เจาะข้อพิพาท วิวาทะระหว่าง "คนใน" พรรคประชาธิปัตย์ ระหว่าง นายหัว "ชวน หลีกภัย" และ เดชอิศม์ ขาวทอง หนึ่งในกลุ่ม 16 สส. ที่โหวตให้ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ เรื่องราว ปมขัดแย้งนี้ เป็นอย่างไร เช็กเลย
วิวาทะ งูเห่าประชาธิปัตย์ : นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกฯ และ อดีตประธานสภาฯ ให้สัมภาษณ์รายการ มุมการเมือง ไทยพีบีเอส ว่า นายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ 1 ใน 16 สส. ที่โหวตเห็นชอบให้ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอในที่ประชุมพรรคว่า "ถ้าผู้ใดที่ฝืนมติพรรคต้องให้ลาออก"
โดย นายชวน หลีกภัย เชื่อว่า มีเจตนาพุ่งเป้ามาที่ตนเอง เพราะคงมีแผนที่จะไปร่วมรัฐบาลของเพื่อไทย ที่มีเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายก และคงรู้ว่า ตนไม่เอาด้วย ไม่เห็นด้วย เห็นว่าควรจะเป็นฝ่ายค้าน
นายชวน หลีกภัย ยังเปิดเผยถึงการประชุมของพรรคประชาธิปัตย์ก่อนวันโหวตเลือกนายกรอบ 3 ว่า พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ สส.สงขลา ซึ่งอยู่ในกลุ่ม 16 สส. ด้วย ได้แจ้งในที่ประชุมว่า บัดนี้ประชาธิปัตย์ไม่ได้ร่วมรัฐบาลแล้ว เพราะฉะนั้นต้องไม่รับ จึงมีการถกกันว่า จะไม่รับด้วยวิธีไหน จะงดออกเสียง หรือ โหวตไม่เห็นชอบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จากนั้น นายชวน หลีกภัย จึงขอที่ประชุมพรรคว่า ตนได้สู้กับพรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักไทย มาในประเด็นเรื่องที่ "เขาแกล้งเรา" คือ เขาไม่พัฒนาจังหวัดที่ไม่เลือกเขา เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้มีผลกระทบต่อจังหวัดทางภาคใต้มาก ตนได้รณรงค์มาตลอดว่าอย่าเลือกพรรคนี้ เมื่อวันนี้ตนรณรงค์ให้คนภาคใต้ไม่เลือก และตนจะไปทำตัวเป็นเครื่องมือ ไปเห็นชอบ คิดว่าเป็นการทรยศคนภาคใต้ จึงแจ้งต่อที่ประชุมไว้ ที่ประชุมก็ไม่มีใครคัดค้าน ส่วนคนอื่นนั้นที่ประชุมก็ให้ลงมติงดออกเสียง และเป็นข้อเสนอของกลุ่ม 16 เอง
นายชวน ยืนยันว่า ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเหลือกี่คน แต่สำหรับตนก็จะไม่ไปไหน เว้นแต่จะถูกขับออกไปจากพรรค พร้อมกล่าวต่อว่า และสมมุติจะดิ้นรนไปเป็นรัฐบาลเพื่อไทย ก็ต้องผ่านกระบวนการของพรรค คือต้องให้กรรมการบริหารพรรค และ สส. ลงมติร่วมกัน ไม่ใช่แอบไปเจรจาคนเดียวแล้วเขาก็ไม่รับ
"ผมยังบอกในที่ประชุมว่า "ไม่อายเหรอในการที่เราไปเสนอตัว พยายามจะร่วมรัฐบาล ในเมื่อคุณเศรษฐาเขาประกาศชัดเจน ตั้งแต่แรกว่าเขาไม่เอาประชาธิปัตย์ เพราะเขารู้แม้เป็นนักการเมืองใหม่ เพราะเราสู้กับเขามาอย่างยาวนาน และเราสู้เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้ประชาชน ไม่ได้สู้เพราะมีผลประโยชน์ขัดแย้งกับเขา ในขณะที่เขาเลือกปฏิบัติกับประชาชน... แต่ว่าไม่ติดต่อด้วยตัวเอง ไปพบคุณทักษิณด้วยตัวเอง ถึงแม้จะปฏิเสธว่าไม่มี แต่ก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่าความดิ้นรนที่จะเป็น ก็ทำให้ภาพลักษณ์เสียหาย" นายชวนกล่าวตอนหนึ่ง และว่า เป็นเรื่องของคนส่วนหนึ่งที่ดิ้นรนอยากไปเป็นรัฐมนตรีอยากไปเป็นรัฐบาล
• เดชอิศม์ แถลงปมโหวตสวน ลั่น ไม่กระเหี้ยนกระหือรือร่วมรัฐบาลเพื่อไทย
ขณะที่ อีกฟากฝั่งหนึ่ง นายเดชอิศม์ ขาวทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) สงขลา 2 สมัย และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย 15 สส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่โหวตสวนมติพรรค เห็นชอบให้ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แถลงข่าวที่อาคารรัฐสภา
พรรคประชาธิปัตย์เริ่มไม่มีเอกภาพตั้งแต่การประชุมวิสามัญเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ 2 รอบ มีเจตนาที่จะให้องค์ประชุมล่ม ทำให้เกิดความเสียหายต่อพรรค ต่อองค์ประชุมที่มาจากทั่วประเทศ ซึ่งค่าใช้จ่ายแต่ละครั้ง 3-4 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน นายเดชอิศม์ เปิดเผยเหตุผลในการโหวตสวนมติพรรค ว่า การประชุมวิสามัญพรรค เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ก่อนที่จะถึงวันโหวต ตนได้รับฟังเหตุผลในการโหวตแต่ละแบบ อย่างการโหวตไม่เห็นชอบ มีผู้ให้เหตุผลว่า เนื่องจากความขัดแย้งและความโกรธในอดีต จากนั้นมี สส.รุ่นใหม่ ลุกขึ้นยืนบอกว่าอยากให้แยกการทำงานกับความโกรธแค้นในอดีต ทำให้มี สส.รุ่นใหญ่บางคนวอล์กเอาต์ไปจากที่ประชุม ส่วนกลุ่มคนที่โหวตเห็นชอบ ให้เหตุผลว่าเห็นแก่ความเดือดร้อนของประชาชน ไม่อยากให้เกิดสุญญากาศในการแก้ไขปัญหาประชาชน
นอกจากนี้ กระแสที่ถูกมองว่าการโหวตสวนมติพรรคเพื่อที่จะตั้งใจให้ถูกขับออกและจะไปอยู่กับพรรคใหม่นั้น นายเดชอิศม์ ตอบว่า ไม่แน่ใจว่าใครจะขับใครกันแน่ เราเสียงส่วนใหญ่อยู่นี่เกือบทั้งหมด และเราไม่คิดจะขับใครออกจากพรรค พร้อมที่จะพูดคุยเจรจา แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครมาเจรจา ไม่ว่าจะเรื่องกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่หรือทิศทางใดๆ
"ยืนยันว่าทั้งตัว สส. และศักดิ์ศรี ความเป็นประชาธิปัตย์ เราไม่กระเสือกกระสน กระเหี้ยนกระหือรือ จะอยากไปเป็นรัฐบาล"