svasdssvasds

ผ่าตัวเลขนโยบาย เลือกตั้ง66 วิเคราะห์ เรื่องไหนใช้เงินมากสุด TOP 3 แต่ละพรรค

ผ่าตัวเลขนโยบาย เลือกตั้ง66  วิเคราะห์ เรื่องไหนใช้เงินมากสุด TOP 3 แต่ละพรรค

วิเคราะห์ตัวเลขนโยบาย เลือกตั้ง 2566 เรื่องไหนใช้เงินมากสุด ท็อป 3 แต่ละพรรคการเมือง เอาให้ชัดทุกด้านทุกมุม 6 พรรคการเมืองใหญ่ หลายๆพรรคทุ่มงบประมาณกับนโยบายต่างๆ ระดับมากกว่า 1 ล้านล้านบาท

ในช่วงกลางเดือนเมษายน 2023 ที่ผ่านมา พรรคการเมืองทั้งหลายได้นำเสนอข้อมูลทั้ง 3 รายการต่อ กกต. แล้ว โดย กกต.นำมาเปิดเผยในเว็บไซต์  และทาง ทีดีอาร์ไอ TDRI (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย)  ได้นำเอาข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ เพื่อตั้งข้อสังเกตต่อคุณภาพของข้อมูลที่พรรคการเมืองนำเสนอต่อประชาชน ส่วนข้อสังเกตต่อเนื้อหาของนโยบายต่างๆ นั้นอยู่ในบทความที่เคยนำเสนอก่อนหน้าแล้ว 

1. ข้อสังเกตโดยรวมจาก TDRI 
เนื่องจากพรรคการเมืองที่เข้าร่วมการเลือกตั้ง 2566 ในครั้งนี้มีจำนวนมาก ทีดีอาร์ไอ TDRI จึงเลือกศึกษาเฉพาะเอกสารของพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 จำนวน 6 พรรคคือ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ (ซึ่งรวมพรรครวมไทยสร้างชาติในปัจจุบันด้วย) พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคก้าวไกล (พรรคอนาคตใหม่เดิม)  

หากพิจารณาตามข้อมูลที่พรรคการเมืองนำเสนอ จะพบว่ามี 4 พรรคที่มีนโยบายซึ่งต้องใช้งบประมาณมากในระดับ 1 ล้านล้านบาท เรียงตามลำดับคือ พรรคภูมิใจไทย (1.9 ล้านล้านบาท) พรรคเพื่อไทย (1.8 ล้านล้านบาท) พรรคก้าวไกล (1.3 ล้านล้านบาท) และพรรคพลังประชารัฐ (1.0 ล้านล้านบาท) 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ TDRI ระบุอีกว่า นโยบายเลือกตั้ง 2566 ของเกือบทุกพรรคน่าจะทำให้มีการใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นจนขาดดุลงบประมาณอย่างมากในช่วง 4 ปีหน้า ซึ่งนอกจากจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว ยังอาจทำให้เศรษฐกิจขาดเสถียรภาพเพราะขยายตัวในระดับที่ร้อนแรงเกินไป ภายใต้สภาพที่ความเสี่ยงของเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (demand-pull inflation) ยังไม่ผ่อนคลายและอาจเร่งตัวขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้เงินเฟ้อด้านอุปทาน (supply-side inflation) ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้านี้จากการที่พลังงานมีราคาเพิ่มสูงขึ้นจะผ่อนคลายไปแล้วก็ตาม หากเงินเฟ้อขยับสูงขึ้นต่อเนื่องจนไม่สามารถควบคุมได้ จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ถูกบังคับให้ต้องปรับสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของธุรกิจและซ้ำเติมภาวะหนี้ครัวเรือนซึ่งอยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว ซึ่งทำให้กลุ่มเปราะบางที่พรรคการเมืองต้องการช่วยเหลือกลับได้รับผลกระทบในด้านลบ

ผ่าตัวเลขนโยบาย เลือกตั้ง 66  วิเคราะห์ เรื่องไหนใช้เงินมากสุด TOP 3 แต่ละพรรค

• TDRI ผ่าตัวเลขนโยบาย  ใช้เงินมากสุด ท็อป 3 แต่ละพรรคการเมือง 

 ภูมิใจไทย         

เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ : ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน   1,700,000  ล้านบาท
ภาษีบ้านเกิดเมืองนอน    101,334 ล้านบาท
กองทุนประกันชีวิตผู้สูงอายุ (ตายได้ 1 แสน กู้ได้ 2 หมื่น) 37,098  ล้านบาท
  รวม (ทุกนโยบาย)   1,867,622   ล้านบาท        

