะยาวกับอิสราเอล และจะไม่หยุดจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย นั่นคือ “อิสราเอลต้องพินาศเท่านั้น”
กองกำลังติดอาวุธที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา มีเครือข่ายอยู่ที่ซีเรีย เลบานอน กาซา และเวสต์แบงก์
ก่อตั้งในปี 1981 โดย “ฟาตี อับเดล อาซิซ อัล-ชิกากี (Fathi Ibrahim Abdulaziz Shaqaqi) โดยมีเป้าหมายที่ต้องการสถาปนารัฐอิสลามปาเลสไตน์ และทำลายล้างอิสราเอล โดยเริ่มแรกเป็นกลุ่มย่อยของภราดรภาพมุสลิมในอียิปต์ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการปฏิวัติอิหร่าน ในปี 1979 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ซีเรีย และกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ในเลบานอน
หน้าที่ความรับผิดชอบของ PIJ คือการโจมตีพื้นที่เป้าหมายต่างๆ อิสราเอล โดยมีทั้งปฏิบัติการเพียงลำพัง และร่วมมือกับกลุ่มอื่น ๆ บ้างเป็นครั้งคราว โดยกลุ่มนี้เคยแตกคอกับกลุ่มฮามาสมาแล้ว เพราะมีแนวทางที่ไม่เหมือนกัน
PIJ มีทั้งอาวุธขนาดเล็ก ปืนครก รวมถึงจรวดที่สามารถโจมตีทางอากาศใส่อิสราเอลได้ และยังขึ้นชื่อในเรื่องของการโจมตีโดย PIJ อ้างว่ามีส่วนในการโจมตีพลีชีพต่อเป้าหมายในอิสราเอลหลายครั้งตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 ถึงช่วงกลางทศวรรษ 2000 ทำให้อิสราเอลนิยามกลุ่มนี้ว่า “เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่มีแนวทางรุนแรงที่สุด”
ทั้งนิ้ อิทธิพลของ PIJ อ่อนแอลงเพราะ อัล-ชิกากี ถูกลอบสังหารในปี 1995 แต่เมื่อกลุ่มฮามาสเข้ามามีอิทธิพลในฉนวนกาซาปี 2007 ก็ทำให้ PIJ ได้รับผลประโยชน์ และกลับมามีอิทธิพลอีกครั้ง ซึ่งในสงครามอิสราเอล – ฮามาสครั้งนี้ กลุ่ม PIJ ได้ฝึกซ้อมร่วมกับกลุ่มฮาผู้รุกราน และมีส่วนร่วมในการโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 66 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้พวกเขายังอ้างว่าได้จับตัวประกันของอิสราเอลเอาไว้หลายคน และพร้อมรบกับอิสราเอลในฉนวนกาซาอีกด้วย โดยมีการคาดการณ์กันว่า PIJ มีกองกำลังประมาณ 10,000 – 20,000 คน
ได้รับการขนานนามว่า พรรคแห่งพรรคแห่งพระเจ้าที่มีอิทธิพลมากในเลบานอน
องค์กรและพรรคการเมืองของชาวมุสลิมชีอะห์ในเลบานอน ก่อตั้งในปี 1982 โดยได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธ และการฝึกฝนจากอิหร่าน ซึ่งมีจุดประสงค์คือขับไล่อิสราเอลที่เข้ามาทำสงครามในเลบานอนปีนั้น และเมื่ออิสราเอลยอมถอนทหารออกจากเลบานอน ทำให้กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ได้รับการขนานนามว่าเป็นวีรบุรุษที่ขับไล่ผู้รุกรานได้สำเร็จ
หลังจากนั้นในปี 1985 ฮิซบอลเลาะห์ ได้ประกาศเป้าหมายใหม่อย่างเป็นทางการนั่นคือ สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียตคือศัตรูหมายเลขหนึ่งของโลกอิสลาม พร้อมกับเรียกร้องให้ทำลายอิสราเอล ที่เป็นภัยคุกคามที่ใกล้ที่สุด
แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐจะขึ้นบัญชี ฮิซบอลเลาะห์ เป็นกลุ่มก่อการร้าย แต่กลุ่มนี้นับว่าแตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ เพราะฮิซบอลเลาะห์มีเก้าอี้ในรัฐบาลเลบานอนถึง 23 ที่นั่ง จากทั้งหมด 128 ที่นั่ง และยังคงมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับอิหร่าน โดย สำนักข่าว “เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล (The Wall Street Journal) ” ได้รายงานว่าอิหร่านเป็นผู้สั่งให้ฮาบริจาค เปิดปฏิบัติการโจมตีอิสราเอลร่วมกับกลุ่มฮามาส แต่ทางการอิหร่านปฏิเสธเรื่องนี้
ปัจจุบัน กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ยังคงโจมตีพื้นที่ทางตอนเหนือของอิสราเอล เพื่อก่อกวนอิสราเอลที่กำลังยุ่งอยู่กับการโจมตีกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาทางตอนใต้ โดยทางกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้ประกาศว่ามีนักรบมากถึง 1 แสนคนที่พร้อมรบกับอิสราเอล แต่บรรดาชาติตะวันตกมองว่าตัวเลขนี้ไม่เป็นความจริง
ขบวนการชาตินิยมชาวปาเลสไตน์ ที่อุทิศชีวิตเพื่อสถาปนารัฐปาเลสไตน์ ซึ่งเต็มใจใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อบรรลุเป้าหมาย
ฮามาสก่อตั้งขึ้นในปี 1987 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการ “ลุกฮือของชาวปาเลสไตน์ครั้งแรก (intifada) ” ในฉนวนกาซา และเวสต์แบงก์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากชาวปาเลสไตน์อย่างแข่งขัน ทำให้กลุ่มฮามาสมีข้อได้เปรียบคือการกระจุกรวมตัวกันอยู่ในพื้นที่ฉนวนกาซา
กลุ่มฮามาส มีกองกำลังทหารที่เรียกว่า “อิซ อัล-ดิน อัล-กัสซาม (Izz al-Din al-Qassam Brigades) ” ที่ได้ทำการโจมตีอิสราเอลหลายครั้งตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ด้วยวิธีกราดยิง วางระเบิด และใช้จรวดโจมตีทางอากาศ ซึ่งอิสราเอลเปิดเผยว่า มีชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาจำนวนมากที่บริจาคเงินให้กลุ่มก่อการร้ายนี้ และกลุ่มนี้ยังได้รับการฝึกฝนด้านก่อการร้ายจากรัฐบาลอิหร่านอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ฮามาสเคยทำข้อตกลงยุติความขัดแย้งชั่วคราวกับอิสราเอลในปี 2008 ซึ่งช่วยให้อิสราเอลไม่ต้องกังวลกับจรวดที่ยิงมาจากฝั่งกาซาได้สักพัก แต่ยังไม่ทันหมดปี เพราะในช่วงเดือนธันวาคมของปีนั้นกลุ่มฮามาสกลับมาทำการโจมตีอีก ทำให้อิสราเอลเปิดฉากถล่มฉนวนกาซาครั้งใหญ่ จนสามารถทำลายอิทธิพลของกลุ่มนี้ลงไปได้มาก
ทว่าในปี 2014 ความขัดแย้งก็กลับมา เมื่อกลุ่มฮามาสในเขตเวสแบงก์ได้ลักพาตัววัยรุ่นอิสราเอล 3 คนก่อนจะลงมือสังหาร ทำให้มีชาวอิสราเอลสังหารชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสแบงก์เพื่อเป็นการแก้แค้น ทำให้ความขัดแย้งในพื้นที่นี้รุนแรงขึ้น และกลุ่มฮามาสกลับมามีอิทธิพลได้อีกครั้ง เพราะอ้างว่าต่อสู้เพื่อชาวปาเลสไตน์ที่ถูกกดขี่
ในความขัดแย้งครั้งล่าสุด กลุ่มฮามาสคือแกนนำในการโจมตีอิสราเอลในวันที่ 7 ต.ค. 66 และสามารถดึงกองกำลังติดอาวุธอื่นๆ มาร่วมกันต่อต้านอิสราเอลได้สำเร็จ
กลุ่มนักรบที่ต้องการต่อต้านนิกายสุหนี่ และต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกา
กลุ่มกบฏฮูตี หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “อันซาร์ อัลลอฮ์ (Ansar Allah) ” ซึ่งแปลว่า “ผู้สนับสนุนพระผู้เป็นเจ้า ก่อตั้งขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1990” โดย “ฮุสเซน บัดเรดดิน อัล-ฮูตี (Hussein Badreddin Al-Houthi) ”
