svasdssvasds

เปิดรายชื่อ เครือญาติ ได้ตำแหน่งช่วยงานรัฐมนตรี ใน ครม. เศรษฐา1

เปิดรายชื่อ เครือญาติ ได้ตำแหน่งช่วยงานรัฐมนตรี ใน ครม. เศรษฐา1

ชวนส่อง รายชื่อ ที่ปรึกษา-คณะทำงาน ของบรรดารัฐมนตรี ใน รัฐบาลเศรษฐา 1 พบมีการแต่งตั้ง คนในครอบครัว หรือบางท่านอาจจะเป็นเครือญาติมาช่วยงานด้วย โดยที่มีรายงานข่าวชัดเจนแล้ว มี ผู้ช่วย 3 ตำแหน่ง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข , กระทรวงคมนาคม และ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ

ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ผู้คนสนใจกับการแต่งตั้งที่ปรึกษา คณะทำงานต่างๆ และ "เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ" สำนวนนี้ยังคงใช้ได้ ณ ปี 2566 เพราะในรัฐบาลชุดนี้ มีการแต่งตั้ง คนในครอบครัว หรือบางท่านอาจจะเป็นเครือญาติมาช่วยงาน และที่เห็นได้ชัดๆ แล้ว 3 ตำแหน่ง ส่วนเรื่องความเหมาะสมนั้น คงต้องใช้เวลา และให้เวลา พิสูจน์ผลงาน เป็นคำตอบแทน

เริ่มต้นที่ กระทรวงคมนาคม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ จากพรรคเพื่อไทย ได้แต่งตั้ง พงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ (หลาน รมว.)  เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา 

พงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ (หลาน รมว. คมนาคม)

ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เพิ่งจะลงนามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ 1290/2566 ลงวันที่ 14 ก.ย. 66 แต่งตั้ง น.ส.นวลสกุล บำรุงพงษ์ ซึ่งเป็น ภรรยา คู่ชีวิตของ หมอชลน่าน  เป็น คณะที่ปรึกษา รมว.สธ. โดยระบุเหตุผลว่า เพื่อให้การบริหารราชการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ด้านสุขภาพอนามัย

นอกจากนี้ ยังระบุถึงประวัติการทำงานว่า พญ.นวลสกุล หรือ "หมอก้อย" เคยเป็นอดีตผู้อำนวยการสำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข ผู้ริเริ่มวางรากฐานระบบเครือข่ายพยาบาลประชาสัมพันธ์ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ ปีพ.ศ. 2534 ซึ่งถือว่าเป็น บุคคลที่ความมุ่งมั่นกับการทำงาน 

พญ.นวลสกุล หรือ "หมอก้อย" กับ นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว

การได้รับการแต่งตั้งจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นคณะที่ปรึกษา รมว.สธ. ด้านการสื่อสารสาธารณสุข แบบไม่มีเงินเดือนและไม่ใช่ ข้าราชการการเมือง 

ทั้งนี้ เมื่อหมอชลน่าน ตัดสินใจตั้งภรรยาที่ไว้ใจมากที่สุด และถือเป็น คู่คิดคู่ใจ มาเป็นที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข โดยไม่สนใจกระแสสังคมที่รุมตั้งคำถามถึงความเหมาะสม ก็คงต้องพิสูจน์กันที่ผลงานว่า "หมอก้อย"จะทำหน้าที่ได้ดีและเหมาะสมมากน้อยเพียงใด

ขณะที่ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้แต่งตั้ง พี่สาว กัญจนา  ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา  ที่ปรึกษาคณะที่ปรึกษาฯ ให้กับตน ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ กระทรวง พม.  ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ว่า ตำแหน่งนี้เธอเคยเป็นมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อในอดีต 

กัญจนา ศิลปอาชา ถือเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และเธอคือ "ลมใต้ปีก" ของน้องชายอย่างแท้จริง

โดย กัญจนา ศิลปอาชามีหน้าที่ให้คำที่ปรึกษา ข้อเสนอแนะ แสวงหาข้อมูลประสานงานในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และกองทุนในสังกัดและกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตลอดจนติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และปฏิบัติหน้าที่อื่นๆตามที่ได้รับมอบหมาย

กัญจนา ศิลปอาชา กับ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

ส่วน ประเด็นเรื่องที่สังคมออนไลน์ตั้งคำถาม เกี่ยวกับทริปเดินทางของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ในการไปนิวยอร์ก ไป ประชุม UNGA แต่มีลูกสาว น.ส.ชนัญดา ทวีสิน ลูกสาว นายเศรษฐา ทวีสิน เดินทางไปด้วย , ประเด็นนี้  น.ส.นัทรียา ทวีวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 66 ระบุตอนหนึ่งกรณี น.ส.ชนัญดา ทวีสิน ลูกสาว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้โดยสารที่เป็นผู้ใกล้ชิดว่า ลูกสาวนายกรัฐมนตรีชำระเงินตามหลักการโดยใช้เงินส่วนตัวในการเดินทางครั้งนี้ และโดยที่ภริยาของท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการเชิญ เพื่อมาดูงานการจัดการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และความเป็นอยู่ของชุมชนไทย ลูกสาวของท่านนายกฯ จึงเดินทางมาช่วยงานคุณแม่ ไม่ได้มีภารกิจเกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรี แต่ออกค่าใช้จ่ายเอง
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  กับ  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.)
ส่อง ค่าตอบแทน-อำนาจหน้าที่-คุณสมบัติ "ที่ปรึกษา-เลขารัฐมนตรี"