เพื่อไทย         

กระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน Digital Wallet     560,000  ล้านบาท
การจัดการน้ำ ไม่ท่วม ไม่แล้ง ชนบทมีใช้  500,334  ล้านบาท
 สวัสดิการผู้สูงอายุ    300,000  ล้านบาท
 รวม (ทุกนโยบาย)     1,770,870  ล้านบาท        

ก้าวไกล         

สวัสดิการสูงอายุ เงินเดือนผู้สูงอายุ 3,000 บ./เดือน   500,000  ล้านบาท
เพิ่มงบจัดการตนเองทั่วประเทศ (อุดหนุน อปท.)  200,000  ล้านบาท
  สวัสดิการทุกช่วงวัย     98,500  ล้านบาท
 รวม (ทุกนโยบาย)   1,288,610  ล้านบาท         

พลังประชารัฐ         

เบี้ยเลี้ยงยังชีพผู้สูงอายุ 3,000-5,000 บ. 495,658  ล้านบาท 
แม่ บุตร ธิดา ประชารัฐ  174,216  ล้านบาท
 บัตรประชารัฐ 700 บ. + ประกันชีวิตประชารัฐ  128,392  ล้านบาท
 รวม (ทุกนโยบาย)  996,266   ล้านบาท     
 
ประชาธิปัตย์      

 Startup-SME ต้องมีแต้มต่อ    300,000  ล้านบาท
 ธนาคารหมู่บ้าน ชุมชน แห่งละ 2 ล้าน     160,000  ล้านบาท
  ชาวนารับ 30,000 บ. / ครัวเรือน  97,000  ล้านบาท
 รวม (ทุกนโยบาย) 685,400  ล้านบาท        

รวมไทยสร้างชาติ     

บัตรสวัสดิการพลัส 1,000 บ. / คน / เดือน     71,000  ล้านบาท
คนละครึ่ง ภาค 2   40,000  ล้านบาท
เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเท่ากับทุกช่วงวัย 1,000 บ. / คน / เดือน  40,000  ล้านบาท
รวม (ทุกนโยบาย)   250,000  ล้านบาท    

ที่มา ประมวลจากข้อมูลที่พรรคการเมืองรายงานต่อ กกต.  UPDATE : 2 พ.ค. 66 

ผ่าตัวเลขนโยบาย เลือกตั้ง 66  วิเคราะห์ เรื่องไหนใช้เงินมากสุด TOP 3 แต่ละพรรค
• TDRI มีข้อสังเกตโดยรวม 5 ประการต่อคุณภาพของข้อมูลที่พรรคการเมืองนำเสนอต่อประชาชน ดังต่อไปนี้   

ข้อสังเกตที่ 1  บางพรรคการเมืองได้หาเสียง เลือกตั้ง 2566 โดยใช้นโยบายที่ไม่ปรากฏอยู่ในรายการนโยบายที่รายงานต่อ กกต. ทั้งที่หลายนโยบายก่อให้เกิดภาระทางการเงินสูงมาก จึงเป็นการให้ข้อมูลต่อประชาชนไม่ครบถ้วนอย่างมีนัยสำคัญ   

ข้อสังเกตที่ 2 หลายพรรคการเมืองอ้างที่มาแหล่งของเงินว่ามาจากการจัดสรรงบประมาณที่มีอยู่ในปัจจุบันใหม่ โดยไม่ให้รายละเอียดว่าจะตัดลดส่วนใดและจะมีโอกาสได้เม็ดเงินจากการตัดลดมาใช้ในการดำเนินนโยบายที่เสนอมากเพียงใด ทำให้ประชาชนไม่เห็นผลกระทบอย่างครบถ้วน กล่าวคือเห็นแต่สิ่งที่จะได้รับแต่ไม่เห็นสิ่งที่ต้องสูญเสียไป เช่นเดียวกันกับที่บางพรรคการเมืองระบุว่าจะมีรายได้มาจากภาษีเพิ่มขึ้น ก็ไม่ได้ระบุว่าจะมาจากภาษีใด จัดเก็บจากกลุ่มเป้าหมายใด และจะมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับรายได้ตามเป้าหมายเพียงใด

ข้อสังเกตที่ 3  ทุกพรรคการเมืองระบุแหล่งที่มาของเงินรายนโยบายโดยไม่ได้แสดงภาพรวม ซึ่งทำให้ไม่เห็นภาพรวมของความพอเพียงของแหล่งเงิน โดยบางพรรคอาจระบุแหล่งที่มาของเงินที่ใช้ในแต่ละนโยบายในลักษณะนับซ้ำ ทำให้เข้าใจผิดว่ามีเงินเพียงพอในการดำเนินนโยบาย ปัญหานี้ส่วนหนึ่งเกิดจาก กกต. กำหนดแบบฟอร์มให้พรรคการเมืองระบุแหล่งที่มาของเงินตามแต่ละนโยบาย โดยไม่ได้กำหนดให้นำเสนอภาพรวมด้วย

ข้อสังเกตที่ 4 บางพรรคการเมืองระบุว่าจะใช้เงินนอกงบประมาณ เช่น เงินกองทุนต่างๆ หรืองดการเก็บภาษี เสมือนว่าเงินนอกงบประมาณหรือการงดการเก็บภาษีนั้นไม่ได้สร้างภาระทางการคลัง เช่นเดียวกันกับการใช้เงินของรัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงินของภาครัฐ ซึ่งจะก่อให้เกิดภาระทางการคลังเมื่อหน่วยงานเหล่านี้ประสบปัญหา   

ข้อสังเกตที่ 5  พรรคการเมืองส่วนใหญ่ระบุประโยชน์ของนโยบาย  แต่ในส่วนของผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบายกลับระบุไว้ค่อนข้างน้อยหรือไม่ระบุเลย เช่น หลายพรรคระบุว่านโยบายของตนไม่มีความเสี่ยงเลย ทั้งที่ต้องใช้เงินมาก ต้องแก้ไขกฎหมายและมีรายละเอียดในทางปฏิบัติมาก และหลายพรรคก็ไม่ระบุกลุ่มผู้รับประโยชน์ที่ชัดเจน นอกจากนี้ แทบไม่มีพรรคใดวิเคราะห์ความคุ้มค่าของนโยบายที่เสนอว่าดีกว่านโยบายทางเลือกอื่นๆ โดยเฉพาะนโยบายที่ใช้ในปัจจุบันอย่างไร  


2. ข้อสังเกตต่อเอกสารของแต่ละพรรคการเมือง 

พรรคภูมิใจไทย – รายงานนโยบายไม่ครบ

TDRI ตั้งข้อสังเกตว่า พรรคภูมิใจไทยระบุว่าจะต้องใช้เงินถึง 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดในบรรดา 6 พรรคใหญ่ แม้ส่วนใหญ่จะเป็นเงินสำหรับลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ซึ่งบางส่วนน่าจะเป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) นอกจากนี้พรรคภูมิใจไทยยังใช้ “เงินนอกงบประมาณ” ในระดับที่สูงถึงปีละ 7 แสนล้านบาทจากนโยบาย “เงินกู้ฉุกเฉิน 50,000 บาท” แก่ประชาชน โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์และไม่ต้องค้ำประกัน ซึ่งทางปฏิบัติน่าจะต้องใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 

พรรคเพื่อไทย – มองการขยายตัวเศรษฐกิจดีเกินจริง

TDRI  วิเคราะห์ ว่า พรรคเพื่อไทยนำเสนอนโยบาย 70 นโยบาย โดยระบุว่าจะต้องใช้เงินเพิ่มเติมอีก 1.8 ล้านล้านบาท ทั้งนี้นโยบายที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ การแจกเงินดิจิทัลให้ประชาชนคนละ 1 หมื่นบาท ซึ่งจะใช้เงิน 5.6 แสนล้านบาท โดยระบุที่มาของเงินจาก 4 แหล่ง ได้แก่ (1)รายรับจากภาษีของรัฐบาลในปี 2567 ซึ่งประมาณการว่าจะเพิ่มขึ้น 2.6 แสนล้านบาท (2) การจัดเก็บภาษีที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 1 แสนล้านบาท (3) การบริหารจัดการงบประมาณ 1.1 แสนล้านบาท และ (4) การบริหารงบประมาณสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 9 หมื่นล้านบาท 

การใช้แหล่งเงิน (1), (3) และ (4) จะมีผลกระทบต่องบค่าใช้จ่ายอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ต้องปรับลดงบลงทุน หรือการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยจากภาระหนี้สาธารณะในปัจจุบัน


พรรครวมไทยสร้างชาติ – ระบุต้นทุนการเงินต่ำกว่าจริง

TDRI ตั้งข้อสังเกตว่า พรรครวมไทยสร้างชาติเป็นพรรคการเมืองที่ระบุวงเงินที่จะใช้ในการดำเนินนโยบายต่ำที่สุดใน 6 พรรคการเมืองใหญ่ อย่างไรก็ตามพรรคน่าจะระบุต้นทุนทางการเงินของนโยบายต่างๆ ต่ำเกินไปมาก เช่น ระบุว่านโยบาย “เพิ่มสิทธิบัตรสวัสดิการพลัสเป็น 1,000 บาทต่อเดือน” จะใช้เงินเพียง 7.1 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งที่หากจะให้ผู้ที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.6 ล้านคน (ตัวเลขในปี 2565) คนละ 1 พันบาทต่อเดือน จะต้องใช้เงินทั้งสิ้น 1.75 แสนล้านบาทต่อปี 

อ่านข้อสังเกต และ บทวิเคราะห์ฉบับเต็มของ TDRI 

related