svasdssvasds

รู้จัก CONSENT เช็คก่อนว่าอย่างไหนคือ "ยินยอม" หรือ "คุกคามทางเพศ"

รู้จัก CONSENT เช็คก่อนว่าอย่างไหนคือ "ยินยอม" หรือ "คุกคามทางเพศ"

CONSENT หมายถึงการยินยอมทางเพศ แต่เพราะประสบการณ์ของแต่ละคนแตกต่างกัน ทำให้หลายคนคิดไปเองว่า อีกฝ่าย “ยินยอม” จึงทำให้เกิด "คดีคุกคามทางเพศ" ขึ้น

จากกรณี คดีคุกคามทางเพศ ที่กำลังเป็นประเด็นในพรรคก้าวไกลในเวลานี้ ส่งผลให้คำว่า “Consent” ถูกนำมาโพสต์ในโลกโซเชียลกันอย่างกว้างขวาง

ทั้งนี้คำว่า Consent ถูกใช้ในกรณียินยอมหรือพร้อมมีเซ็กซ์ แต่เพราะประสบการณ์และสถานการณ์ของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ทำให้ในหลาย ๆ ครั้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมักคิดไปเองว่า อีกฝ่าย “ยินยอม” ทั้งๆ ที่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย

เพื่อให้แยกระหว่างสัญญาณ “ใช่” และ “ไม่ใช่” ในความหมายของ “Consent” ทีม Spring ขอชวนมาดูหลักการของคำนี้ หลังจากนี้จะได้ไม่คิดไปเองกันอีกกว่า แค่เขาส่งสายตา หรือส่งรอยยิ้มให้ในงานเลี้ยง เขา consent กับเราหรือเปล่า?

 

รู้จัก Consent  อย่างไหนคือ "ยินยอม" หรือ "คุกคามทางเพศ" Image by Freepik

โดยคำว่า Consent หมายถึง ความยินยอมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเพศ ซึ่งต้องใช้การสื่อสารกันอย่างชัดเจนในขณะยังมีสติครบถ้วน และต้องได้รับการยินยอมทั้งสองฝ่าย โดยไม่มีใครถูกบังคับ โดยยังสามารถเปลี่ยนใจได้ตลอดเวลาหากไม่อยากทำแล้ว ซึ่งทั้งสองฝ่าต้องเคารพการตัดสินใจของกันและกันด้วย

ในส่วนกรณีที่ไม่ใช่ Consent คือการถูกบังคับ รังแก หลอกลวง หรือทำให้เสียอิสระในการตัดสินใจ ตัวอย่างเช่น ยินยอมเพราะกลัวจะถูกทำร้าย หรือต้องทำตามคำขู่เพราะเลือกไม่ได้ ส่วนกรณีที่อีกฝ่ายกำลังมึนเมา หันมายิ้มให้ หรือแต่งตัวยั่วยวน ก็ไม่ได้แปลว่าพวกเขาหรือเธอยินยอมเช่นกัน

กรณีที่มีความซับซ้อนมากขึ้นคือ ต่อให้แต่งงานกันแล้ว หรือแค่เต็มใจอยู่ด้วยกันสองต่อสอง ก็ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสื่อสารออกมาก่อนว่ายินยอมมีกิจกรรมทางเพศด้วยกัน แล้วทั้งสองฝ่ายจึงค่อยมาตกลงกันว่าจะทำหรือไม่ทำ ไม่ใช่จะทำอะไรก็ได้โดยที่ยังมีคนไม่เต็มใจ ซึ่งกรณีนี้มีผลสำรวจว่า ผู้หญิงที่ถูกคนรักขืนใจนั้น ต้องทุกข์ทรมานกว่าผู้หญิงที่ถูกคนแปลกหน้าขืนใจ เพราะพวกเธอต้องใช้ชีวิตร่วมกับคนที่ข่มขืนเธอทั้งชีวิต

ในส่วนของสถิติ Rocket Media Lab ได้ทำการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างทั้งชาย หญิง และกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศอื่นๆ จำนวน 1,052 คนในปี 2021 ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

จากผลสำรวจพบว่า มีถึง 27.1% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เคยมีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ได้ยินยอมพร้อมใจ โดยเหตุผลอันดับแรกที่ต้องทำคือ อยากตอบสนองความต้องการให้อีกฝ่าย 48.8% รองลงมาคือ ความรัก 37% - กลัวจะเกิดปัญหาในความสัมพันธ์36.6 % ความเกรงใจ 28.% และอยู่ในอาการมึนเมาไม่ได้สติ 24.9%

เมื่อถามต่อว่า ทำให้ไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์ ในตอนนั้น เหตุผลที่มาเป็นอันดับหนึ่งคือ ตอนนั้นไม่มีอารมณ์ทางเพศ 67.1 % รองลงมาคือ ไม่มีเครื่องป้องกัน 57% - ร่างกายไม่พร้อม 54.3% ไม่มีเหตุผลแค่ไม่ต้องการ 53% และไม่ได้รู้สึกพิเศษกับอีกฝ่าย 51.4%

