เปิด 16 สถานที่ กรุงเทพฯ ใช้ปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งได้ ในการเลือกตั้ง 2566 แตกต่างจากเลือกตั้งผู้ว่ากทม. 65 จุดไหนบ้าง ?
กรุงเทพมหานคร เพิ่งจะ กำหนด 16 พื้นที่ปราศรัยหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. กทม. ในการเลือกตั้ง 2566 ต้องยื่นขออนุญาตใช้สถานที่ล่วงหน้า 3 วัน หากเกิดความเสียหายในการใช้สถานที่ ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด
โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือ "ผู้ว่าที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี" ได้ลงนามออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องกำหนดสถานที่สำหรับการปราศรัยหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่า ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งทั่วไปได้กำหนดให้ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐให้การสนับสนุน สถานที่เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งทั่วไป กรุงเทพมหานคร จึงกำหนดสถานที่สำหรับการปราศรัยหาเสียงเลือกตั้ง ของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง กรุงเทพมหานคร และพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 16 แห่ง ดังนี้
.
1.ลานคนเมือง เขตพระนคร
2. สวนจตุจักร เขตจตุจักร
3. สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เขตจตุจักร
4. อุทยานเบญจสิริ เขตคลองเตย
5. สวนลุมพินี เขตปทุมวัน
6. สวนเสรีไทย เขตบึงกุ่ม
7. สวนพระนคร เขตลาดกระบัง
8. สวนพัฒนาภิรมย์ เขตประเวศ
9.สวนกีฬารามอินทรา เขตบางเขน
10. สวนสาธารณะหน้าเดอะ มอลล์ บางแค เขตบางแค
11. บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (วงเวียนใหญ่) เขตธนบุรี
12. สวนสาธารณะใต้สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด
13. สวนหลวงพระราม 8 เขตบางพลัด
14. ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ
15. ศูนย์ฝึกกีฬาบางกอกอารีน่า เขตหนองจอก
16. สถานที่แห่งอื่นๆ ตามที่หัวหน้าหน่วยงานผู้ซึ่งดูแลรับผิดชอบสถานที่พิจารณาเห็นสมควร
จุดปราศรัย เลือกตั้ง 2566 แตกต่างจากเลือกตั้งผู้ว่ากทม. 65 จุดไหนบ้าง ?
หากย้อนเข็มนาฬิกาไปในสมัยการเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ปี 2565 เมื่อปีที่แล้วนั้น กรุงเทพมหานคร กำหนดสถานที่สำหรับให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ใช้ในการปราศรัยหาเสียงเลือกตั้ง จำนวน 15 แห่ง และมีจุดที่แตกต่างจากจากเลือกตั้ง 2566 อยู่เล็กน้อย
โดย ในการเลือกตั้ง ผู้ว่า กทม. 2565 ดังนี้
1.ลานคนเมือง เขตพระนคร 2.สวนจตุจักร เขตจตุจักร 3.สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เขตจตุจักร 4.สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เขตจตุจักร 5.สวนลุมพินี เขตปทุมวัน 6.อุทยานเบญจสิริ เขตคลองเตย 7.บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เขตธนบุรี 8.สวนสาธารณะใต้สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด 9.ศูนย์เยาวชนสะพานพระราม 9 (ฝั่งธนบุรี) เขตราษฎร์บูรณะ 10.สวนกีฬารามอินทรา เขตบางเขน 11.สวนเสรีไทย เขตบึงกุ่ม 12.สวนพระนคร เขตลาดกระบัง 13.สวนสุขภาพ เขตประเวศ 14.ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ 15.สวนสาธารณะหน้าเดอะมอลล์บางแค เขตบางแค
โดย ในหลักเกณฑ์ เลือกตั้ง 2566 นั้น กรุงเทพมหานครได้ตั้งหลักเกณฑ์ในการขอใช้สถานที่เพื่อเป็นเวทีปราศรัย ว่าจะต้องเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต หรือพรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัคร ให้ยื่นคำร้องต่อหัวหน้าหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบสถานที่นั้นๆ ในวัน และเวลาราชการโดยต้องยื่นคำร้องล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วัน และผู้ยื่นคำร้องขอใช้สถานที่จะต้องจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ และเวทีในการปราศรัยหาเสียงมาเอง ซึ่งกรุงเทพมหานคร จะอำนวยความสะดวกในเรื่องของสถานที่ และหากเกิดความเสียหายในการใช้สถานที่จัดเวทีปราศรัยหาเสียงจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดส่วนหลักเกณฑ์อื่นๆ ให้เป็นไปตามที่หน่วยงานผู้ดูแลรับผิดชอบสถานที่กำหนด โดยให้มีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป