SPRiNG ชวนส่องเป้าหมายของพรรคการเมือง ในการเลือกตั้ง 2566 ว่ามียุทธศาสตร์และความต้องการอย่างไร เพราะคำว่า ชัยชนะ ในความหมายของแต่ละพรรคนั้น ไม่เท่ากัน
SPRiNG ชวนส่องเป้าหมายของพรรคการเมือง ในการเลือกตั้ง 2566 ว่ามียุทธศาสตร์และความต้องการอย่างไร เพราะคำว่า ชัยชนะ ในความหมายของแต่ละพรรคนั้น ไม่เท่ากัน
“การเลือกตั้ง” ในบริบทของไทยการ “ได้ ส.ส. มากที่สุด” ไม่ได้หมายความว่าจะ “ชนะ” หรือ “จัดตั้งรัฐบาลได้เสมอไป” อีกแล้ว
สำหรับการเลือกตั้ง 2566 สิ่งที่เป็นไฮไลต์ จึงไม่ใช่ “พรรคใดได้ ส.ส. มากที่สุด” แต่คือพรรคใดจะรวบรวมคะแนนเสียงทั้งในส่วนของ ส.ส. และ ส.ว. ได้มากที่สุดในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีต่างหาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• พรรคเพื่อไทย
ชัยชนะในการเลือกตั้ง 2566 : แลนด์สไลด์ และได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
ไม่ว่าจะเป็นโพลล์ สำนักไหนๆ ต่างก็ประเมินว่า พรรคเพื่อไทย จะได้ ส.ส. มากที่สุดในการเลือกตั้ง 2566 แต่ดูเหมือนว่าการ ได้ ส.ส. มากที่สุด กับการได้จัดตั้งรัฐบาลเป็นคนละเรื่อง คนละประเด็นกัน โดยในการเลือกตั้ง 2566 “พรรคเพื่อไทย” ยังคงเสียเปรียบเรื่อง ส.ว. ที่ยังมีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ แต่ก็หวังว่า ถ้าสามารถได้ ส.ส. อย่างถล่มทลาย ก็จะสร้างความชอบธรรมกดดัน ไม่ให้ ส.ว. เลือกแคนดิเดตนายกฯ ที่ส่อไปทางสวนมติแห่งมหาชน ดังนั้นแล้วเป้าหมายที่ "พรรคเพื่อไทย" วางไว้ก็คือ ต้อง “แลนด์สไลด์” เท่านั้น ล่าสุดได้มีการขยับเป้าขึ้นเป็น 310 เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ
.
• พรรคพลังประชารัฐ
ชัยชนะในการเลือกตั้ง 2566 : ได้ ส.ส. มากกว่า “รวมไทยสร้างชาติ” และ “ลุงป้อม” เป็นนายกฯ
ในการเลือกตั้ง 2566 “พรรคพลังประชารัฐ” จากทิศทางลมแล้ว ดูเหมือนว่าพรรคจะลดสเกลลงจากพรรคขนาดใหญ่ กลายเป็นพรรคขนาดกลาง โดยคาดว่าพปชร. จะได้ ส.ส. ประมาณ 40 คน (+ -) แต่ด้วยแต้มต่อ ที่รู้ๆ กันว่า มี ส.ว. จำนวนหนึ่งพร้อมให้การสนับสนุน ทำให้ชื่อของ “ลุงป้อม” พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น 1 ใน “ตัวเต็ง” ที่มีโอกาสเป็นนายกฯ คนต่อไป โดย “บิ๊กป้อม”พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ใช้ยุทธวิธีที่ยืดหยุ่น ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่า พร้อมร่วมรัฐบาลกับทั้ง 2 ขั้ว ซึ่งในกรณีนี้หาก “พลังประชารัฐ” ได้ ส.ส. มากกว่า “รวมไทยสร้างชาติ” ก็จะกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่ทำให้ “ลุงป้อม” สามารถต่อรองตำแหน่งนายกฯ ได้อีกเช่นกัน หากทาง “รวมไทยสร้างชาติ” ต้องการเป็นรัฐบาล
• พรรครวมไทยสร้างชาติ
ชัยชนะในการเลือกตั้ง 2566 : ได้ ส.ส. มากกว่า “พลังประชารัฐ” และ พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกฯ
แม้จะเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ จะเป็นพรรคที่เพิ่งแจ้งเกิดมาใหม่ๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญมุมมองการเมืองหลายคนก็เห็นพ้องต้องกันว่า ประมาทไม่ได้เด็ดขาด เพราะต้องยอมรับว่า ชื่อของ “บิ๊กตู่” ยังขายได้ในกลุ่มอนุรักษ์นิยม ฝั่งขวา ซึ่งเมื่อประกาศตัวเป็นหัวขบวน ขอยืนอยู่คนละข้างกับ “พรรคเพื่อไทย” ทำให้ได้ใจ “พลพรรคฝ่ายขวา” เป็นอย่างมาก คร่าวๆ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” น่าจะได้ ส.ส. 35 – 40 คน ซึ่งใกล้เคียงกับ “พรรคพลังประชารัฐ” แต่ก็มีความได้เปรียบตรงมีเสียง ส.ว. จำนวนหนึ่ง ที่คาดว่าน่าจะมากกว่า “บิ๊กป้อม” แต่ถ้าทั้ง 2 ป. ประยุทธ์-ประวิตร ผลึกกำลังกัน ก็จะได้เสียง ส.ว. หนุนจำนวนมาก