จนถึงทุกวันนี้ ครม.เศรษฐา 1 รัฐบาลเพื่อไทย ถือได้ว่าเข้าบริหารราชการแผ่นดิน มีอำนาจเต็มเปี่ยม สมบูรณ์แล้ว หลังแถลงนโยบายรัฐบาลไปเมื่อ 11-12 ก.ย.ที่ผ่านมา และทำงานได้ครึ่งเดือนแล้ว และได้มีการประชุม ครม.นัดแรก และมีการเรียกแขกกันตั้งแต่หัววัน กับประเด็น จ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 ครั้งต่อเดือน ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย 

หลายคน สนใจการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ใครได้นั่งเก้าอี้ รมว.ว่าการกระทรวงใด ใครผิดหวังบ้าง แต่หากมองให้ลึกลงไปอีกตำแหน่งที่หลายคนอาจมองข้าม คือ "ข้าราชการการเมือง" พวก "ที่ปรึกษารัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง" หากเป็นคอการเมืองคงรู้กันดี ว่า ผู้ที่จะมานั่งตำแหน่งนี้ได้ จะต้องเป็นพวก "เป็นมือเป็นไม้" หรือ เป็นเหมือน "รางวัลปลอบใจ" คนสนิท ของเจ้ากระทรวงเท่านั้น 

เงินเดือน ค่าตอบแทน "ที่ปรึกษารัฐมนตรี- เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี-เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง-ผู้ช่วยเลขารัฐมนตรีว่าการกระทรวง"

- ที่ปรึกษารัฐมนตรี เงินเดือน 47,250 บาท เงินประจำตำแหน่ง 10,000 บาท รวม 57,250 บาทต่อเดือน
-เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี-เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง เงินเดือน 44,310 บาท เงินประจำตำแหน่ง 4,900 บาท รวม 49,210 บาท
-ผู้ช่วยเลขารัฐมนตรีว่าการกระทรวง 39,710 บาท เงินประจำตำแหน่ง 4,400 บาท รวม 44,110 บาท

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง และเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง มีหน้าที่

  • ให้คําปรึกษา
  •  เสนอความคิดเห็น วิเคราะห์ เสนอแนะทางด้านวิชาการ นโยบายยุทธศาสตร์และบริหารราชการ ในอํานาจ รมต.ด้านต่างๆ
  • ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

สิทธิประโยชน์ต่างๆ ข้าราชการการเมือง

  • การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
  • การเบิกค่ารักษาพยาบาล
  • บำเหน็จบำนาญ
  • การเบิกจ่ายค่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (มือถือ)
  • การใช้รถประจำตำแหน่ง
  • การลาของข้าราชการการเมือง
  • การเดินทางไปราชการ
  • การขออนุมัติเดินทางไปราชการของข้าราชการการเมือง
  • การเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ
  • ค่าเช่าที่พัก
  •  การยืมตัวข้าราชการ
  •  การขอมีบัตร
  • การขอมีบัตรแสดงตนผ่านเข้าบริเวณทำเนียบรัฐบาล
  •  การขอมีบัตรอนุญาตนำยานพาหนะผ่านเข้าบริเวณทำเนียบรัฐบาล
  • การขอมีบัตรประจำตัวข้าราชการการเมือง
  • เครื่องแบบข้าราชการการเมือง

ผู้ซึ่งจะได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมืองตำแหน่งอื่นนอกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  • มีสัญชาติไทย
  • อายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปี
  • เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญด้วยความบริสุทธิ์ใจ
  • ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่ คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
  • ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี
  • ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
  • ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับ ความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
  • ไม่เคยถูกลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก จากรัฐวิสาหกิจ
  • ไม่เคยถูกลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก เพราะกระทำผิดวินัยตาม กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนหรือตามกฎหมายอื่น

การออกจากตำแหน่งของข้าราชการการเมือง ออกจากตำแหน่ง เมื่อ

  • ตาย
  • ลาออก
  • ถูกสั่งให้ออก ไม่ว่าจะเป็นการออกโดยมีความผิดหรือไม่ก็ตาม
  • นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้สั่งแต่งตั้งออกจากตำแหน่ง
  • ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๙ ๓. บทบัญญัติที่คุ้มครองประชาชน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related