การทำปศุสัตว์ ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อน ไม่แพ้มลพิษที่เกิดจากมนุษย์ ควันรถ รวมถึงการทิ้งขยะ สาเหตุเพราะ "เจ้าวัว" มีระบบการหมักย่อยอาหาร ทำให้ปล่อยก๊าซมีเทน ตด และเรอ มากถึง 15% ของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาทั้งหมดในโลก
เทศกาลกินเจ 2566 จะจัดขึ้นในวันที่ 15 ตุลาคม จนถึง 23 ตุลาคม 2566 รวมเป็นเวลา 10 วัน ซึ่งวัฒนธรรมการกินเจเป็นวัฒนธรรมที่ทำสืบต่อกันมาในคนไทยเชื้อสายจีน และ ในหลายๆประเทศโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย สิงค์โปร์ มาเลเซีย ซึ่งบางคนอาจจะยึดถือปฏิบัติจริงจังมาตลอด บางคนกินบ้างไม่กินบ้างเพราะร้านค้าใกล้ๆคุณเริ่มขายเมนูเจ บางคนอาจจะอยากเริ่มกินเจปีนี้ หรือบางคนก็ขอ Enjoy กับการทานเนื้อสัตว์ต่อไป แต่ทุกคนอาจจะไม่ทราบว่าการกินเจ นอกจากจะได้บุญแล้ว ยังช่วยให้เราได้รักษ์โลกอีกด้วย
หลายๆคนอาจจะไม่ทราบว่าปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อน มากเป็นอันดับต้นๆของโลก คือการทำปศุสัตว์ เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจสำหรับใครหลายๆคน เพราะเมื่อพูดถึงภาวะโลกร้อน เรามักจะนึกถึงควันรถ หรือ การทิ้งขยะๆต่าง แต่ความเป็นจริงแล้วการทำปศุสัตว์นั้นเป็นปัจจัยต้นๆที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนเลย ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่าการทำปศุสัตว์ต้องใช้น้ำ และ พื้นที่จำนวนมาก ก่อให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อพื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์ และการปนเปื้อนในแหล่งน้ำที่ใช้สำหรับการทำปศุสัตว์
และที่สำคัญระบบการย่อยอาหารของสัตว์ต่างๆ ก็สร้างก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซที่กักเก็บความร้อนไว้ได้ถึง 10 ปี และก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 20 เท่า
ให้เห็นภาพกันมากขึ้น ขนาดพื้นที่ที่ใช้ในการเลี้ยงวัว 1 ตัว เทียบกับการปลูกพืชที่ใช้บริโภคได้ เช่น ข้าวโพด 1 ต้นก็ต่างกันมากทีเดียวและในส่วนของปริมาณน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงวัวเพื่อผลิตเนื้อวัวเพื่อบริโภค ต้องใช้น้ำถึง 15,415 ลิตร และได้ผลผลิตเป็นเนื้อวัวเพียงแค่ 1 กิโลกรัมเท่านั้น แต่ถ้าเราเอาน้ำในปริมาณที่เท่ากันไปปลูกพืช เช่น ถั่ว หรือ ข้าวโพดอาจได้ผลผลิตเพื่อการบริโภคมากกว่าเนื้อวัวถึง 20 เท่า
เว็บไซต์ The New Yorker ถึงขั้นเปรียบเทียบว่า การทานสเต็กเนื้อชิ้นโตๆที่หนักประมาณ 1.8 กิโลกรัม ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน พอๆกับการนั่งเครื่องบินจากนิวยอร์กไปกรุงลอนดอนเลย
เรื่องการผายลม "ตด" และ “เรอ” ไม่ใช่ปัญหาเรื่องกลิ่นเท่านั้น แต่สำหรับสัตว์อย่างวัว ถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลกเลยทีเดียว ก่อนอื่นต้องเข้าใจกระบวนการหมักในระบบย่อยอาหาร ของเจ้าวัวกันก่อน
ซึ่งวัว 1 ตัวนั้นสามารถผลิดก๊าซมีเทนได้ถึง 70-120 กิโลกรัมต่อปี และนับเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาถึง 15% ของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาทั้งหมดในโลก
โดย “นิวซีแลนด์” กำลังจะเป็นประเทศแรกของโลก ที่บังคับให้เกษตรกรจ่ายค่าภาษีวัวตด-เรอ เพราะถือเป็นการสร้างมลพิษจากฟาร์มปศุสัตว์ ที่เป็นแหล่งที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ
นักวิชาการจากหลาย ๆ ประเทศ เริ่มเตือนให้ประเทศที่มีการบริโภคเนื้อวัวจำนวนมากเช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และ ประเทศในโซนตะวันออกกลาง ลดการบริโภคเนื้อวัวลง และแนะนำให้เลือกรับประทานผลิตภัณฑ์จากพืช หรือ Plant-based มากขึ้น ไม่อย่างนั้นมนุษย์โลกอาจจะต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่เลวร้ายกว่าเดิม
เทรนด์การทาน plant-based product เริ่มเป็นที่นิยมในหลายประเทศ และเป็นที่แนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นในเชิงของสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม โดยในเชิงของสิ่งแวดล้อม การบริโภคผลิตภัณฑ์จากพืช สามารถลดปริมาณการใช้น้ำมากกว่าครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อสัตว์ รวมถึงก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์จากพืชก็น้อยหรือแทบไม่มีเลย เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และในเชิงของสุขภาพ ผลิตภัณฑ์จากพืชเต็มไปด้วยเส้นใย ไขมันที่ดีต่อสุขภาพ โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ และในปัจจุบันก็พัฒนาให้มีรสชาติที่ดีและทานง่ายอีกด้วย
จากความเชื่อเกี่ยวกับการกินเจที่ส่งต่อจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีน ทำให้มีการจัดเทศกาลกินเจ ที่ยิ่งใหญ่และแพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่มาก เช่น เยาวราช กรุงเทพฯ ภูเก็ต และ ตรัง จนกลายเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการปรับวัตถุดิบและเมนูเจ ให้สะดวกขึ้น รสชาติอร่อย มีทั้งของคาวและของหวาน จนแทบจะแยกไม่ออกเลยทีเดียว
หากใครกำลังตัดสินใจว่าปีนี้จะร่วม เทศกาลกินเจ 2566 หรือไม่ ลองคิดถึงประโยชน์ที่จะได้รับไม่ว่าจะเป็นเชิงการถือศีล ทำบุญเพื่อชำระล้างจิตใจ ละเว้นการเบียดเบียนสัตว์อื่น หรือ บางคนก็ทำเพื่อสุขภาพ แต่ในปีนี้ทุกคนลองเอาไปคิดดูนะว่าการกินเจได้บุญ ได้สุขภาพแล้ว อาจยังช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย
บทความอื่นที่น่าสนใจ
อ้างอิง