• พรรคก้าวไกล
ชัยชนะในการเลือกตั้ง 2566 : ได้ร่วมรัฐบาลกับพรรคฝั่งประชาธิปไตย
สำหรับ พรรคก้าวไกล ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วที่ว่าเซอร์ไพรส์มากกับการได้ ส.ส. ในยุคของอนาคตใหม่ถึง 81 ที่นั่ง แต่ในการเลือกตั้ง 2566 ครั้งนี้ ประชาชนอาจจะเลือกด้วย กลยุทธ สำหรับฝั่งที่เป็นขั้วประชาธิปไตย แล้วเทไปให้เพื่อไทย สมมติว่า “พรรคเพื่อไทย” ได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะมี “พรรคก้าวไกล” ร่วมด้วยเสมอไป อันเนื่องมาจาก “พรรคก้าวไกล” ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า ไม่ขอร่วมรัฐบาลกับพรรคที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร ไม่ขอร่วมงานกับ 3 ป. ไม่ว่าจะ ป.ใดก็ตาม อย่างเด็ดขาด ดังนั้น ติต่างว่า “พรรคเพื่อไทย” มีความจำเป็นต้องกอดคอ ร่วมหัวจมท้าย กับ “พลังประชารัฐ” เพื่อจัดตั้งรัฐบาล “พรรคก้าวไกล” ก็ต้องกลายเป็น “ฝ่ายค้าน” ไปโดยปริยาย ตามสัญญาที่ได้ให้ไว้กับประชาชน
• พรรคประชาธิปัตย์
ชัยชนะในการเลือกตั้ง 2566 : ได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่าเลือกตั้งปี 2562 และเป็นรัฐบาล
หากไม่โกหกตัวเองจนเกินไป การเลือกตั้ง 2562 หรือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. ต่ำกว่ามาตรฐานกว่าผลงานในอดีต แต่ไม่ว่าจะการเลือกตั้งครั้งไหนๆ ประชาธิปัตย์ก็เป็นอีกหนึ่งพรรคที่วางยุทธศาสตร์ไว้อย่างชัดเจน ว่าต้องเป็น “รัฐบาล” เท่านั้น และตั้งเป้าแบบไม่กดดันตัวเองนัก ตัวเลข 52 ส.ส. จากครั้งที่แล้ว คือเส้นที่ต้องข้ามไปให้ได้ และหากเป็นไปได้ตามเป้า ก็คาดว่า ประชาธิปัตย์ จะกลายเป็น ตัวแปร ที่แม้จะได้ ส.ส. ไม่มากนัก แต่ก็มี "มากพอ" และมีอำนาจในมือใน การต่อรอง สามารถเลือก “เก้าอี้รัฐมนตรี” ที่ต้องการได้อยู่
• พรรคเสรีรวมไทย
ชัยชนะในการเลือกตั้ง 2566 : ได้ร่วมรัฐบาล โดยไม่มี “รวมไทยสร้างชาติ”
“พรรคเสรีรวมไทย” ของ 'วีรบุรุษนาแก' พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ก็เป็นอีกพรรคหนึ่งที่ประกาศอย่างชัดเจน ไม่ขอร่วมรัฐบาลกับพลเอกประยุทธ์ แต่สามารถร่วมงานกับ “ลุงป้อม” พลเอก ประวิตร ได้ นั่นหมายความว่า หากพรรคเพื่อไทย ทำเป้าหมายแลนด์สไลด์ไม่ได้ แล้วเกิดมีความจำเป็นต้องหันหน้ามาคุยกับ “พรรคพลังประชารัฐ” ไม่ว่าจะเป็น “บิ๊กป้อม” หรือ “แคนดิเดตฯ เพื่อไทย” เป็นนายกฯ ฝั่ง “พรรคเสรีรวมไทย” ก็มีโอกาสได้ร่วมรัฐบาล จึงมีแนวโน้มสูงว่า หากหลังเลือกตั้ง “พรรคเพื่อไทย” เป็นรัฐบาล “พรรคเสรีรวมไทย” ก็จะได้เข้าร่วมด้วยอย่างแน่นอน
• พรรคภูมิใจไทย
ชัยชนะในการเลือกตั้ง 2566 : ได้ร่วมรัฐบาล แบบมีอำนาจต่อรอง
ในการเลือกตั้ง 2566 คาดกันว่า “พรรคภูมิใจไทย” จะได้ ส.ส. มากเป็นอันดับ 2 รองจาก “พรรคเพื่อไทย” เพราะพรรคเติบโตขึ้นมา ตัวเลขกลมๆ น่าจะอยู่ที่ 80 ที่นั่ง จากเดิมที่ครั้งที่แล้ว มี 51 ที่นั่ง อย่างไรก็ตาม ภูมิใจไทย ก็เลือกเดินแต้ม แบบว่า ไม่แข่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล กับใคร เน้นชัวร์ไว้ก่อน ขอให้ได้เป็นรัฐบาลแน่ๆ ไม่ว่าจะอยู่กับขั้วใดก็ได้หมด