อีกข้อมูลที่น่าสนใจคือ 10.5% ของผู้ตอบแบบสอบถามจากทั้งหมด 1,039 คน เคยมีเพศสัมพันธ์โดยที่คู่นอนไม่ได้ยินยอม โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็นเพศหญิง 51 คน เพศชาย 33 คน และเพศอื่นๆ (เกย์, LGBTQ, ทรานส์เจนเดอร์) 25 คน

 

รู้จัก Consent  อย่างไหนคือ "ยินยอม" หรือ "คุกคามทางเพศ" Image by Freepik

 

นอกจากนี้เมื่อถามว่าสัญญาณอะไรที่บอกว่าอีกฝ่ายินยอม กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,045 ที่ตอบคำถามนี้ เผยว่าเหตุผลอันดับแรกคือ ออกปากพูดว่ายินยอมพร้อมใจ – 81.4 % รองลงมาคือ ยอมให้จูบ/จูบต่อ 44.2% ถอดเสื้อผ้า 37.2% ยอมให้มีการสอดใส่ ไม่ส่งเสียงห้ามหรือขัดอื่น 37.2 % ทำออรัลเซ็กส์ให้ 35.2%

ส่วนสัญญาณที่บอกว่าไม่ยินยอมที่จะมีเซ็กซ์ จากผู้ตอบแบบสอบถามนี้จำนวน 1,042 กล่าวว่าคือ การพูดปฏิเสธตรงๆ ยืนยัชัดเจน 89.9% ผลักออก 84.9% แสดงถึงความกลัว 79.7% พูดบ่ายเบี่ยง 76.3% และแสดงความโกรธถึง 73.4 %

จากข้อมูลดังกล่าวทำให้เห็นว่าการแสดงออกตรงๆ คือการสื่อสารที่นิยมใช้มากที่สุด ซึ่งนำมาสู่คำถามต่อไปว่า Verbal Consent หรือการใช้วิธีพูดคุย นั้นจำเป็นหรือไม่ ซึ่งผู้ที่เห็นด้วยกับวิธีพูดคุยกันตรงๆ มีสัดส่วนมากถึง 76.4% ส่วนเฉยๆ 11.5 % และไม่เห็นด้วยกับการพูดคุย6.2%

โดยหนึ่งในตัวอย่างเพศหญิงอายุ 24 ปี ระบุว่ารู้สึกว่า “ถ้าเขากล้าขอ เขาคงมีวุฒิภาวะพอที่จะรับคำตอบของเรา ไม่ว่าเราจะยอมหรือไม่ยอม” ส่วนอีกคนที่เป็นเพศชายระบุว่า “ก็แฟร์ดี เป็นเรื่องปกติ ควร normalize sex with consent”

ส่วนหนึ่งในกลุ่มตัวอย่างเพศหญิงอายุ 28 ปี ที่ไม่เห็นด้วยได้กล่าวว่า “อึ้งกิมกี่ รู้สึกอย่าพูดอะไรแบบนี้หรือทำนองนี้ได้มั้ย ขนลุก และอาจเสียความรู้สึก จนจบความสัมพันธ์ไปเลย มองหน้าไม่ติด หรือรู้สึกแปลกๆ ต่อคนแบบนี้ไปตลอดชีวิต”

 

นอกจากนี้ในเรื่องของทัศนคติ กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,043 คน ยังเห็นด้วยกับประเด็นต่อไปนี้

  • ไม่ว่าเพศไหนก็สามารถเป็นผู้ถูกกระทำได้ — เห็นด้วย 92.1%
  • การแต่งตัวโป๊ ไม่เท่ากับการเปิดเผยความต้องการทางเพศ — เห็นด้วย 79.4%
  • การจะมีเซ็กซ์กับคนรัก ต้องขอความยินยอมทุกครั้ง — เห็นด้วย 76.3%
  • การสอดใส่โดยไม่ถามถึงความยินยอมพร้อมใจ = ข่มขืน — เห็นด้วย 71.6%
  • ความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศไม่ว่ากรณีใดๆ ไม่ควรจะให้ยอมความได้ — เห็นด้วย 64.1%

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้เห็นว่าการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมานั้นสำคัญ เพราะมันคือประตูแรกสู่การมีกิจกรรมทางเพศที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเพิ่งเจอกันครั้งแรก หรือแต่งงานกันมาแล้วเป็น 10 ปีก็ตาม เพราะคงไม่มีใครอยากให้คนที่รักรู้สึกเหมือนถูกคุกคาม ดังนั้นไม่ว่าความสัมพันธ์แบบไหน ก็ควรหาสัญญาณของกันและกันให้เจอ

สิ่งสำคัญคือต้องหัดดูว่าอันไหนคือ “ใช่ Consent” หรือ “ไม่ใช่ Consent” เพื่อไม่ให้อีกฝ่ายเกิดบาดแผลจากการกระทำของเรา

 

ที่มา : Rocket Media Lab

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดจดหมาย เหยื่อ สส.ปูอัด ขอความเป็นธรรมจากพรรคก้าวไกล

ประวัติ วุฒิพงศ์ ทองเหลา สส. ปราจีนบุรี หลังถูกขับพ้นก้าวไกล ลั่นผิดหวังมติ

ดราม่า ก้าวไกลคุกคามทางเพศ สส.หญิงแห่ขึ้นปกดำ ปิยบุตร ชี้เสียความเชื่อมั่น

 

related