"มาดามเดียร์" วทันยา บุนนาค โพสต์ระบาย 17 ปี เลือกตั้งประเทศไทย คนไทยได้อะไรกลับมาบ้าง? ประเทศไทยก็ยังไม่ก้าวออกจาก ความเป็น “คณาธิปไตย” ที่อำนาจเป็นของคนเพียงบางกลุ่ม กลายเป็นสมบัติผลัดกันชม เพื่อใช้เจรจาต่อรอง แบ่งผลประโยชน์กันให้ลงตัว
หลังจาก "นายเศรษฐา ทวีสิน" แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย โดยได้รับเสียงสนับสนุนท่วมท้นถึง 482 เสียง ไม่เห็นชอบ 165 เสียง งดออกเสียง 81 เสียง ไม่อยู่ในที่ประชุม 19 คน
ล่าสุด "มาดามเดียร์" วทันยา บุนนาค สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้โพสต์ข้อความแสดงความเห็น ถึงสถานการณ์ทางการเมือง โดยระบุว่า...17 ปีที่ผ่านมา เราเลือกตั้ง 6 ครั้ง รัฐประหาร 2 ครั้ง การชุมนุมอีกนับครั้งไม่ถ้วนสุดท้ายคนไทยเราได้อะไรกลับมาบ้าง?
นักเลือกตั้ง (ไม่ขอใช้คำว่านักการเมือง) ตัวละครที่คุ้นหน้าคุ้นตาเดิมๆ กลับมาสู่อำนาจ ไม่ว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะมาจากฟากฝั่งไหนก็ตาม การทุจริตคอร์รัปชั่น เงินจำนวนมากที่เพิ่มขึ้นทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งซ้ำเติมด้วย ส.ส. งูเห่า ที่คำว่าการแจกกล้วยในสภา กลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงอย่างโจ๋งครึ่ม ไม่รู้สึกเป็นเรื่องน่าอับอายเหมือนในอดีต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
จุรินทร์ ย้ำ 'ประชาธิปัตย์' ไม่ตั้งใครคุยในการร่วม ‘จัดตั้งรัฐบาล’
นิด้าโพล เผยผลสำรวจ “อภิสิทธิ์” เหมาะเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด
มาดามเดียร์ ชี้ หัวหน้าพรรค ปชป. คนใหม่ต้องมีจุดยืน ตอบคำถามสังคมได้
การโหวตมติสำคัญแต่ละครั้งที่ถือเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. ในรัฐธรรมนูญเพื่อให้ ส.ส. ถือเอกสิทธิ์ในการคงเจตนารมณ์ของประชาชน กลายเป็นของมีมูลค่าที่ไม่มีคำว่าฟรีอีกต่อไป แต่ต้องแลกด้วยผลประโยชน์ นโยบายหาเสียงที่แข่งกันลดแลกแจกแถมเพื่อหวังเอาใจโหวตเตอร์ แต่นโยบายที่จะนำพาประเทศไปทางไหน หาเงินเข้าประเทศอย่างไรกลับแทบไม่มีให้เห็น
วังวนความขัดแย้ง ที่เปลี่ยนจากขั้วการเมือง มาเป็นความขัดแย้งระหว่างวัย ของคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ จากกลุ่มที่ผูกขาดความรักชาติ หรือเพราะรักผลประโยชน์ของตัวเองก็ไม่อาจแน่ใจได้ เดียร์เชื่อว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยวันนี้อาจเป็นความหวังของใครหลายคน
แต่ก็เชื่อว่าคนไทยอีกหลายคนคงรู้สึกไม่ต่างจากสิ่งที่เดียร์กำลังรู้สึกนั่นคือ “ไร้ความหวัง” เพราะสุดท้ายแล้ว ในฐานะประชาชนคนหนึ่งก็ยังคงต้องทำงานโดยพึ่งตัวเองเหมือนเดิม ในขณะที่ประเทศไทยก็ยังไม่ก้าวออกจาก ความเป็น “คณาธิปไตย” ที่อำนาจเป็นของคนเพียงบางกลุ่ม (ซึ่งส่วนใหญ่ก็หน้าเดิมๆ แทบไม่เปลี่ยน) กลายเป็นสมบัติผลัดกันชม เพื่อใช้เจรจาต่อรอง แบ่งผลประโยชน์กันให้ลงตัว
การเลือกตั้งที่เป็นเหมือนความหวัง แต่วันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าผ่านมา 17 ปี ประเทศไทยเลือกตั้งมาแล้วทั้งสิ้น 6 ครั้ง แต่สุดท้ายกลับไม่ก้าวไปไหน ทุกอย่างวนกลับมาเหมือนเดิม เหมือนเช่นที่ในหนังสือ “ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน” ว่าไว้จริงๆ