โดยจุดประสงค์ของกลุ่มนี้คือ ต่อต้าน “อาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์ (Ali Abdullah Saleh) ” ประธานาธิบดีคนแรกของเยเมนที่กดขี่ชาวฮูตีซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยทางตอนเหนือ และอีกเป้าหมายหนึ่งคือต่อต้านอิทธิพลของนิกายสุหนี่ นิกายที่ได้รับการนับถือมากที่สุดในตะวันออกกลาง ซึ่งต่างกับความเชื่อของเผ่าฮูตีที่มีรากฐานมาจากนิกายชีอะห์
หลังจากสถานการณ์ในเยเมนเริ่มสงบลง ในช่วงปี 2015 กลุ่มกบฏฮูตี ก็เข้าไปทำสงครามกับซาอุดีอาระเบีย ที่ถูกมองว่า เป็นสงครามตัวแทนระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน เพราะซาอุดีอาระเบียมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐ ส่วนกบฏฮูตีก็ได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธโดยตรงจากอิหร่าน ซึ่งสงครามครั้งนั้นได้เข่นฆ่าชีวิตผู้คนไปหลายแสนคน
ปัจจุบัน กลุ่มฮุตีมีเป้าหมายคือ ต่อต้านสหรัฐอเมริกา และผู้สนับสนุน ซึ่งหมายความว่า อิสราเอลรวมอยู่ในนั้นด้วย
โดยเวลานี้ชัดเจนแล้วว่ากบฏฮูตีได้กระโจนเข้าร่วมสงครามกับอิสราเอลอย่างเป็นทางการแล้ว ทำให้ความขัดแย้งในพื้นที่ตะวันออกกลางกำลังขยายวงขึ้นไปอีกขั้น
กองทัพอิสราเอลคาดการณ์ว่ากลุ่มนี้มีกำลังพลประมาณ 15,000 - 20,000 คน
กองกำลังติดอาวุธที่เกิดจากพลังของชาวปาเลสไตน์รุ่นใหม่
กลุ่มนี้มีเพิ่งมีอายุไม่มาก เนื่องจากเริ่มก่อตั้งในปี 2022 ในเขตเวสต์แบงก์ โดย “โมฮัมเหม็ด อัล-อาซิซี อายุ 25 ปี (Mohammed al-Azizi) ” ละเพื่อนของเขา “อับเดล เราะห์มาน ซูโบห์ อายุ 28 ปี (Abdel Rahman Suboh) ”
โดยกลุ่มนี้เกิดจากความไม่พอใจของคนหนุ่มสาวชาวปาเลสไตน์ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้การยึดครองของอิสราเอลเป็นเวลานาน ซึ่งแรกเริ่มทั้งกลุ่มมีกองกำลังติดอาวุธไม่ถึง 10 คน ก่อนจะมีแนวร่วมเพิ่มมากขึ้นเป็นหลักร้อย จนเป็นภัยคุกคามของเขตเวสต์แบงก์อย่างแท้จริง
แม้ทางกลุ่มจะมีกองกำลังไม่มาก แต่ความแตกต่างคือกลุ่มนี้เกิดจากพลังคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใดๆ และยังได้รับความนิยมจากชาวปาเลสไตน์จำนวนมาก โดยจากรายงานพบว่าชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาและเวสต์แบงก์สนับสนุนกลุ่ม ถ้ำสิงห์ ถึง 70%
นอกจากนี้ทางกลุ่มยังได้รับความนิยมในโลกโซเชียลมีเดีย โดยมีผู้ติดตามทางเทเลแกรม มากกว่า 130,000 คน และยังเคยเผยแพร่คลิปวิดีโอการสู้รบกับทหารอิสราเอลผ่านทาง Tiktok อีกด้วย
ในปี 2023 กลุ่มถ้ำสิงห์ทำการต่อสู้กับทหารอิสราเอลในเวสต์แบงก์ หลายครั้ง โดยกองทัพอิสราเอลอ้างว่ามีข้อมูลที่ยืนยันว่า กลุ่มถ้ำสิงห์ เคยได้รับเงินทุนจากอิหร่าน ซึ่งไม่ต่างอะไรจากกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ที่อิสราเอลต้องถอนรากถอนโคนให้หมดในสงครามครั้งนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กต.โต้ "แรงงานไทย" แฝงตัวเป็นทหารรับจ้างให้อิสราเอล วอนหยุดแชร์ข่าวปลอม
ครบรอบ 1 เดือน สงครามอิสราเอล – ฮามาส เสียหายกันไปเท่าไหร่
เมื่อมนุษย์ก่อสงคราม สัตว์เลี้ยงจะไปอยู่ที่ไหน ?